วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

คน"บางระกำ"รุมยำ"บางระกำโมเดล" แก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือ!?


พิษณุโลก...รายงาน

“ลำยอง นาทีทองพิทักษ์” นามเดิมของ ”หลวงปู่แขก” วัดสุนทรประดิษฐ์ ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก บุตรนายเฮง กับนางพัน อาชีพทำนา มีพี่น้องรวม 7 คน อายุ 88 ปี 70 พรรษา หรือเกิด 19 กันยายน พ.ศ.2467 ณ บ้านกรุงกรัก ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก

หลวงปู่แขก นับว่าเป็นพระที่คนพิษณุโลกให้ความเคารพ มีสานุศิษย์มาก แถมมีชื่อเสียงมากทางด้านปลุกเสกวัตถุมงคล สร้างวัตถุเลื่องชื่อในถิ่น อ.บางระกำ หากถามว่า “บางระกำโมเดล” นั้นท่านทราบดี

ท่านเล่าให้ฟังว่า "อาตมาเป็นชาว อ.บางระกำ โดยกำเนิด เกิดที่นี่เติบโตอยู่นี้ เห็นสภาพปัญหาของพื้นที่อำเภอบางระกำ เป็นอย่างดี มองในเรื่องของน้ำท่วม ในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก ในอดีตน้ำท่วมร้ายกาจกว่าปัจจุบันมาก ลำบากไม่มีใครช่วยเหลือแบบในสมัยนี้ ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเอง ทั้งหมด ตั้งแต่การหนุนบ้าน ขนข้าวของหนีน้ำ วัวควาย ทุกปีน้ำต้องท่วมชาวบ้านรู้เตรียมตัวรับมือไว้ตลอด"
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม “บางระกำ โมเดล” ตามแนวคิดนายกรัฐมนตรีนั้น หลวงปู่แขก บอกว่า ไม่รู้ว่าแนวคิดของท่านเป็นอย่างไร จุดอ่อนจุดแข็งของบางระกำ คืออะไร อันดับแรกต้องรู้ก่อนว่าบางระกำ เรามีคลองเล็กคลองน้อยมากมายที่เชื่อมโยงถึงกันหมดทั้งในพื้นที่ จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และ จ.กำแพงเพชร ควรทำแม่น้ำเทียม จาก อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ถึง อ.โพธิ์ทะเล จ.พิจิตร จากนั้นให้ขุดคลองที่มีอยู่เดิมประมาณ 10 คลอง อาทิ คลองปากพระ คลองพระพาย คลองกรุงกรัก คลองยันต์พันคลอง คลองสามง่าม แต่ละคลองให้ขุดมาเชื่อมกับแม่น้ำเทียม เพื่อใช้เป็นคลองที่สามารถระบายน้ำไปยัง จาก จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้น

ขุดใหม่ให้มีขนาดความลึก 6 เมตร กว้าง 20 เมตร พร้อมทำประตูเปิดปิดให้สามารถเก็บไว้ในคลองได้จำนวนมาก เพราะระยะทางต่อคลองยาวไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร จะทำให้เรามีน้ำกักเก็บไว้จำนวนมาก โดยไม่จำเป็นต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้น มองดูแล้วมีความเป็นไปได้ใช้งบประมาณดำเนินการไม่กี่ร้อยล้านบาทแต่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ดีกว่า“บางระกำ โมเดล”ชื่อที่ดูดี แต่แก้ไขปัญหาไม่ได้"

ชื่อ "บางระกำ" นั้น หลวงปู่แขก เล่าว่า เดิมที่ตั้งอำเภออยู่ที่ชุมแสงสงคราม ส่วน อ.บางระกำ ในปัจจุบันนั้นสมัยก่อนเป็นชุมชนเล็กๆ ชาวบ้านในอดีตตั้งชุมชนอยู่บริเวณปากคลองบางแก้ว ที่มาบรรจบกับแม่น้ำยม เป็นชุมชนเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ บุกเบิกพัฒนามาเป็นที่ตั้งอำเภอในปัจจุบัน

ที่มาของชื่อ "อ.บางระกำ" ก็มาจากที่มาของทางไปจังหวัดไป อ.บางระกำ มันลำบาก ลุยน้ำ ลุยโคลน ลุยป่า สมัยก่อนมีต้นระกำ เห็ดระกำเต็มไปหมด ไม่ใช่ เวรกรรม ทุกข์ระกำ ลำบาก ต้นระกำเป็นไม้พุ่ม หนาม ต้นใหญ่ สมัยก่อนมีมาก นำมาทำฟืนทำถ่าน ยังพอเห็นบ้าง ที่หน้าที่ว่าการอำเภอ

"อ.บางระกำ สมัยก่อนลำบากมาก ไม่มีถนนหนทาง ปี 2503 มีนายอำเภอบางระกำ มาปรึกษา อยากจะทำถนนหนทาง จะเกณฑ์คนก็ลำบาก ทำถนนก็ลำบาก บางระกำมีแต่ดินเหนียว ไม่มีดินลูกรัง ทำถนนไปน้ำมาก็พัง สุดท้ายบอกนายอำเภอว่า ลองเช็คบัญชีในอำเภอว่ามีกี่หลังคาเรือน
เมื่อนายอำเภอเช็คมาแน่นอนแล้ว ก็บอกนายอำเภอ ไปว่า ได้แล้ว ได้รถมาทำถนนแล้ว 5,000 หลังคาเรือน แบ่งคน 3 ประเภท มั่งมี ปานกลาง ยากจน เราเอาแค่สองกลุ่ม คนมั่งมีกับคนปานกลาง ขอหลังคาเรือนละ 300 บาท แต่ก่อนจะเอาเงินเขาต้องไปพุดทุกหมู่บ้านให้เข้าใจ เกิดศรัทธา ให้เห็นประโยชน์ของการเสียสละที่จะได้ถนนหนทาง ทำทางให้เป็นทาน สร้างอนาคตให้รุ่นเหลน หลาน เขาก็เห็นดีบริจาคกันครัวเรือนละ 300 บาท สมัยนั้นข้าวเกวียนละ 600 บาท ก็ผ่อนบ้าง ผลสุดท้ายได้เงินล้านกว่าบาท

จนได้เงินมาซื้อรถแทรคเตอร์แคตเตอร์ราคา 7 แสนกว่า ซื้อรถลำเลียง รถตรวจการณืยังมีเงินเหลือฝากธนาคารนิดหน่อย เริ่มทำถนน 4 สายหลักก่อน อ.บางระกำ ไป ต.ชุมแสงสงคราม ไป ต.หนองกุลา ไป ต.ปลักแรต ไป ต.วังอิทก ทำ 4 สายหลักก่อนแล้วถึงจะทำสายซอยทีหลัง มีรถแทรกเตอร์ก็ทำได้ สุดท้ายก็ทำได้และมาได้พัฒนาถนนช่วงนโยบายเงินปรันคึกฤทธิ์ ปราโมท ก็พัฒนาเป็นถนนลูกรัง และก็พัฒนามาเป็นถนนลาดยางในปัจจุบัน"

นายสมชาย วงศ์ศิริ ผู้อำนวยการส่วนสำนักชลประทานที่ 3 พิษณุโลก เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำจากลุ่มในยมในปีนี้มีมากถึง 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกับปีที่ผ่านมา 1,800-1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนลุ่มน้ำน่านปีนี้ฝนตกมากเช่นกันรวมแล้ 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับตลอดทั้งปี 53 มีจำนวน 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ดังนั้น ต้องยอมรับว่า น้ำปีนี้มากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา น้ำท่วมผลจากแม่น้ำยม จากที่เป็นแม่น้ำที่ไม่มีเขื่อนกั้น เมื่อเทียบกับแม่น้ำน่าน ซึ่งมีทั้งเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และยังมีประตูน้ำที่กักกั้นให้เจ้าหน้าที่ชลประทานบริหารน้ำได้อย่างเขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ปรากฏการณ์น้ำยมล้นตลิ่งพบเห็นได้โดยเฉพาะตัวเมืองสุโขทัย ซึ่งมวลน้ำเกือบทั้งหมดต้องไหลสู่ที่ต่ำ คือ อ.บางระกำ

ต้นน้ำยมเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักบริเวณเทือกเขาจังหวัดแพร่ กระทั่งถึงประตูหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย จากนั้นแบ่งระบายน้ำไปสู่คลองเมมหรือ แม่น้ำยมสายเก่า ผลให้น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่บ้านท่าช้าง บ้านคลองเมม อ.พรหมพิราม พิษณุโลก ไหลท่วมทุ่งเขต ต.บ้านกร่าง ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ ระดับน้ำสะสมทุ่งวงกว้างอย่างน้อย 2 เมตรขึ้นไป

ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 3 ส.ค.54 นายวีระ วงศ์แสงนาครอง อธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทานเดินทางมารับฟังสถานการณ์น้ำเหนือจากนายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก ได้รับทราบสถานการณ์น้ำยมล้นตลิ่ง และยืนยันว่า น้ำท่วมขังยาวนานถึงเดือนธันวาคม เพราะการระบายน้ำออกจากบางระกำ ทำได้ยากลำบาก
ทั้งนี้ แนวทางแก้ไขปัญหาของลำน้ำยมเดิม คือ การระบายน้ำไปยังแม่น้ำน่าน ด้วย ”คลองหกบาท” จาก จ.สุโขทัย ไป จ.พิษณุโลก แต่วันนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะระดับน้ำในแม่น้ำน่านสูงเกินไป แถมยังมีน้ำเหนือในจังหวัดน่านและอุตรดิตถ์สมทบอยู่ต่อเนื่อง ทำให้การจัดการลุ่มน้ำยมหมดหนทาง ที่ผ่านมากรมชลประทานเคยผันน้ำบางระกำออกไปพิจิตร ด้วยคลอง D.R.15.8 หรือ DR 2.8 แต่วันนี้สถานการณ์ไม่ปกติ น้ำน่านมากเกินไป ผลให้บางระกำปีนี้กลับมีปัญหา

แต่การทำแกล้มลิงกักเก็บน้ำนั้น ยืนยันแล้วว่า ช่วยได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำที่ท่วมจริง ”ทะเลหลวง” อ่างเก็บน้ำเลี่ยงเมืองสุโขทัยว่า รับน้ำได้เล็กน้อย น้ำยมต้องท่วมเมืองสุโขทัย เพาะทะเลหลวงรับน้ำได้เพียง 13-15 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะที่หลายคนมองว่า “บางระกำโมเดล” คือ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ ไขปัญหาน้ำท่วม ลักษณะ “วอร์รูม” ตั้งคณะทำงานระดั บอำเภอ เพิ่มแค่เครื่องมือสื่อสาร ระบบ ICT เน้นเยียวยาราษฎรผู้ ประสบภัย อาจเรียกว่า ”บางระกำโมเดล” ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะการทำงานไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่ ใช้คำว่า“บางระกำโมเดล”มีคำว่า เซ็นเตอร์สั่งการ

นายมนัส ทับแผลง กำนันตำบลชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แกนนำผู้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เปิดเผยว่า ตนเครียดมากกับปัญหาน้ำท่วมอ.บางระกำในปีนี้ เครียดและคิดแทนพี่น้องเกษตรกรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมนาข้าวอย่างมาก และยังไม่มีทางแก้เรื่องหนี้สิน ความเป็นอยู่ จนตนเส้นเลือดในสมองตีบ และเป็นอัมพาตไปครึ่งซีก ไม่สามารถเดินได้มา 2 อาทิตย์แล้ว

การขับเคลื่อน "บางระกำโมเดล" ในขณะนี้ว่า เห็นแนวทางที่จังหวัดและอำเภอบางระกำ กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งแก้มลิงกักเก็บน้ำ ทางด่วนน้ำหรือ water way ตามแนวคิดผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกแล้ว คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ถ้าหากไม่ดำเนินการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างแก่งเสือเต้น เพื่อชะลอและควบคุมน้ำ เพราะแต่ละปีแม่น้ำยมมาปริมาณมาก แก้มลิงบางระกำคงเก็บน้ำได้ไม่เท่าไหร่ ขนาด จ.สุโขทัย มีแก้มลิงทะเลหลวงขนาดใหญ่มาก ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย ทางด่วนน้ำผันยมลงน่านก็จะทำได้หรือในสถานการณ์อย่างนี้ที่แม่น้ำน่านระดับสูงมาก
ต้องมีอ่างเก็บน้ำตอนบนของแม่น้ำยมด้วย บางระกำโมเดลจึงจะขับเคลื่อนได้ ยังพอช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ และจะมาแก้ปัญหาน้ำท่วมเฉพาะบางระกำที่เดียวไม่ได้ ถ้าแก้บางระกำน้ำไม่ท่วม แล้วเกิดปัญหาที่ จ.สุโขทัย แพร่ พิจิตร บางระกำโมเดลก็ล้มเหลว

นายสมควร รุ่งเรือง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 บ้านวังขี้เหล็ก ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักจากแม่น้ำยมสายเก่า เปิดเผยว่า แก้ปัญหาน้ำท่วม ต้องรอดูสิ่งที่ภาครัฐจะทำ ผู้ว่าจะทำทางด่วนน้ำ ผันน้ำยมลงแม่น้ำน่าน ตนมองว่าปีหน้าหรือปีต่อไปพวกตนก็ต้องได้รับผลกระทบอีก เพราะการระบายน้ำจากแม่น้ำยมที่อ.สวรรคโลก มาลงแม่น้ำยมสายเก่า น้ำก็จะบ่าท่วมทุ่งอีก สิ่งที่ชาวอ.พรหมพิรามอยากได้คือ ต้องทำคันดินยกสูงกั้นแม่น้ำยมสายเก่าด้วยและต้องทำคันดินเครือข่ายแม่น้ำยมให้ครอบคลุมทุกจังหวัด สุโขทัย พิษณุโลก มิฉะนั้นน้ำก็จะไหลย้อมกลับมาท่วมอีก

อยากให้ "บางระกำโมเดล" พิจารณาแนวคิดชดเชยการไม่ปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 มาใช้ในพื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำยม ในเขต อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมือง ข้าวนาปรังรอบสอง ที่ปลูกระหว่างเดือนเมษายน-เก็บเกี่ยวช่วงกรกฏกาคม-ต้นสิงหาคม ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมไม่ต้องลงมือปลูก

ส่วนนี้อยากให้ภาครัฐพิจารณาเงินชดเชยการไม่ปลูกข้าวไปเลย ไม่ต้องเสี่ยงกับลุงทุนแล้วน้ำท่วม มีข้อมูลอยู่แล้วว่าพื้นที่ไหนน้ำท่วมบ้าง ในระหว่างน้ำท่วม ให้ประชาชนทำอาชีพอื่นทำเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชน้ำ หาปลา ทำปลาร้า น้ำปลา และเมื่อน้ำลดลงช่วงปีใหม่ก็ทำนาปรังเพียงรอบเดียว

การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นั้น ตนมองว่า ถ้าเขื่อนแก่งเสือเต้นสร้างได้ก็ควรสร้างและควรสร้างเขื่อนด้านล่าง จ.แพร่ด้วย เป็นการบล็อกสองชั้น ปีนี้น้ำตกท้ายจังหวัดแพร่มากและสร้างผลกระทบกับสุโขทัยพิษณุโลกอย่างมากเช่นกัน

นายสาคร สงมา เครือข่ายองค์กรฟื้นฟูชาวบ้านภาคเหนือตอนล่าง เอ็นจีโอที่ดำเนินกิจกรรมในจังหวัดพิษณุโลกมานาน มองว่า บางระกำโมเดล ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เป็นความร่วมมือที่ทุกคนใส่ใจ แต่การแก้ไขปัญหาที่เดียวคงไม่เพียงพอ การแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งในลุ่มน้ำยมต้องทำทั้งระบบ ให้ครอบคุลมทุกจังหวัดในลุ่มน้ำยม บทเรียนที่ผ่านมาปีนี้เห็นได้ชัดคือ การแก้ปัญหาไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองสุโขทัย ด้วยการผันน้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยมสายเก่า สร้างผลกระทบต่อเกษตรกร อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เรื่อยลงมาถึงอ.พหรพมิราม อ.เมือง และอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก

นายสาคร เผยต่อว่า การทำบางระกำโมเดล ต้องคิดให้ละเอียดมากกว่านี้ เช่น ถนนที่ขวางทางน้ำจะจัดการอย่างไร การจะพัฒนาบึงตะเคร็ง บึงหล่ม บึงระมาน ต้องออกแบบพื้นที่ให้ไม่กระทบกับคนที่ไปจับจองทำกิน คลองบางแก้ว คลองสาขา จะต้องออกแบบการขุดลอก รวมถึงแนวคิดทางด่วนน้ำของผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ก็ต้องพิจารณาถึงผลกระทบในภาพรวม

สำหรับเขื่อนแก่งเสือเต้น ขอให้เลิกคิดได้เลย ผลกระทบมีมาก ตนมองว่าแม่น้ำยมตอนบน ควรแก้ปัญหาด้วยการเร่งพื้นที่ป่า ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ส่วนแม่น้ำยมตอนล่างควรแก้ปัญหาด้วยการบริหารจัดการน้ำ

“ในระยาวอย่ามองแต่เรื่องการก่อสร้างโครงการต่างๆ เพียงอย่างเดียว ควรมองเรื่องการปรับตัวของประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติ ทำอย่างไรให้คนอยู่ท่ามกลางภัยพิบัติได้ ทั้งที่อยู่อาศัย อาชีพ บางระกำโมเดลวันนี้เริ่มต้นดีแล้วและไม่อยากเห็นตอนสุดท้ายว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้" นายสาคร กล่าว

นายวิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายก อบต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังมาก และเป็นศูนย์กลางของการนำร่องบางระกำโมเดล เปิดเผยว่า บางระกำโมเดลวันนี้ เป็นแนวทางการแก้ปัญหาโดยมีภาครัฐ อำเภอบางระกำ เป็นพระเอก ตนมองว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่อยากเห็น คือ ต้องเปิดใจให้ทุกหน่วยงานเข้ามาบูรณาร่วมกัน และอยากเห็นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะชลประทาน ทางหลวง หรืออื่นๆ เข้าร่วม ให้เห็นว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่หลักจากนี้ปล่อยให้อำเภอบางระกำจัดการหน่วยเดียว ตนเกรงว่าเริ่มต้นแล้วจะหายไป กลายเป็นไฟไหม้ฟาง

นายวิบูลย์ เผยต่อว่า ที่เราอยากเห็นมากที่สุดขณะนี้คือการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ตอนนี้ภาคประชาชนแทบไม่รู้เรื่องเลยว่า บางระกำโมเดลเป็นอย่างไร ภาคประชาชนมองคนละอย่างกับภาครัฐ ทุกคนรู้ว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น ขณะนี้ภาครัฐต้องบริหารความหวังของประชาชน และยังไม่เคยรับรู้เลยว่าประชาชนโมเดล มองอย่างไร จะเป็นเขื่อน คลอง ฝาย ภาครัฐต้องขับเคลื่อนและสนับสนุน โดยยึดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตนเกรงว่า หลังจากนี้อำเภออาจจะมองว่าทำเสร็จแล้ว เริ่มต้นแล้วบางระกำโมเดล แต่หลังจากนี้ไปชาวบ้านมีความคาดหวังสูง มองบางระกำโมเดล เป็นผู้วิเศษ ต่อจากนี้ไปใครจะเป็นผู้บริหารความต้องการของประชาชน

ตำบลบางระกำ ได้ทำประชาคมประชาชนกว่า 4,000 ครัวเรือนมีข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งใน อ.บางระกำ 3 ประการ โดยพาะเมื่อเริ่มต้นบางระกำโมเดลแล้ว ได้แก่

1.ทำอย่างไรต่อไปนี้ น้ำจะท่วม อ.บางระกำ เมื่อถึงเวลาอันควร ประชาชนมีเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน ภาครัฐต้องไปคิดและบริหารจัดการ ช่วงเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม น้ำต้องไม่เต็มทุ่ง

2.ค่าระดับการท่วมต้องไม่ท่วมมโหฬารแบบนี้ แบบน้ำมิดฟ้ามิดแผ่นดิน จะบังคับด้วยวิธี water way หรือ อะไรก็แล้วแต่ และต้องมีการระบายน้ำออกอย่างเหมาะสมในเวลาอันที่ควร เพราะช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ชาวนาจะเริ่มปลูกข้าว ต้องมีน้ำบางส่วนอยู่ในแม่น้ำยม

3.หลังน้ำท่วม คนบางระกำจะเหลืออะไรจากน้ำท่วมก้อนใหญ่จะมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งอย่างไร เรื่องนี้ภาครัฐก็ต้องขับเคลื่อนจะเป็นเหมือง ฝาย หรือแก้มลิง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ภาคประชาชนต้องการจากบางระกำโมเดล และยังคาดหวังว่าบางระกำโมเดลไม่ใช่เริ่มต้นวันนี้แล้วก็จบไป

source:http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000110652

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น