วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

SCG eco value โมเดลต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในยุคปัจจุบันที่โลกเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจต้องหันมาให้การตระหนักในเรื่องดังกล่าว เพราะการดำเนินธุรกิจและตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นแนวทางการพัฒนาองค์กร อย่างยั่งยืน

และอีกหนึ่งกลุ่มบริษัทชั้นนำที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ เอสซีจี (SCG) ก็ได้ดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล และแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่า เพิ่มและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคปัจจุบัน ประกอบด้วย 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจกระดาษ ธุรกิจซีเมนต์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจจัดจำหน่าย

โดยคุณธนศักด์ สาคริกานนท์ ประธานคณะกรรมการ SCG eco value บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ เอสซีจี (SCG) เล่ากับทาง “สยามธุรกิจ” ว่า จากวิสัยทัศน์ของเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ที่ต้องการให้บริษัทเป็นบริษัทชั้นนำที่มุ่งสู่ความเป็นผู้นำในอาเซียน และเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในระดับโลก ดังนั้นเราจะต้องดำเนินธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาลและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่นยืนจะต้องประกอบไปด้วย 3 หลักการคือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

“3 หลักการดังกล่าวที่ถือเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งอย่างเศรษฐกิจ คือเราต้องมองการเติบโตทางด้านผลกำไรเพื่อให้ผลตอบแทนของบริษัทให้ผู้ถือหุ้นและพนักงานของเรา และส่วนที่สอง คือเรื่องของสังคม เราต้องนึกถึงชุมชนรอบๆ ที่เราเข้าไปดำเนินการ และสังคมของพนักงานทั้งภายในและภายนอก และส่วนสุดท้าย คือสิ่งแวดล้อมที่เราต้องดูแลเป็นสำคัญเช่นกัน”

ทั้งนี้ จากความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าให้สังคม เอสซีจีจึงได้ให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคไปพร้อมกับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน จึงได้คิดค้นพัฒนากำหนดฉลากสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมประเภทการรับรองตนเอง ภายใต้ฉลาก SCG eco value ขึ้น ซึ่งถือเป็นองค์กรไทยรายแรกที่ได้ทำเรื่องดังกล่าว

“การทำเรื่อง SCG eco value นั้นเราต้องการทำอะไรให้ลูกค้าทั่วไปสามารถได้รับรู้ว่าสินค้าอะไรของเอสซีจีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอันที่จริงทางเอสซีจีได้ทำสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว แต่ได้รับการรับรองจากฉลากเขียว เท่านั้น แต่การรับรองจากฉลากเขียวมีข้อจำกัดเพราะจะออกไม่ครอบคลุมในทุกหมวดหมู่สินค้าของบริษัท ดังนั้นเราจึงไปศึกษาเครื่องหมายรับรองที่มีอยู่ทั่วโลก สรุปว่ามีอยู่ 3 แบบ คือ แบบฉลากเขียวที่เรารู้จักโดยทั่วไปที่รับรองจากรัฐ และสอง มาตรฐานรับรองโดยที่บริษัทรับรองเอง แต่ต้องเป็นบริษัทที่มีกระบวนการทำออกมาเป็นมาตรฐาน และสาม การรับรองมาตรฐานแบบ LCA คือการประเมินแบบครบวงจรในวัฏจักรในทุกผลิตภัณฑ์”

เขาบอกต่อว่า ที่มาของชื่อ eco value มาจาก คำว่า eco คือ Ecology + Economy หมายถึง ความสมดุลกันของสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และ value หมายถึง คุณค่าที่ผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อมได้รับจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการ ดังนั้น SCG eco value คือ ฉลากรับรองสินค้าหรือบริการที่มีกระบวนการผลิตหรือการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีคุณสมบัติความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าสินค้าทั่วไป แบ่งในการวัดเป็น 2 ประเภท คือ Eco Process คือ สินค้าหรือบริการที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ Eco Use คือ สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อนำไปใช้

ทั้งนี้ มาตรฐานในการวัดของ SCG eco value เพื่อให้มีความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจ เอสซีจีจึงได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาโดยอ้างอิงมาตรฐาน ISO 14021 (Environmental Labels and Declarations-Self Declared Environmental Claims) ควบคู่ไปกับความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย และผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ อาทิ การออกแบบ การลดการใช้วัตถุดิบ พลังงาน น้ำในการผลิตและการใช้งานของผู้บริโภค การใช้วัสดุและพลังงานหมุนเวียน การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดของเสีย และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาด้านเทคนิค (Technical Team) เป็นผู้พิจารณาให้การรับรองสินค้าและบริการให้ได้รับฉลากดังกล่าว

โดยปัจจุบันมีสินค้าที่ผ่านการรับรองฉลาก SCG eco value รวมอยู่ประมาณ 47 ผลิตภัณฑ์/บริการ มากกว่า 270 รายการ ได้แก่ 1.เม็ดพลาสติก PE 100, PE 80 2.กระดาษกรีนการ์ด (Green Card Paper) 3.ปูนซีเมนต์ตราช้าง 4.กระเบื้อง Eco Touch, Eco Rockrete และ 5.กาวยาแนวสูตรเพิ่มสารทนกรด ตราเสือมอร์ตาร์ เป็นต้น

“เรามองว่าในภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจแบบดังกล่าวจะต้องมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาวะโลกร้อนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าเรามุ่งมั่นในการทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นไปในรูปแบบ Mind eco คือ ให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่มีความสนใจในเรื่องนี้ แต่ถ้าจ่ายซื้อสินค้าพวกนี้ในราคาที่แพงกว่านิดหน่อยก็จะทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าดังกล่าวมากขึ้น และก็จะทำให้เราทุกคนสามารถช่วยโลกได้ด้วย”

ประธานคณะกรรมการ SCG eco value บอกทิ้งท้ายว่า จากความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับประโยชน์และมีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยี และสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง เอสซีจีจะพยายามที่จะผลักดันให้ตลาดมีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างแพร่หลาย และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายให้ภายในปี 2558 เอสซีจีจะมีมูลค่ายอดของสินค้าและบริการ SCG eco value 30%

source: http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.php?news_id=413355374

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น