วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

แฉ กฟผ.ปักธงตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทรที่แรก พร้อมหว่านงบซื้อใจ อปท.-สื่อท้องถิ่นเปิดทางให้

ภาคประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ รวมตัวกันต่อต้าน "แผนพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมหนัก ภาคใต้" ภายใต้ชื่อ "ปฏิบัติการเพชรเกษม 41" เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา


นครศรีธรรมราช - วงในแฉ กฟผ.ปักธงตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.หัวไหร เป็นจุดแรก เหตุแรงต้านน้อยกว่า อ.ท่าศาลา ก่อนเร่งเดินหน้าโครงการอื่นๆ ทั่วภาคใต้ พร้อมปรับแผนหว่านงบซื้อใจ อปท.-สื่อท้องถิ่น ด้านนักวิชาการเตรียมปรับบริบทวาระวิจัยแห่งชาติ อธิบาย “สังคมยุคแย่งชิงทรัพยากร”

ที่ จ.นครศรีธรรมราช ภาครัฐยังคงมีความพยายามเดินหน้าโครงการต่างๆ ตามแผนพัฒนาภาคใต้เข้าสู่ “อุตสาหกรรมหนัก” อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายต่อต้านเพื่อรักษาความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชุมชนและทรัพยากรท้องถิ่น ก็ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเข้มข้นเช่นเดียวกัน

ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (9 ก.ย.) ดร.เลิศชาย ศิริชัย นักวิชาการประจำสำนักวิชาศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แสดงความเห็นว่า สังคมของภาคใต้และประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของการแย่งชิงทรัพยากร โดยเครือข่ายนักวิชาการได้มีการหารือกันเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา แล้วมีข้อสรุปว่าทรัพยากรในท้องถิ่นซึ่งเป็นทรัพยากรของชุมชน กำลังกลายเป็นทรัพยากรของโลก เพราะคนมีเงินจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้ามาแย่งชิงเอาไปได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่ง ร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่รู้จบ

“การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรและความเป็นชุมชนของชาวบ้านกำลังเข้าสู่ยุคเข้มข้น รุนแรง ยุ่งยาก สู้ยาก มีวิธีการต่อสู้ที่ยากลำบากมากขึ้น นั่นคือการต่อสู้เคลื่อนไหวที่ยากลำบาก ในแง่มุมทางวิชาการ ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นวิชาการที่กำลังตีบตันไม่สามารถอธิบายได้ จึงเห็นว่าจะต้องมีการหันกลับมามองบริบทวิธีคิด และถกเถียงกันทางวิชาการครั้งใหญ่ เพื่อปรับตัวอย่างเข้มข้น และสามารถอธิบายได้อย่างมีพลังมากพอ หากไม่สามารถอธิบายได้ ไม่เช่นนั้นการแย่งชิงเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้” ดร.เลิศชาย กล่าว

นอกจากนี้ ดร.เลิศชาย ยังยกตัวอย่างกรณีความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยอ้างว่ากำลังมีปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งเพื่อผลักดันให้สังคมเกิดความตื่นกลัว เป็นการสร้างมายาคติว่ามีเรื่องสำคัญ และเกิดวิตกว่าจะมีความเดือดร้อนโดยเฉพาะคนส่วนใหญ่จะไม่มีไฟฟ้าใช้ และทำให้คนที่ไม่ได้เดือดร้อนอะไรด้วยมาเดือดร้อน แล้วหันไปกดดันคนส่วนน้อยที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ

“ผู้ที่เดือดร้อนจากผลกระทบจะถูกบีบบังคับไม่ให้มีสิทธิมีเสียง ไม่ให้มีพื้นที่ในการใช้สิทธิใช้เสียง แท้จริงคนเหล่านี้ใช้ไฟฟ้าแค่เล็กน้อยเท่านั้น แล้วคนที่จะไม่มีไฟฟ้าใช้คือใคร เป็นนักลงทุน เป็นนายทุน การที่จะบอกว่าสังคมจะเดือดร้อนนั้นเป็นมายาคติที่รุกรานผู้ที่ต้องรับผลกระทบเพิ่มเท่านั้น” ดร.เลิศชาย กล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวทางด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) มีรายงานว่า ในส่วนของภาคใต้นั้นแหล่งข่าวภายใน กฟผ.เปิดเผยว่าตามแผนนั้นจะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างแน่นอน ในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช เดิมมีเป้าหมายในการก่อสร้าง 2 จุดคือ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการที่ อ.หัวไทร ให้ได้ก่อน เนื่องจากความเหมาะสมของพื้นที่และการต่อต้านที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าใน อ.ท่าศาลา ซึ่งชัดเจนแล้วว่าจะใช้พื้นที่ของ อ.หัวไทร เป็นที่แรก

ส่วนกระบวนการทำงานในพื้นที่นั้นเป็นอีกเรื่องที่ต้องทำไปตามขั้นตอนบังคับตามกระบวนการ 7 ขั้นตอนที่ผู้บริหารได้ชี้แจง ส่วนงานจริงในพื้นที่นั้นเป็นอีกเรื่อง เมื่อขึ้นได้เป็นโรงแรกแล้วโรงอื่นๆ ตามแผนที่มีการกระจายชุดเจ้าหน้าที่ลงไป เช่น สะบ้าย้อย สงขลา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง บ้านไม้รูด จ.ตราด กาฬสินธ์ จะสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น เข้าใจว่าที่บ้านไม้รูด และที่ จ.กาฬสินธ์ นั้นน่าจะเป็นชนิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ยังไม่มีข่าวเปิดปรากฏออกมา

“ผู้บริหารระดับสูงได้ปรับแผนในการลงพื้นที่ของคณะทำงานชุดต่างๆ ที่ลงมาปฏิบัติงานในแต่ละจังหวัด จากเดิมนั้นเน้นการสนับสนุนทั้งงบประมาณและสิ่งของ โดยเข้าถึงตัวบุคคลและองค์กรต่างๆ เป็นหลัก เปลี่ยนเป็นการเดินแผนใหม่โดยการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยให้ อปท.เป็นฝ่ายไปดำเนินการในเรื่องพื้นที่ ทั้งนี้ อปท.พื้นที่เป้าหมายแห่งไหนพร้อมจะสามารประสานกับ กฟผ.เริ่มโครงการสร้างโรงไฟฟ้าได้ทันที โดยมีภาษีที่จะเข้า อปท.เป็นสิ่งล่อใจ รวมไปถึงกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตามกฎหมายที่จะต้องเกิดขึ้น” แหล่งข่าววงใน กฟผ.อธิบาย

นอกจากนี้ แหล่งข่าวรายเดิมยังอธิบายต่อว่า ขณะนี้ในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช นั้น ได้มีการปรับแผนแล้วในการให้งบประมาณสนับสนุน โดยโครงการแรกนั้นเป็นการใช้จ่ายงบของ กฟผ.ผ่านสำนักงานพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยภาพที่ออกมาผู้ที่จัดโครงการนี้คือจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามที่นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เคยรับปากว่าจะจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นทางออกของการพูดคุยทำความเข้าใจ แต่อย่างไรก็ตามช่องทางนี้ถือเป็นการสร้างมวลชนผ่านโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “วิกฤตพลังงานชาติ นครศรีธรรมราช จะเอาอย่างไร” ในวันที่ 13 ก.ย.54 นี้ โดยมีการระดมคนมาเข้าร่วมจาก อปท.บางแห่ง ในขณะเดียวกันจะมีกลุ่มที่แสดงออกถึงการปฏิเสธโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

ส่วนอีกโครงการนั้น กฟผ.ได้สนับสนุนงบประมาณ โดยร่วมกับ อบจ.นครศรีธรรมราช จัดกิจกรรมแรลลี่ผ่านโครงการ “สื่อมวลชนแรลลี่สัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยว ครั้งที่ 1” เส้นทางนครศรีธรรมราช-ขนอม เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ตอน “เมืองพระธาตุยอดทอง บุกถิ่นโลมา งามตาเมืองร้อยเกาะ สืบเสาะกุ้ยหลินเมืองไทย” โดยกำหนดจัดแข่งขันระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย. นี้ โดยมีวัตถุประสงค์ตามโครงการคือ เพื่อสนับสนุนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล “เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก” โดยมีนักจัดรายการวิทยุชุมชน และสื่อท้องถิ่นซึ่งถือเป็นช่องทางหลักในการประชาสัมพันธ์ของ กฟผ.ในพื้นที่เข้าร่วมด้วยหลายราย

source:http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000114586

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น