วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

'พลังงานธรรมชาติ'หลังวิกฤตินิวเคลียร์

นายนาโอโตะ คัง ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นตามคำสัญญาเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา หลังจากสภาผ่านร่างกฎหมาย 3 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือร่างกฎหมายส่งเสริมพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ อย่างลม แสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ อันเป็นไปตามแผนระยะยาวของการค่อยๆ ลดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เพราะเห็นอันตรายได้ชัดจากวิกฤติโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2555 โดยกำหนดให้บริษัทสาธารณูปโภคซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ อย่างแสงอาทิตย์ ลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในราคาที่สูงกว่าตลาด
         ทั้งนี้ ญี่ปุ่นตั้งอยู่ บน "วงแหวนแห่งไฟ" ซึ่งเป็นจุดที่เปลือกโลก 4 แผ่นมาเจอกันและบดเข้าหากันทีละน้อย ทั้งยังได้แรงเสริมจากแมกมาความร้อนสูงที่อยู่ใต้ดิน ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความเครียดและปลดปล่อยออกมาในรูปของแผ่นดินไหวเป็นครั้งคราว ที่ใหญ่ที่สุดคือแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อันก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ
         วิกฤติโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ตามมาหลังจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะถูกสึนามิซัดจนเสียหายหนัก เรียกเสียงต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีสัดส่วน 30% ในการกำเนิดพลังงาน และทำให้ผู้คนหันไปสนใจพลังงานทางเลือก ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 8% ในการกำเนิดพลังงาน และส่วนใหญ่เป็นพลังงานที่ได้จากน้ำ
         พลังงานที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ซึ่งเห็นได้ชัดและรู้จักกันดี น่าจะเป็นลมหรือแสงอาทิตย์ ส่วนพลังงานความร้อนจากใต้พิภพนั้น มีอยู่มากในบางประเทศรวมถึงญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีภูเขาไฟตั้งอยู่
         ปัจจุบันแหล่งความร้อนใต้พิภพถูกนำมาใช้ประโยชน์มาก ในรูปของรีสอร์ทออนเซนหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศ นอกจากนั้น ไอน้ำจากแหล่งความร้อนจากใต้ดิน ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนกังหัน เพื่อให้กำเนิดไฟฟ้า
         ญี่ปุ่นจัดว่ามีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดในเรื่องของการสำรวจ พัฒนา และติดตามพลังงานความร้อนใต้ดิน โดยบริษัทไฮเทคหลายแห่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานความร้อนจากใต้พิภพ รวมถึงส่งออกเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่โตชิบาและมิตซูบิชิ ที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 70% ในเทคโนโลยีพลังงานความร้อนจากใต้พิภพของโลก อีกทั้งเมื่อปีที่แล้ว บริษัทฟูจิอิเลกทริกยังสร้างโรงงานความร้อนจากใต้พิภพ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่นิวซีแลนด์
         ขณะเดียวกัน เมืองหนึ่งในแดนอาทิตย์อุทัยที่มุ่งมั่นทำการวิจัยเกี่ยวกับพลังงานความร้อนจากใต้พิภพ ก็คือเมืองฮาชิมันไต ในจังหวัดอิวาเตะ อันเป็นเมืองที่เน้นพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ รวมถึงพลังงานความร้อนใต้ดิน ซึ่งมีอยู่มากแถบนี้ และเป็นที่มาของรีสอร์ทน้ำพุร้อนหลายแห่งในเมือง จนทำให้เกษตรกรรมและพลังงานธรรมชาติเป็นอุตสาหกรรมหลักของฮาชิมันไต
         ฮาชิมันไต เป็นที่ตั้งของโรงงานพลังงานใต้พิภพเก่าแก่ที่สุดของประเทศ ชื่อ โรงงานมัตสึกาวะ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 45 ปีที่แล้ว นอกจากนั้น บริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้ามัตสึกาวะยังทำการวิจัยศักยภาพของพลังงานใต้พิภพในไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และล่าสุดคือโคลัมเบีย
         ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพ ซึ่งมีอยู่ในญี่ปุ่น 18 แห่ง คือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาน้อย ทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพ เพราะมีใช้ได้ตลอดปีไม่ว่าจะเป็นช่วงฝนตกแดดออกหรืออากาศร้อน-หนาว และหากเกิดแผ่นดินไหว เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงงานจะหยุดทำงานอัตโนมัติ
         ในช่วงแผ่นดินไหวเดือนมีนาคมนั้น โรงงานพลังงานความร้อนใต้พิภพทุกแห่งในเขตโตโฮกุ หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันเป็นจุดใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่สุดนั้น ไม่ได้รับอันตรายเลย
 ในภาพรวมแล้ว มีการประเมินว่าญี่ปุ่นมีแหล่งความร้อนใต้ดินที่สามารถนำมาใช้งานได้ มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นั่นคือรองจากสหรัฐ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ความที่ญี่ปุ่นมีภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่ประมาณ 120 ลูก
         อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วญี่ปุ่นกลับอยู่อันดับ 6 ในแง่ของการศักยภาพการกำเนิดพลังงานจากความร้อนใต้ดิน หรืออาจกล่าวได้ว่าการนำพลังงานประเภทนี้มาใช้กำเนิดไฟฟ้าในญี่ปุ่นมีน้อยมาก คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1%
         เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะหลายทศวรรษที่ผ่านมา แดนอาทิตย์อุทัยพึ่งพาเชื้อเพลิงจากการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน แก๊ส ทั้งยังลงทุนอย่างมากในพลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่เกิดวิกฤติน้ำมันโลกเมื่อทศวรรษ 70
         สถาบันเอิร์ธโพลิซี ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในสหรัฐ ประเมินเมื่อเดือนเมษายนว่าญี่ปุ่นอาจผลิตไฟฟ้าได้ 8 หมื่นเมกะวัตต์และนำเทคโนโลยีพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ประโยชน์ในการกำเนิดไฟฟ้าได้มากกว่า 50% ของความต้องการใช้ไฟในปัจจุบัน
         อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ คือ แหล่งที่คาดว่ามีความร้อนใต้ดินอยู่มากนั้น มักตั้งอยู่ใกล้หรือในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งห้ามทำการก่อสร้าง อีกทั้งแหล่งพลังงานความร้อนใต้ดินจำนวนมากยังถูกนำไปทำเป็นรีสอร์ทน้ำพุร้อนแล้ว ขณะที่อุปสรรคอีกประการคือต้นทุนการพัฒนาที่สูง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนขั้นต้นของการสำรวจและขุดเจาะลงไปในระดับลึกๆ หรือต้นทุนในก่อสร้างโรงงาน

source:http://www.komchadluek.net/detail/20110904/108064/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น