พื้นที่เป้าหมายที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก อยู่ที่บ้านคอเขา ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล บนเนื้อที่ 19,000 ไร่
แน่นอน โครงการนี้ถูกต่อต้านจากภาคประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างหนัก เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อรองรับการใช้น้ำของอุตสาหกรรมหนัก
รวมทั้งโครงการตั้งฐานสนับสนุนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ของ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ก็ถูกคัดค้านด้วย
นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา ในฐานะแกนนำคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และระบบคมนาคม ทั้งทางรถไฟ ถนน และท่าเรือที่จะสร้างขึ้นมารองรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะถูกช่วนครศรีธรรมราชค้านทั้งหมด
“นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีพลังงาน เพราะฉะนั้นต้องต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อน เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถ้าไม่มีไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรมก็เกิดไม่ได้ การคัดค้านโรงไฟฟ้าเป็นการตัดยอดโครงการทั้งหมดที่จะตามมา” เป็นคำยืนยันของนายทรงวุฒิ พัฒแก้ว
ปัจจุบันบรรยากาศการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นไปอย่างคึกคัก ขณะที่ความเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. ก็พยายามลงพื้นที่ทำงานมวลชนออกประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง ที่ตำบลหน้าสตน ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร และที่ตำบลกลาย ตำบลท่าขึ้น ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 800 เมกกะวัตต์
“เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาพลังงาน เพียงแต่เราออกมายืนยันว่า เราไม่เอาพลังงานสกปรก เราจะเอาพลังงานทดแทนที่สะอาดใช้ไม่มีวันหมด” เป็นคำยืนยันของ นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว
ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่ส่งผลต่อการเดินหน้าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2551 เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เห็นชอบให้ย้ายนิคมอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก มายังพื้นที่พัฒนาชายบฝั่งทะเลภาคใต้ และแลนด์บริดจ์ ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.)
ต่อมา วันที่ 12 พฤษภาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานนายกรัฐมนตรีถึงความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม และบริการที่มีศักยภาพของประเทศไทยในอนาคต
มีสาระสำคัญ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก การแปรรูปการเกษตร และพืชพลังงาน พร้อมทั้งเสนอแผนดำเนินการระยะต่อไป นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 13 พฤษภาคม 2551 และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา
ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการ ทั้งการศึกษาและการทำงานในระดับพื้นที่ โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
ปี พ.ศ. 2551 ศึกษาความเป็นไปได้โดยเลือกพื้นที่เหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น
ปี พ.ศ. 2552–2553 ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการทำประชาพิจารณ์
ปี พ.ศ. 2554 ออกแบบรายละเอียด
ปี พ.ศ. 2555–2559 ลงมือก่อสร้าง
ปี พ.ศ. 2560–2590 เริ่มเดินเครื่องจักรโรงงาน
ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ช่วงต้นปี 2552 คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช (Southern Seaboard : SSB) ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536
ภายใต้แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ มีโครงการสำคัญคือ นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ในบริเวณพื้นที่พัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้
หลังจากตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ความเคลื่อนไหวในพื้นที่เริ่มคึกคักขึ้น โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ พร้อมนำเสนอที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่บ้านคอเขา ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล เนื้อที่ 19,000 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรนาบอน ที่ตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอน เนื้องที่ 5,500 ไร่ ซึ่งนำมาสู่การคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชน
นอกจากนี้ บ้านบางปอ ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล ยังเป็นพื้นที่เป้าหมายของอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ต้องใช้พื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 5,000–10,000 ไร่ และต้องสร้างท่าเรือรองรับเรือขนาด 30,000–60,000 DWT ขึ้นมารองรับ
จึงไม่แปลกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จะเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ 2 แห่ง ที่ตำบลหน้าสตน ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร และตำบลกลาย ตำบลท่าขึ้น ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา
ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ศึกษาความเหมาะสมในอำเภอสิชลกับอำเภอขนอม รวมทั้งหมด 5 แห่ง จากพื้นที่ศึกษา 17 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสง (Cargo Distribution Center : CDC–Thongsong) ที่อำเภอทุ่งสง
โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองกลาย หมู่ที่ 6 บ้านปากลง ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน หมู่ที่ 5 ตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล และโครงการเขื่อนลาไม ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด
ไม่แปลกที่นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว จะมองว่าโครงการเหล่านี้ จะส่งผผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดนครศรีธรรมราชชนิดหนักหน่วงยิ่ง เพราะมีตัวอย่างผลกระทบที่เกิดจากหลายโครงการของรัฐให้เห็นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นริมชายฝั่งทะเล ที่อำเภอหัวไทร ปากพนัง ท่าศาลา ซึ่งยิ่งสร้างก็ยิ่งส่งผลกระทบ ก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้นไม่รู้จบ
สิ่งที่นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ต้องการให้สังคมภายนอกรับรู้คือ โครงการเหล่านั้นส่งผลกระทบกับคนในพื้นที่อย่างไร คนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบไหน จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีโครงการขนาดใหญ่
ส่วนในด้านความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในพื้นที่เพื่อคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว เกิดจากความร่วมมือทั้งในส่วนของภาคประชาชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น นักวิชาการ ก็จะทำวิจัยสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน
ขณะเดียวกัน มีการเชื่อมร้อยกับองค์กรอื่นๆ ทั้งในระดับภาคใต้ ระดับประเทศ และระดับโลกด้วย เช่น กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
ที่ผ่านมา ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าไม่ต้องการโครงการขนาดใหญ่ มีการขึ้นป้ายคัดค้าน และร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งเชิญตัวแทนพรรคการเมืองในจังหวัดนครศรีธรรมราช มาลงนามในบันทึกร่วมกันว่า จะไม่สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลังงานสกปรกในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ทว่า มีอีกช่องทางที่ชาวบ้านยังไม่ได้ทำคือ การฟ้องร้องต่อศาล
ถึงกระนั้น ชาวบ้านถูกฟ้องศาลไปแล้วหนึ่งคดี เป็นคดีที่นายอิสรา ทองธวัช อดีตนายอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ฟ้องนายปิติพงษ์ คิดการเหมาะ ในข้อหาหมิ่นประมาท
ทรงวุฒิ พัฒแก้ว
source:http://www.prachatai.com/journal/2011/09/36809
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น