แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า
กรุงเทพมหานครจัด “โครงการตลาดนัดมูลฝอยอันตราย” โดยสำนักการแพทย์
ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม และบริษัทสยามฟาร์มาซูติคอล จำกัด
จัดกิจกรรมรณรงค์คัดแยกขยะอันตรายมุ่งเน้นให้ประชาชนทั่วไป ตลอดจนเจ้าหน้าที่
และผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
มีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะอันตรายจากมูลฝอยทั่วไปซึ่งจะส่งผลให้การจัดเก็บขยะอันตรายเป็นไปอย่างถูกต้องและนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
ไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้
ในการจัดเก็บขยะในกรุงเทพมหานครจะแยกเป็น 3 ประเภท คือ ขยะทั่วไป
สำนักสิ่งแวดล้อมจัดการด้วยวิธีฝังกลบ รีไชเคิล หรือเปลี่ยนเป็นพลังงาน ขยะติดเชื้อ
บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด จัดการโดยวิธีเผาด้วยเตาเผาแรงดันสูง และขยะอันตราย หรือ
มูลฝอยอันตราย (Hazardous waste)
ซึ่งจากรายงานการจัดเก็บปัจจุบันพบว่าจัดเก็บได้เพียง 0.60 ตัน/วัน
ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณมูลฝอยอันตรายที่คาดการณ์เฉลี่ย 24
ตัน/วัน เนื่องจากประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจและแรงจูงใจในการคัดแยก
โดยมูลฝอยอันตราย
อาทิ แบตเตอร์รี่ ถ่านไฟฉาย ไส้ปากกา กระดาษคาร์บอน กระป๋องสารเคมีกำจัดแมลงหรือยุง
กระป๋องสเปรย์ กระป๋องสีทาบ้าน ขวดยาหมดอายุ หลอดไฟ หมึกพิมพ์ เป็นต้น
ซึ่งแต่ละประเภทจะมีสารพิษที่ทำลายสุขภาพ เช่น สารหนู(ก่อมะเร็ง),
แคดเมียม(พิษต่อระบบหายใจ), ตะกั่ว(พิษต่อระบบย่อยอาหารและระบบหายใจ
ระยะยาวมีผลต่อสมองและระบบประสาท), ปรอท(พิษต่อระบบประสาททำให้พิการ)
และแมงกานีส(ประสาทหลอนสมองอักเสบ) จึงจำเป็นต้องกำจัดอย่างถูกวิธี
จึงเกิดโครงการดังกล่าวขึ้น
สำหรับกิจกรรมนอกจากรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในวิธีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีแล้วจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมกันการคัดขยะอันตรายจากมูลฝอยทั่วไปโดยให้นำขยะอันตรายไปแลกยาสามัญประจำบ้านได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลตากสิน, โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์
ชุตินฺธโร อุทิศ, โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์,
โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
และโรงพยาบาลสิรินธร
ซึ่งอาจประสานเพิ่มจุดรับแลกที่วชิรพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขเพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกพื้นที่
โดยกทม.จะเปิดรับแลกมูลฝอยอันตราย ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน – 31 ธันวาคม 2554
โดยตั้งจุดรับแลกเฉพาะมีถังขยะสำหรับบรรจุขยะอันตรายที่ประชาชนนำไปแลกเพื่อขนย้ายไปทำลายอย่างถูกวิธีต่อไป
source:http://www.naewna.com/news.asp?ID=279180
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น