วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ทักษิณ (เคย) คิด ธีระชัย+พิชัย ทำ กองทุนมั่งคั่งแท้ง(ชั่วคราว)

บทความพิเศษ
ศัลยา ประชาชาติ

แม้ในที่สุดแนวคิดในการจัดตั้ง "กองทุนมั่งคั่ง" ที่มาเร็ว ไปเร็ว และแสนจะคลุมเครือในช่วงสัปดาห์ก่อน ถูกนายกรัฐมนตรีหญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศท่าทีชัดว่า "มิใช่เรื่องเร่งด่วน"

กระนั้น โครงการอันเป็นแนวคิดจากอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ยังทอดเงา แผ่อิทธิพลมาถึงรัฐบาลหลายชุดรวมถึงชุดปัจจุบัน ก็กลายเป็นประเด็นที่ถูกถามถึงที่มาที่ไปอย่างอื้ออึง

จนเกิดข้อสงสัยว่าเพระเหตุใด แนวคิดของ พ...ทักษิณ ชินวัตร ทุกเรื่อง กลายเป็นมรดกที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องนำไปปฏิบัติ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ-การเมือง ถูกกระจายอยู่ในแผนบริหารราชการแผ่นดิน จัดอยู่ในนโยบายเร่งด่วน บรรจุไว้ในตารางงบประมาณรายจ่ายประจำปี

นอกจาก 16 วาระเร่งด่วน ที่ "ทักษิณคิด เพื่อไทย ทำทันที" แล้วยังมีวาระพิเศษ ที่กระจายอยู่ในกระทรวงเศรษฐกิจทั้งแผง

15
วันหลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นรัฐมนตรี ก็เกิดวาระ "กองทุนมั่งคั่ง"

จากนั้นวาระ "กองทุนมั่งคั่ง" ก็ออกตัวแรง ปฏิบัติการเร็ว ด้วยการสนธิกำลังกันระหว่างรัฐมนตรีสายตรงของ "ทักษิณ" อย่าง นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สัญญาณแรง-ชัด ที่ถูกส่งมาจาก "พิชัย" คือ จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ไปลงทุนด้านพลังงานและด้านอื่นๆ ในต่างประเทศ

พร้อมขยายความรูปแบบการลงทุน-ที่มาของกองทุน ด้วยว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund-SWF) จะพิจารณาจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงถึง 1.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

"
ถือว่าประเทศไทยมีความมั่นคงสูงและใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมดสิ้น ควรที่จะมีการนำไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการเข้าไปซื้อแหล่งพลังงานในต่างประเทศและทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้เพียงพอที่จะเป็นปริมาณสำรองพลังงานในประเทศ ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ควรจะมีการพิจารณา" ไอเดียของ "พิชัย" ถอดแบบจาก "ทักษิณ"

หลังจากออกตัวแรง เรื่องวงเงินกองทุนแล้ว "พิชัย" ยังเหยียบคันเร่งต่อไปเรื่อง "วิธีการลงทุน" โดยไม่จำกัดการลงทุนเฉพาะรายการเข้าไปซื้อแหล่งพลังงานในต่างชาติ แต่จะกระจายความเสี่ยงถือครองสินทรัพย์ที่ความมั่นคงสูงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทองคำ หรือเงินสกุลหยวน และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของ ธปท. ควรมีไว้เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของประเทศ ควรมีไว้ให้เพียงพอประมาณ 5-6 เดือนเท่านั้น ที่เหลือควรมีการนำไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศมากขึ้นในอนาคต



5
วันต่อมา "นายธีระชัย" ในฐานะควบคุม-กำกับ-เจ้าของ "คลังหลวง" ประกาศนโยบาย 4 ข้อ มี 1 ข้อ เกี่ยวข้องกับ "กองทุนมั่งคั่ง"

กองทุนมั่งคั่ง คือการบ้านข้อที่ 3 ที่ถูกมอบหมายให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับไปปฏิบัติ พร้อมนำคำตอบมาส่งที่กระทรวงการคลังภายใน 30 วัน

โจทย์มีว่า "การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ให้ ธปท. ไปพิจารณาความเหมาะสม โดยกระทรวงการคลัง เสนอให้นำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศบางส่วนแยกออกมาเป็นอีกบัญชี และออกกฎหมายรับรองสถานะของกองทุน"

24
ชั่วโมงต่อมา มีคำตอบจาก นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ว่าจะรับไปศึกษา แต่จะต้องหารือกับคณะผู้บริหารของ ธปท. และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องก่อน โดยกรณีของการตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ จะต้องหารือกับคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลงบดุลของ ธปท. ก่อน

แม้จะถูก รมว.คลัง รุกทั้งรูปแบบเผชิญหน้า และรุกคืบในโลกออนไลน์ผ่านพื้นที่เฟชบุ๊ก แต่ผู้ว่าการ ธปท. ยังยืนต้านทาน เขาบอกว่า "ไม่คิดว่าการที่ รมว.คลังโพสต์ข้อความถึง ธปท. บ่อยครั้งเป็นการกดดัน"

ตรงกันข้าม ผู้ว่าการ ธปท. ตอบโต้เรื่องการขาดทุน ที่ รมว.คลังนำไปเป็นประเด็นการเมือง ว่า "ต้องเข้าใจว่า ธปท. เป็นธนาคารกลาง ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร ทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจให้ภาคการส่งออกขยายตัวได้ด้วยดี ซึ่งเป็นภาวะปกติที่เมื่อเศรษฐกิจดี ค่าเงินบาทแข็ง ธปท. จะขาดทุนรูปเงินบาท แต่ในยามที่เศรษฐกิจโดยรวมย่ำแย่ เงินบาทอ่อนลง เมื่อตีมูลค่าทุนสำรองออกมาเป็นเงินบาท ธปท. ก็มีกำไร"



เมื่อ ธปท. แบ่งรับ แบ่งสู้ เกมรุกจึงถูกเปิดเพิ่มเติมที่กระทรวงการคลังอีกรอบ เมื่อ "นายธีระชัย" แจ้งประเด็นกองทุนมั่งคั่งให้กับผู้บริหารยักษ์ใหญ่การเงินโลกอย่างธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การบ้านผู้บริหาร 2 แบงก์ระดับโลก ไปว่า ขอให้ธนาคารโลกช่วยศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งของประเทศไทยด้วย

พร้อมกันนี้ได้ทำหนังสือชี้ชวนแบบปากเปล่า ขอให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย เข้ามาช่วยตั้งกองทุนร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย ที่จะเริ่มในเร็วๆ นี้ด้วย

เกมรุกถูกเดินต่อด้วยการเปิดการเจรจาระหว่างขุนคลังกับผู้ว่าการ ธปท. ด้วยวาระที่ลงรายละเอียดมากขึ้น ด้วยการแจ้งเพื่อทราบว่า การจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ "อาจต้องแก้กฎหมายนำเอาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาใช้ กองทุนจะถูกนำไปลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน"

คำว่า กองทุนมั่งคั่ง กลายเป็นวาระหล่นบนโต๊ะประชุมหลายแห่ง ทั้งที่พรรคเพื่อไทย ไปถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าถึงหูอดีตผู้ว่าการ ธปท. และนักการเงินแนวหน้า ต่างพากันคัดค้าน ด้วยข้อมูลใหม่

ทั้งที่แนวคิดกองทุนมั่งคั่ง ความจริงแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุค "..ยิ่งลักษณ์" แต่เป็นแนวคิดเก่าของ "ทักษิณ" ที่ถูกพยายามนำไปปฏิบัติมาแล้วในยุค "..พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประสานไอเดียกับ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต ผู้เคยถูก ป... ชี้มูลความผิดคดีร่ำรวยผิดปกติ

ในยุคนั้น "กองทุนเทมาเส็ก" แห่งสิงคโปร์ คือโมเดลหลัก ที่นักการเมืองไทยฝันอยากเจริญรอยตาม

เพียงแต่รูปแบบในอดีต ต้องการใช้ทรัพย์สิน (Asset) ของรัฐวิสาหกิจ ยักษ์ใหญ่ ระดับบริษัทพลังงาน-สายการบิน-การไฟฟ้าหรือสายการเดินเรือแห่งชาติ ที่รวมกันแล้วมีมูลค่าอยู่ในระดับหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นำมาเป็นกองทุนไปลงทุนในกองทุนการเงินระดับโลก ซึ่งเป้าหมายในยุค "ทักษิณ" คือ ลงทุนบริหารท่าเรือและบ่อน้ำมันในตะวันออกกลางและยุโรป

แม้ว่ายุค "..ยิ่งลักษณ์" จะเป็นช่วงขาขึ้น ของอำนาจการเมืองของฝ่าย "ทักษิณ" แต่สถานการณ์การเงินโลกได้เปลี่ยนเป็นช่วงขาลงทั่วทุกทวีป

ข่าวการออกตัวแรงของกองทุนมั่งคั่ง จึงกลายเป็นประเด็นร้อน และส่งผลต่อคะแนนด้านลบต่อรัฐบาลในชั่วเวลาเพียง 20 วัน หลังได้รับโปรดเกล้าฯ เข้ารับตำแหน่งของรัฐบาล "..ยิ่งลักษณ์"



ท่ามกลางข่าวประชาชน 44 จังหวัดประสบภาวะภัยพิบัติน้ำท่วม-ของแพง ค่าแรงยังราคาถูก และคำสัญญาในนโยบายหาเสียง 16 ข้อ ยังไม่ทันได้ลงมือทำก็พบกับแนวต้าน

ทีมยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย จึงต้องปรับแผนการสื่อสารใหม่อีกครั้ง

ทำให้ทั้ง น..ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ต้องตัดสินใจออกมาเหยียบเบรก กองทุนมั่งคั่ง หวังให้นิ่งสนิท แล้วปั่นประเด็นแก้ปัญหาน้ำท่วมขึ้นมาแทน

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 4 ..ยิ่งลักษณ์ จึงประกาศว่า กองทุนมั่งคั่ง ไม่ใช่ 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง "หยุดไว้ก่อน" และระดับความสำคัญของเรื่องเป็นเพียง "วาระหารือและศึกษา" เท่านั้น

ข้อค้างคาใจเรื่อง การแก้ไข พ...เงินตรา, การออกพระราชกำหนด, การแยกบัญชี ธปท., ประเภทของกิจการที่จะไปลงทุน, ขนาดกองทุน ฯลฯ น..ยิ่งลักษณ์ บอกคำเดียวว่า "ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียด เป็นเพียงการหารือของรัฐมนตรีที่ไปนั่งหารือกันเฉยๆ แต่ในระดับนโยบายและฝ่ายบริหารยังไม่ได้คุยกัน"

จึงเกิดคำสั่งกลางอากาศ จากนายกรัฐมนตรี ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ให้หยุดเรื่องที่ไม่ใช่วาระเร่งด่วน แต่ให้กลับไปทำหน้าที่หลักเรื่องงบประมาณ และการหารายได้ของประเทศก่อน

แต่ความหวังของนักเล่นหุ้น-นักมายากลการเงิน ยังไม่สิ้นหวัง เพราะหลักการกองทุนมั่งคั่ง ในความเห็นของ น..ยิ่งลักษณ์ แม้ยังอีกนานกว่าจะเกิด แต่ก็ "จะทำเมื่อเห็นว่าทุกอย่างเป็นประโยชน์ มีผลตอบแทน และมีความเสี่ยงในระดับที่เราป้องกันได้"

ประสานเสียงกับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ "กิตติรัตน์" หลานพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ที่ประกาศตามวาระนายกรัฐมนตรีด้วยการสัญญาว่า "จะไม่แก้กฎหมาย จะไม่ออกพระราชกำหนด จะไม่บังคับให้ ธปท. ทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำ"

"
ผมยืนยันในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจว่า ประเด็นนี้ไม่มีความสำคัญเร่งด่วนอะไร หรือถ้าหากจะมี จะต้องเกิดจากการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดจากการร่วมมือกันเป็นอย่างดี รวมถึงการปรึกษาหารือกับฝ่ายนิติบัญญัติด้วย"

กองทุนมั่งคั่ง ในทางที่เป็นไปได้สำหรับ "กิตติรัตน์" คือ ระดมเงินจากภาครัฐ ภาคเอกชน เหมือนกองทุนวายุภักษ์

วาระกองทุนมั่งคั่ง 1 ในนโยบายไม่เร่งด่วน แต่ออกตัวแรง จึงต้องแท้งไปก่อนด้วยประการฉะนี้ แต่ก็เชื่อได้เลยว่า เป็นแค่ภาวะ "แท้งชั่วคราว" ที่พร้อมจะกลับมาใหม่ทันทีที่จังหวะและโอกาสเหมาะสม


source: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1315472237&grpid=no&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น