วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิจัย..พลาสติกชีวภาพ แปรรูปมันสำปะหลังเพื่อสิ่งแวดล้อม

พลาสติก...เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่สังเคราะห์ขึ้นจาก ปิโตรเคมี บางชนิด เมื่อ อากาศเย็นก็เกิดอาการแข็งตัว หากถูกความร้อนจะอ่อนตัวลง แต่บางชนิด กลับแข็งตัวอย่างถาวรและ ไม่สามารถย่อยสลายได้

แม้ว่า...พลาสติก จะมีประโยชน์หลายด้าน ปัจจุบันจะเห็นได้ชัดว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลก เนื่องจากกระบวนการผลิตพลาสติกเกิด เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล กลายเป็น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ มีเทน ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีคุณสมบัติ ดูดซับคลื่นรังสีความร้อน กักเก็บบางส่วนไว้ในโลก ไม่ให้สะท้อนกลับสู่ชั้นบรรยากาศ เรียกสภาวะนี้ว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ วาฬบรูด้า เกยตื้นตายริมหาดในอ่าวไทย เมื่อผ่าท้องออกมาก็พบ ถุงพลาสติกที่ไม่ย่อยสลายอัดแน่นอยู่เต็มท้อง นั่นแหละคือ...สาเหตุของการเสียชีวิต...
นักวิจัย จากหลายหน่วยงานทั้ง ภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมมือกันพัฒนานำวัตถุดิบจากธรรมชาติ มาใช้ ทดแทนพลาสติก...โดย นายพิสุทธิ์ เลิศวิไล รองกรรมการผู้จัดการบริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยบูรพา และอีกหลายหน่วยงาน ด้วยการ จัดตั้งแผนกค้นคว้าวิจัยเม็ดพลาสติกชีวภาพที่มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ 100% ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นสรรหาวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ ดังเช่น “แป้งมันสำปะหลัง” มาผลิตเป็นสารตั้งต้น

นายพิสุทธิ์ บอกด้วยว่า วิธีการผลิต ด้วยกระบวน การทางไบโอเทคโนโลยีและกระบวนการสังเคราะห์เม็ดพลาสติกทางเคมี โดยทำการเปลี่ยน โครงสร้างโมเลกุลให้มีคุณสมบัติที่เทียบเท่ากับเม็ดพลาสติกทั่วไปได้ ในกระบวนการผลิต ยังใช้พลังงานและทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าพลาสติกธรรมดา ถึงร้อยละ 20 ทั้งนี้ ยังเป็นวัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนห่วงโซ่ มูลค่าของการผลิตได้จาก วัตถุดิบการเกษตร ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถปลูกขึ้นใหม่ทดแทนได้ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือ อ้อย และยังสามารถย่อยสลายทางชีวภาพ (biodegradable) ได้อย่างสมบูรณ์จากจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ใช้เป็นอาหารและย่อยสลาย กลายเป็น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และ มวลชีวภาพภายใน 180 วัน โดยการนำมาทดลองเข้าสู่ กระบวนการหมักในโรงหมักขยะอินทรีย์ ในการดำเนินการเป็น ระบบการจัดการขยะของเทศบาลหลายแห่ง

เม็ดพลาสติกชีวภาพ และ ถุงพลาสติกที่วิจัยสำเร็จนี้ ได้ขอการรับรองมาตรฐานจากสถาบันที่ให้การรับรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ DIN CERT-CO ประเทศเยอรมนี VIN-COTTE ประเทศเบลเยียม FSWA ประเทศฟินแลนด์ และ BPI สหรัฐอเมริกา ซึ่งการรับรองมาตรฐานนี้ เพื่อใช้ ตราสัญลักษณ์นำไปแสดงมาตรฐานได้ทั่วโลก ซึ่งจะเป็น รายแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองในการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ 100%...

สำหรับประเทศไทยในขณะนี้ สำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กำลังยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากลของ ISO 17088:2008 (Specification for Compostable Plastics) ซึ่งได้กำหนดนิยามของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพไว้อย่างชัดเจนว่า เป็น “พลาสติกที่เมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สาร ประกอบอนินทรีย์ มวลชีวภาพ และต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งแปลกปลอม หรือสารพิษหลงเหลือไว้”

ในการค้นคว้าวิจัยพลาสติกชีวภาพ (Biopolymer) เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดในระดับอุตสาหกรรม สร้างความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางการใช้สินค้าจากพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และพร้อมที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศไทย

ไชยรัตน์ ส้มฉุน
source : http://www.bedo.or.th/bd021_ArticlesDetail.aspx?RowID=2124

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น