วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติ'พลังงานไฟฟ้า'ทางเลือก-ทางรอด ไทยจะไปทางไหน...(3)


นี่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแวตเตนฟอลในเมืองสปรีมเบิร์ก ห่างจากเบอร์ลิน 146 กม. นั่งรถจากโรงแรมเกือบ 2 ชั่วโมง ก่อนถึงที่หมายมองเห็นบ้านคนอาศัยอยู่รอบ ๆ และห่างออกไปหนาแน่นพอดู แต่ละบ้านปลูกดอกไม้หน้าบ้านสวยงามน่ารักสไตล์ยุโรป สอบถามถึงรู้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้มีเพื่อนบ้านตั้ง 2 หมื่นกว่าคน แถมคุยว่า ไม่มีปัญหาถูกร้องเรียนเลย

เอ็นจีโอหรือ มี กลุ่มกรีนพีซหรือ ก็มี แต่ปลุกระดมไม่ขึ้น เพราะชาวบ้านที่นี่สามารถเข้ามาดูและเห็นจริงว่า การใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าไม่มีปัญหาเรื่องมลพิษหรือสิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว มันต่างกันสิ้นเชิงในตอนนี้ การมาดูถึงที่มันดีตรงนี้เอง ได้ประจักษ์กับตาว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องสร้างภาพ ขายฝัน โรงไฟฟ้า “แวตเตนฟอล”ใช้ลิกไนต์ถึงวันละ 3.6 หมื่นตัน แต่ฝุ่นเหลืองฝุ่นขาวไม่มีให้เห็นเลย หมอกขาวที่เห็นก็เป็นไอน้ำ กระบวนการก่อนปล่อยไอน้ำก็เอามาผลิตไฟฟ้าได้ น้ำจากไอน้ำก็เอามารีไซเคิล ไปใช้รดต้นไม้หรืออื่น ๆ ได้อีก

ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง มีการติดตั้งเครื่องกำจัดกำมะถัน ฝุ่นละออง คาร์บอนไดออกไซด์ และกรดไนตริก เขามีการใส่หินปูน (Limestone) เข้าไปดักจับซัลเฟอร์ฯ แล้วแปรรูปออกมาเป็น “ยิปซัม” เอาไปผสมทำปูนซีเมนต์หรือทำผนังยิปซัมบอร์ดได้อีกต่างหาก เป็นมูลค่าเพิ่มจริง ๆ เขาสรุปอีกว่า ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้ขบวนการกำจัดฝุ่นผงทำได้ถึง 98% กำจัดก๊าซกำมะถันได้ถึง 91% และกำจัดกรดไนตริกได้ถึง 61% พูดง่าย ๆ เกินมาตรฐานไปเยอะแยะแล้ว

ก็น่าคิดว่าชาติรวยจัดอย่างเยอรมนีทำไมใช้ถ่านหินถึง 46% ใช้ก๊าซแค่ 14% ประเทศพอมีพอกินอย่างไทย สัดส่วนกลับหัวกลับหางกันหมด คนไทยต้องคิดแล้ว ทำไมเป็นอย่างนี้ ถ้าเยอรมนีไกลไป เอาใกล้ ๆ อย่างเวียดนามก็ได้ เขาใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า 30% ก๊าซ 30% ที่เหลือหรือ เวียดนามไม่สนใครจะต้าน จะใช้นิวเคลียร์ 30% ผลิตไฟฟ้าต่อไป พอเห็นภาพหรือยัง

“โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เป็นบาดแผล เป็นกรรมเก่า แต่ตอนนี้เราก็ใช้เทคโนโลยีกำจัดซัลเฟอร์ฯ กำจัดฝุ่นผง ไม่ต่างจากเยอรมนีนะครับ” ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า กฟผ. รัตนชัย นามวงศ์ ยอมรับ และว่า ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก เราเปิดกว้างพร้อมให้มาดูของจริงถึงที่ และมุ่งทำในสิ่งที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม

ก็อย่างที่เขียนไว้ สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าของไทยนั้น เปราะบางมาก ใช้ก๊าซธรรมชาติตั้ง 70% ใช้ถ่านหินไม่ถึง 20% พลังงานอื่นไม่ต้องพูดถึง ลม แดด ยังแพงจัด นิวเคลียร์นั้นเลิกหวัง แล้วยังจะต่อต้านถ่านหินแบบเอาเป็นเอาตายอีก ก็ชาติเจริญทั้งหลาย มีการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า 40-50% ก๊าซธรรมชาติแค่ 20% เศษ เพราะอะไร???

เพราะนอกจากนิวเคลียร์แล้ว ถ่านหินเป็นตัวเลือกดีสุดปริมาณสำรองใช้ได้อีกเป็นร้อย ๆ ปี ราคาก็ถูก เทียบได้เลย ก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนผลิตไฟฟ้า 2.88 บาทต่อหน่วย ลม-แดด 6 บาท กับ 13 บาทต่อหน่วย ขณะที่ถ่านหินมีต้นทุนค่าก่อสร้างและการผลิตอยู่ที่ 2.56 บาท ชาติเจริญแล้วจึงเลือกใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ไง

นี่คือ...ทางรอดวิกฤติไฟฟ้าไทย

ถ้าก๊าซธรรมชาติที่มีจะใช้ได้อีกแค่ 20 ปี จำเป็นต้องมีการวางแผนรับมือตั้งแต่บัดนี้ เพราะกว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซักโรง อย่างต่ำก็ 5-6 ปี ถ้าไม่เริ่ม เอาแต่ต่อต้าน ถึงเวลาขาดแคลนไฟฟ้าขึ้นมา เอ็นจีโอจะรับผิดชอบหรือ มันต้องให้ทางรอดประเทศบ้างสิ

จะเอาแต่ตั้งหน้าต่อต้านไปหมด นิวเคลียร์ก็ต้าน ถ่านหินก็ยังต้านอีก (ในแผน กฟผ. จะสร้าง 8 โรงไฟฟ้าถ่านหิน ป่านนี้ยังไม่แจ้งเกิดซักโรงเลย) ที่จะเอาพลังงานสะอาด ลม แดด ทำได้ก็ดีเลย ใครจะค้านล่ะ แต่ในชีวิตจริง มันต้องลงทุนสูงมาก ค่าไฟต้องแพงอีกหลายเท่าตัว ไม่มีใครรับได้ อย่างที่เขียนไปแล้ว

“เราจะให้แม่เมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยว จะเชิญนักท่องเที่ยวมาพัก มาเที่ยว ให้มาเห็นว่าที่นี่มีอากาศบริสุทธิ์ มีวิวสวย อยากลบภาพเดิมให้หมด เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะจะจัด 18-19 พ.ย.นี้ ผมขอเชิญชวนทุกคนเลยครับ” ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. พงษ์ดิษฐ พจนา ฝากเป็นข้อความตบท้ายก่อนจบทริปเดินทางดูงานโรงไฟฟ้าในต่างแดนครั้งนี้

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง วันนี้ไม่เพียงไม่เหลือภาพเก่า ๆ แต่กำลังจะกลายเป็น แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่

อีกไม่นานเกินรอ......

source : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=23&contentID=152563

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น