วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สนพ.เล็งผลิตก๊าซชีวภาพป้อนครัวเรือน

สนพ.เล็งปรับทิศทางการผลิตก๊าซชีวภาพใหม่ จากเดิมใช้ผลิตไฟฟ้าให้หันมาผลิตเป็นก๊าซหุงต้มป้อนครัวเรือน และผลิตเป็นก๊าซซีบีจีใช้ในรถยนต์แทน หวังช่วยลดการนำเข้าแอลพีจี และการขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวีในพื้นที่ห่างไกลแนวท่อ โดยจะเชิญโรงงาน 64 แห่ง ที่สนใจเข้าร่วม พร้อมรอความหวังขอทุนวิจัยของ 2 มหาวิทยาลัยภาคเหนือทำซีบีจีนำร่อง หากสำเร็จเกิดเชิงพาณิชย์แน่ ขณะที่ไทยเบฟไม่รอผุดซีบีจีขึ้น 5 แห่ง

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าจากกรณีที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการนำเข้าก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีค่อนข้างมาก และการขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวีในพื้นที่ห่างไกล ทางสนพ.จึงมีแนวความคิดว่า จะเชิญชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีแผนจะลงทุนสร้างระบบก๊าซชีวภาพ เพื่อกำจัดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต และนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปใช้ในภาคครัวเรือนหรือภาคขนส่งแทนการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะการนำมาใช้ในภาคขนส่งที่สามารถนำก๊าซชีวภาพที่ได้อัดเป็นก๊าซในรูปซีบีจีใช้ในรถยนต์ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาลดการนำเข้าก๊าซหุงต้มได้ส่วนหนึ่ง และยังช่วยให้พื้นที่ห่างไกลท่อส่งก๊าซธรรมชาติ สามารถใช้ก๊าซซีบีจีในราคาถูกเมื่อเทียบกับการใช้ก๊าซเอ็นจีวีหลังจากมีการปรับค่าขนส่งใหม่



โดยในปีนี้ สนพ.ได้วางเป้าหมายที่จะเชิญชวนผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพจำนวน 64 แห่ง ซึ่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะให้เงินสนับสนุนจำนวน 560 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หากสามารถเชิญชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้มาผลิตก๊าซชีวภาพและนำไปจำหน่ายให้กับภาคครัวเรือน หรือจำหน่ายให้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในรูปก๊าซซีบีจี แทนที่จะนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าได้ ก็จะช่วยให้ประเทศมีก๊าซหุงต้มและก๊าซซีบีจีเพิ่มขึ้นได้



"เวลานี้การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเกินเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานที่กำหนดไว้แล้ว อีกทั้ง ไฟฟ้าของประเทศไม่ได้ขาดแคลนแต่อย่างใด มีสายส่งอยู่ทั่วประเทศ ผิดกับก๊าซเอ็นจีวีที่ขาดแคลนอยู่เวลานี้ เพราะการขนส่งไม่ทัน และมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้พื้นที่ห่างไกลแนวท่อส่งก๊าซ เกิดการขาดแคลนเอ็นจีวี หากสามารถนำก๊าซชีวภาพมาอัดเป็นก๊าซซีบีจีได้ ก็จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวีในพื้นที่ห่างไกลได้ หรือหากนำมาผลิตเป็นก๊าซหุงต้มขายให้ตามครัวเรือน ก็จะช่วยลดค่าชดเชยค่าขนส่งก๊าซหุงต้ม จากปัจจุบันที่กองทุนน้ำมันฯชดเชยอยู่ 67.8 ล้านบาทต่อเดือนได้"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น