วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สู้กับธรรมชาติ

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากรู้จักกังหันลมที่เป็นสัญลักษณ์ของเนเธอร์แลนด์ แต่จริงๆ แล้วกังหันลมนี้มีไว้เพื่ออะไร?

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่พื้นที่ครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ยุคโรมันเมื่อ 2,000 กว่าปีที่แล้ว และความที่คนดัตช์ต้องต่อสู้กับภัยน้ำท่วมจากทะเลเหนือ และแม่น้ำไรน์มาเป็นร้อยๆ ปี ทำให้คนดัตช์เป็นชนชาติที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมอย่างหาตัวจับได้ยาก

ความที่คุ้นเคยกับน้ำท่วมคนดัตช์จึงคุ้นกับเขื่อนกั้นน้ำ กำแพงทะเล ฯลฯ รวมทั้ง 'สถานีสูบน้ำ' ซึ่งในยุคก่อนหน้านี้ กังหันลม (windmill) ของคนดัตช์ก็คือสถานีสูบน้ำนั่นเอง

คนดัตช์จึงเป็นคนที่สนใจกับภัยธรรมชาติ และภาวะธรรมชาติรอบตัวมาก มาวันนี้ที่ทั่วโลกกำลังพูดถึงปัญหาโลกร้อน อากาศเปลี่ยน แปลง คนดัตช์ก็ไม่ตื่นตระหนก แต่กลับคิด และเอาจริงเอาจังว่าพวกเขาควรทำอย่างไรให้ลูกหลานอยู่รอดได้

เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ชาวดัตช์ต้องเอาตัวรอดจาก 'ทะเลใต้' ด้วยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำขนาดยักษ์เพื่อให้น้ำท่วม และผลที่ได้ตามมาด้วยคืออ่างเก็บน้ำจืดขนาดใหญ่ (คือเขื่อน ILssel) แต่แน่นอนว่านอกจากวิทยาการความรู้ที่ต้องมีแล้ว ยังต้องมีเงิน และที่สำคัญคือนโยบายที่ชัดเจนและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนด้วย

เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้ก็สร้างเขื่อนเพื่อกั้นน้ำทะเล และทำให้ได้อ่างเก็บน้ำจืดขนาดยักษ์ทำนองเดียวกับของดัตช์ด้วย มิหนำ ซ้ำยังมีขนาดใหญ่กว่าของดัตช์ด้วย ผมคิดว่าคนดัตช์ไม่สนใจในเรื่องของขนาดเหมือนคนเอเชียบางประเทศ แต่สนใจในเหตุผลของการทำอะไรสักอย่างมากกว่า

ที่เนเธอร์แลนด์มีหมู่บ้านติดทะเลอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ชื่อ Petten ที่นี่ผู้คนจะได้ยินเสียงคลื่นลมเสมอ แต่มองไม่เห็นทะเล เว้นเสียแต่จะเดินขึ้นไปบนยอดกำแพงที่มีความสูงประมาณ 13 เมตรเสียก่อน เพราะ 'กำแพง' ที่โอบล้อมหมู่บ้านนี้ไว้แท้จริงคือ เขื่อนกั้นน้ำขนาดยักษ์นั่นเอง (สูง 13 เมตร หนาประมาณ 46 เมตรที่รากฐาน) ขึ้นไปที่นั่นแล้วสามารถทอดอารมณ์ไปกับคลื่นลมได้อย่างสบายใจ

แต่คนดัตช์นั้นไม่ประมาทกับธรรมชาติ แปลว่า เขาไม่ค่อยคิดว่าเขาจะเอาชนะธรรมชาติไปได้เสมอไป

วกกลับมาที่ปัญหาเมืองไทยที่ไม่เคยใส่ใจกับคูคลองที่เป็นทั้งทางสัญจร และแหล่งระบายน้ำ จนกระทั่งวันนี้คนไทยก็ยังรู้น้อยมากกว่าการถมคลองสร้างเมืองนั้นส่งผลเสียมหาศาลขนาดไหน เพราะแม้ว่าไทยจะไม่ได้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแบบดัตช์ แต่เมืองไทยก็อยู่สูงกว่าน้ำทะเลแค่ 1.5 เมตร และยังทรุดตัวอีกปีละ 1-5 ซ.ม.ด้วย

ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนทำนายว่าในอีกไม่ถึงร้อยปีเมืองไทยจะอยู่ใต้น้ำหมด บางคนก็บอกเบาๆ ว่าใน 20 ปีข้างหน้าน้ำมีสิทธิ์ท่วมกรุงเทพฯ ทั้งเมืองแน่

ความจริงเมื่อหลายพันปีที่แล้ว นิวยอร์ก ซิดนีย์ และอีกหลายเมืองในโลกวันนี้ก็ไม่ใช่เมืองที่อยู่ติดทะเลอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ แต่เป็นเมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในผืนดินชนิดมองไม่เห็นทะเลเสียด้วยซ้ำ

นั่นก็แปลว่า หลายเมืองในอดีตได้จมไปอยู่ใต้น้ำเสียแล้ว และคงต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก็เป็นวัฏจักรหนึ่งของธรรมชาติ (เพียงแต่ว่ามันเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเอง)

คิดแบบนี้แล้วจะได้สบายใจขึ้นบ้าง

อินไซด์ต่างประเทศ
วิจักขณ์ ชิตรัตน์


source : http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObWIzSXdOVEl6TURjMU5BPT0=&sectionid=TURNd05nPT0=&day=TWpBeE1TMHdOeTB5TXc9PQ==

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น