วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตามรอย 'วิถีจักรยาน' ปลูกพลังรักษ์สิ่งแวดล้อม

ไม่เพียงเป็นพาหนะที่ช่วยนำพาไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวก จักรยาน ที่รู้จักคุ้นชินกันมาแต่ครั้งเยาว์วัยยังมีมนต์เสน่ห์ชวนหลงใหล พร้อมเติมต่อประสบการณ์ชีวิตอีกมากมาย!!
การขับขี่จักรยาน ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการออกกำลังกาย มีส่วนช่วยในการส่งเสริมสุขภาพ ขณะเดียวกันยังมีความโดดเด่นก็คือ ช่วยลดการใช้พลังงาน เพิ่มพูนการเรียนรู้รวมทั้งการได้สัมผัสธรรมชาติใกล้ชิด จากความต่อเนื่องของการสานต่อนโยบาย มหาวิทยาลัยสีเขียว โครงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของนักศึกษาซึ่งเอื้อต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาได้ริเริ่ม โครงการ ’วิถีจักรยาน...วิถีมหิดล“ พัฒนาระบบการจัดการจักรยานแบบครบวงจร ผลักดันมหาวิทยาลัยสู่ ต้นแบบมหาวิทยาลัยเมืองจักรยาน (Bike Friendly University) โดยได้ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาระบบจักรยานสาธารณะ สร้างศูนย์จักรยานให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้จักรยานอย่างปลอดภัย ฯลฯ ผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมจักรยานขึ้นในมหาวิทยาลัย

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี รองอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวด ล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงวิถีจักรยาน การพัฒนาระบบครบวงจรที่เกิดขึ้นว่า จากพื้นที่มหาวิทยาลัยฯ ศาลายา ซึ่งมีประมาณ 1,200 ไร่ โดยศาลายาถือได้ว่าเป็นวิทยาเขตหลักแห่งหนึ่ง จากจำนวนบุคลากรเจ้าหน้าที่ นักศึกษาที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลถึงการใช้รถยนต์ในพื้นที่มหาวิทยาลัยซึ่งไม่เพียงปัญหาด้านมลพิษหากแต่ยังมีในเรื่องพื้นที่จอดรถ อุบัติเหตุ ฯลฯ จึงมีแนวคิดลดปัญหาดังกล่าวลง

“วิถีจักรยานสิ่งนี้เกิดขึ้นในหลายมหาวิทยาลัยและเมืองใหญ่ทั่วโลกหลายเมือง ในการเริ่มขึ้นของสังคมจักรยานที่นี่ที่นำวัฒนธรรมจักรยานกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันมีมาระยะหนึ่งแล้ว และจากจุดเริ่มต้นซึ่งเล็งเห็นปัญหาในเรื่องของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น โดยเห็นได้ว่า 3 ปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเช้าของที่นี่จะมีรถติดมาก

ถนน 6 เลนคลาคล่ำไปด้วยรถยนต์เหลือเพียง 2 เลนที่รถวิ่งไป-กลับได้ ที่เหลือกลายเป็นที่จอดรถ หากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็คงจะทวีปัญหาเพิ่มขึ้นที่ผ่านมาจึงขอนโยบายจากมหาวิทยาลัยซึ่งในการดำเนินการนอกจากจะมีทางเดินเท้าแล้วยังมีเส้นทางจักรยาน โดยตลอดเส้นทางร่มรื่นด้วยร่มเงาต้นไม้สัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติได้ ซึ่งถึงวันนี้ก็มีกลุ่มนักศึกษา บุคลากรได้ร่วมกันขับเคลื่อนวิถีจักรยาน”

การใช้จักรยานเป็นพาหนะที่ศาลายาที่ผ่านมาก็มีนักศึกษาใช้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่อาจไม่ได้รับการส่งเสริมเต็มที่ การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อยู่ร่วมกับธรรมชาติสานต่อแนวคิดมหาวิทยาลัย ส่งเสริมการเกิดวัฒนธรรมจักรยานในมหาวิทยาลัย ดร.อนุชาติให้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า โครงการนี้ได้ดำเนินการพัฒนาควบคู่กันไปทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับผู้ใช้จักรยาน ให้ความรู้ในเรื่องการใช้จักรยานและการขับขี่อย่างปลอดภัย

กระตุ้นให้นักศึกษาเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมจักรยาน ทำงานร่วมกับภาคีและเครือข่าย วางแผนอย่างเป็นระบบ การขับเคลื่อนโดยการทำงานครั้งนี้เป็นการนำบทเรียนที่ผ่านมาปรับปรุงและพัฒนา อย่างเช่น การพัฒนาเส้นทางจักรยานให้มีพื้นที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ปรับเปลี่ยนระบบจักรยานสาธารณะ จักรยานสีขาวให้มีระบบสมาชิกการยืมและคืน นอกจากนี้ยังมีการเปิดศูนย์ จักก้าเซ็นเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์ซ่อมจักรยาน ขายจักรยานในรูปแบบที่ไม่หวังกำไร สร้างพื้นที่กลางในการสร้างชุมชน คนรักจักรยาน ทำกิจกรรมร่วมกัน ฯลฯ

“วิถีจักรยานฯโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ายินดีหากจะมีการร่วมมือส่งเสริมเรื่องของการใช้จักรยานให้ขยายไป ที่ผ่านมาเราศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องทั้งจากข้อมูลต่างประเทศ จากโมเดลจักรยานสีขาวฯลฯ ซึ่งการขี่จักรยานเป็นเรื่องของการเติมรายละเอียดเพิ่มสีสันให้กับชีวิต อย่างครั้งนี้ก็หวังว่าจักรยานจะเป็นสื่อให้แก่นักศึกษาได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งผู้คน ธรรมชาติ สร้างเสริมสุขภาพรวมถึงเรียนรู้ที่จะลดการใช้พลังงาน”

ขณะที่เมืองใหญ่ทั่วโลกโดยเฉพาะแถบยุโรปและอเมริกาเหนือพยายามปรับเปลี่ยนเป็นเมืองจักรยานซึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีการคาดการณ์กันว่าใน ศตวรรษที่ 21 จะกลายเป็นศตวรรษของจักรยาน เพราะท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเผชิญ จักรยานดูจะเป็นทางเลือกที่ดีและราคาถูกสุดของพาหนะที่ใช้เดินทางในเมืองใหญ่ ช่วยลดปริมาณรถยนต์สาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผศ.ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายระบบกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้เพิ่มพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์การใช้จักรยานว่า การขี่จักรยานถือได้ว่าเป็นกำไรของชีวิตเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความสัมพันธ์มนุษย์ต่อมนุษย์ได้เรียนรู้จักกัน

มหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายแห่งจากที่ศึกษาข้อมูลพบว่ามีไม่น้อยที่มีการใช้จักรยาน รณรงค์ในเรื่องของจักรยานและมีการจัดการอย่างเป็นระบบ การขี่จักรยานทำให้มองเห็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวที่ทำให้ได้เห็นรายละเอียดของชีวิตมากขึ้นซึ่งอยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัส

“จักรยานอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน แต่ที่ดูห่างหายลงไปก็คงเป็นไปตามธรรมชาติ ถนนจากเดิมที่เป็นเส้นทางสัญจรจักรยาน แต่พอมีรถยนต์เพิ่มขึ้นการขี่จักรยานก็ไม่สามารถขี่ได้อย่างปลอดภัย จากที่เคยใช้กันก็ลดลงไป แต่อย่างไรแล้วหลายพื้นที่สามารถแสดงให้เห็นว่าการขี่จักรยานสามารถเป็นทางเลือกหลักในการสัญจรได้ ซึ่งในการใช้จักรยานสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ละเลยมองข้ามไปสำหรับวินัยการใช้ท้องถนน ควรเคารพกันและกัน ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง”

การขับเคลื่อนของจักรยานพาหนะดังกล่าวนี้จึงไม่เพียงช่วยนำพาไปถึงจุดหมายปลายทาง ประโยชน์จากแรงปั่นสองล้อที่เคลื่อนที่ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ยังมีผลดีต่อสุขภาพ ช่วยเติมต่อประสบการณ์ มีความหมายร่วมดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมรอบตัว.

มหาวิทยาลัยเมืองจักรยาน

ปัจจุบันไม่เพียงเมืองใหญ่ที่หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำในโลก อาทิ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ต่างหันมาสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในการประกาศตัวเป็น มหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรกับจักรยาน (Bicycle-Friendly University) โดยพัฒนาระบบจักรยานในมหาวิทยาลัยอย่างมีคุณภาพ อาทิ การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ การให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง การสร้างเครือข่ายชุมชนจักรยาน ฯลฯ ด้วยเชื่อว่าจักรยานจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งเสริมสุขภาพมีความปลอดภัยและในเวลาเดียวกันยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ.


ทีมวาไรตี้
source : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=151560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น