วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อะไรเอ่ย…ประเทศภูฏานให้ความสำคัญที่สุด แต่พรรคการเมืองไทยไม่สนใจเลย


เมื่อบทความนี้ออกสู่สายตาท่านผู้อ่าน ท่านคงทราบผลการเลือกตั้งเรียบร้อยไปแล้ว ดีไม่ดีท่านคงจะทราบแล้วว่าพรรคใดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งพรรคร่วมด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตาม คงไม่ได้คำนึงสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับความเป็นมนุษย์

สิ่งนั้นคือ การใช้เวลาของมนุษย์ หรือ Time use

ขยายความอีกนิดหนึ่งครับ คือ ในแต่ละวัน แต่ละเดือน สิบสองเดือนในหนึ่งปี เราใช้เวลาไปทำอะไรบ้าง ไม่เพียงแต่เรื่องการทำมาหากินเพื่อส่วนตัวหรือเพื่อครอบครัวของตนเองเท่านั้น แต่รวมไปถึงว่า ในแต่ละปีเราใช้เวลาไปเพื่อสาธารณประโยชน์อะไรบ้าง ร่วมกิจกรรมใดกับชุมชนบ้าง เป็นเวลานานเท่าใด เป็นต้น

คนที่ต้องทำงานปากกัดตีนถีบแล้วยังชักหน้าไม่ถึงหลัง กับคนที่หลังเลิกงานแล้ว ได้ฟังดนตรี วาดรูป วันหยุดมีเวลาเดินเล่นในสวนสาธารณะ ย่อมมีคุณภาพชีวิตต่างกัน

ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับผมนะครับว่า ตลอดเวลาของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา ไม่มีพรรคการเมืองใดนำเรื่องนี้ออกมาหาเสียงกันเลย มีแต่จะขึ้นเงินเดือน จะแจกเงินคนแก่ แจกโน่นแยกนี่ โดยไม่บอกว่าจะเอาเงินมาจากไหน

ถ้าพูดอย่างเป็นธรรม ไม่เฉพาะแต่พรรคการเมืองเท่านั้นที่ไม่สนใจ แต่ไม่มีหน่วยราชการใดที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งใดที่ถูกคาดหวังว่าเป็นหน่วยปัญญาของชาติให้ความสนใจกับเรื่องนี้ (เท่าที่ผมทราบ) เสียด้วยซ้ำ

แต่ประเทศภูฏาน (ประเทศที่คนไทยฮือฮากันมาผ่านพระจริยวัตรที่น่ารักของเจ้าชายจิกมี-ในขณะนั้น) ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยการใช้เวลามากที่สุด

กราฟวงกลมข้างบนเป็นปัจจัยสำคัญ 9 อย่าง (หรือ 9 โดเมน) ที่เป็นองค์ประกอบของ “ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness Index)” พร้อมระบุน้ำหนักเป็นร้อยละเรียบร้อย

โดเมนที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือ การใช้เวลา (13%)

โดเมนที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 มี 4 โดเมนซึ่งมีน้ำหนักเท่ากันอย่างละ 12% คือ ความมีธรรมาภิบาลของรัฐ (Good governance) สุขภาพ (เช่น ความมีอายุยืนอย่างมีความสุข) วัฒนธรรม (เช่น ความสัมพันธ์ในเครือญาติ การออกปากกินวาน) และ ความเข้มแข็งกระปรี้กระเปร่าของชุมชน (Community vitality)

ความมีธรรมาภิบาลของรัฐ ขององค์กรปกครองท้องถิ่น ตลอดถึงการตรวจสอบได้ การปลอดจากการคอร์รัปชัน ความเป็นประชาธิปไตย การได้รับการบริการที่ดีจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นองค์ประกอบของความสุขมวลรวมอย่างไม่ต้องสงสัย

เรื่องง่ายๆ ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ แต่ได้สร้างความทุกข์และเสียเวลาของประชาชนไม่น้อยก็คือ การโกงเรื่องการทำบัตรประชาชนที่ทำให้หลายคน (รวมทั้งผมด้วย) ต้องไปติดต่อถึง 4-5 กว่าจะได้รับบัตร

เราไม่ได้ยินเรื่องแบบนี้จากนักการเมืองเลยใช่ไหมครับ

โดเมนที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 6 ถึง 8 มีน้ำหนักไล่เลี่ยกันคือ มาตรฐานการครองชีพ (11%) จิตใจที่มีสุขภาวะที่ดี (11%) และอันดับที่ 8 ความสมดุลของระบบนิเวศ 10%

ที่น่าแปลกที่สุดในสายตาของคนไทยคือ การศึกษา (ที่คนไทยให้ความสำคัญอย่างมาก แต่รัฐก็ตอบสนองได้อย่างล้มเหลวสุดๆ) มีความสำคัญน้อยที่สุดในบรรดาโดเมนทั้ง 9 คือมีน้ำหนักแค่ 7% เท่านั้น

เรื่อง GNH Index ที่ผมนำมาเล่าทั้งหมดมาจากการได้ฟังคำบรรยายของ Dasho Karma Ura ประธานศูนย์ภูฏานศึกษา ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปลายปี 2552 ท่านที่สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ในรูปข้างล่างนี้
ในเว็บไซต์ของศูนย์แห่งนี้มีเอกสารที่เกี่ยวกับรายละเอียดครบทุกโดเมน พร้อมทั้งแบบสอบถามและวิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์เพื่อหาดัชนี ผมเข้าไปอ่านดูหลายครั้งแล้วน่าสนใจมากครับ

ถ้าผมจำไม่ผิดทั้งหมดมี 72 คำถาม หลังจากคำนวณแล้ว ผลลัพธ์ออกมาเป็นตัวเลข ตั้งแต่ 0.0 ถึง 1.0 ถ้าได้ 0.7 ก็เท่ากับมีดัชนีความสุขเท่ากับ 70%

ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมไม่สามารถเข้าอินเทอร์เน็ตได้ แต่พอจำได้บ้าง เช่น ในโดเมนเกี่ยวกับนิเวศวิทยา มีคำถามว่า ในบริเวณชุมชนของท่านมีพืชและสัตว์กี่ชนิดอะไรบ้าง ในโดเมนวัฒนธรรม “จงบอกชื่อทวดทั้ง 8 ของท่าน”

แน่นอนละ คนเราหลายคนอาจจะไม่เคยเห็นหน้าทวดของตนครบทุกท่าน แต่ครอบครัวที่มีวัฒนธรรมเข้มแข็งก็ย่อมมีการเล่าขานถึงลูก หลาน เหลน โหลน เป็นต้น

ที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่ง คือ ไม่มีการวัดรายได้หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) อย่างที่ประเทศส่วนมากในโลกยึดถือกันเลย

แต่ตัวรายได้ที่เป็นตัวเงินก็ไปแฝงอยู่ในโดเมนอื่นเรียบร้อยแล้ว เช่น การใช้เวลาไปทำอะไร การมีมาตรฐานการครองชีพ เป็นต้น

ที่สำคัญกว่านั้น การวัดจีดีพีเฉลี่ย ทำให้ตัวเลขเพี้ยนไปจากความจริง เช่น คนหนึ่งมีรายได้ปีละ 1 ล้านบาท ที่เหลืออีก 9 คนไม่มีรายได้เลย เมื่อเฉลี่ยออกมาว่า รายได้เฉลี่ยของคน 10 คนนี้เท่ากับ 1 แสนบาท แล้วเราก็มานั่งภูมิใจกับตัวเลขจอมปลอม

ผมเคยเปรียบเทียบการวัดอุณหภูมิร่างกายของคนเรา ถ้าขาข้างหนึ่งแช่ในน้ำแข็ง และขาอีกข้างหนึ่งแช่น้ำเดือด ผลลัพธ์อุณหภูมิเฉลี่ยของคนนี้ปกติครับ แล้วสรุปว่าคนนี้มีความสุขดี กระนั้นหรือ!

ผมทราบว่า นับจากการเสด็จเยือนไทยของเจ้าชายจิกมีเมื่อปี 2549 ข้าราชการและนักวิชาการไทยนิยมเดินทางไปดูงานที่ประเทศภูฏานกันเป็นจำนวนมาก แต่ผมก็ไม่ค่อยได้เห็นผลงานจากการไปดูงานในประเด็นนี้เลย

อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่เคยไปดูงานท่านหนึ่งได้เล่าให้ผมฟังว่า “ขณะนี้ประเทศภูฏานมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งไปจำหน่ายให้ประเทศอินเดีย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก”

ขอความกรุณาท่านที่มีประสบการณ์ตรง มีความรู้โปรดช่วยกันเติมเต็มเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ด้วยครับ เราทุกคนเชื่อในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศของเราไปสู่เป้าหมายที่ถูกที่ควร

อ้อ ว่าแต่ว่าเป้าหมายร่วมของประเทศเราคืออะไรครับ เราตกลงร่วมกันแล้วหรือยัง?

source : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000081305

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น