วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"กังหันลมผลิตไฟฟ้า"พลังงานเพื่อโลกสีเขียว สะอาด-ใช้ฟรี-ไม่มีวันหมด-ลดก๊าซคาร์บอนฯ

ในแต่ละปีประชากรโลก ใช้พลังงานกันอย่างมหาศาล โดยพลังงานบางอย่างก็เป็น ทรัพยา กร ที่ใช้ไปแล้วก็หมดไป บางอย่างก็ต้องแลกมาด้วยเงินจำนวนมากมาย

ประชากรยิ่งมาก ปริมาณความต้องการใช้พลังงานก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย จนบางครั้งก็ดูเหมือนว่า การเสาะหาพลังงานจะไม่ทันต่อความต้องการของมนุษย์

เมื่อแหล่งพลังงานเริ่มหาได้ยากขึ้น มนุษย์จึงต้องคิดค้นหาทางใช้พลังงานที่ใช้ต้นทุนน้อย และมีให้ใช้อย่างมากมายไม่รู้จักจบสิ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ ที่ไม่มีทางจบสิ้นเช่นกัน

และพลังงานที่มนุษย์พบว่า เหมาะสมที่สุด ก็คือ พลังงานจากธรรมชาติ

โดยหนึ่งในพลังงานธรรมชาติ ที่มนุษย์นำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในหลายๆ ประเทศ ก็คือ "พลังงานลม"

พลังงานธรรมชาติชนิดนี้ เป็นพลังงานที่สะอาดและบริสุทธิ์ ที่สำคัญใช้ได้แบบไม่มีวันหมด ที่ผ่านมามีการนำไปใช้ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการสูบน้ำ

โดยการใช้พลังงานลมนั้น ต้องมีสิ่งสำคัญที่จะใช้แปรสายลม ให้กลายมาเป็นพลังงาน ซึ่งนั่นก็คือ "กังหันลม"

กังหันลมมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ตามลักษณะการวางตัวของแกนหมุน คือ แบบแกนนอน ที่มีแกนหมุนขนานกับทิศทางของกระแสลม และแบบแกนตั้ง ที่มีแกนหมุนตั้งฉากกับทิศทางของกระแสลม และตั้งฉากกับพื้นผิวโลก

ส่วนประกอบที่สำคัญของกังหันลม ประกอบไปด้วย ใบกังหัน, ระบบควบคุม, แกนคอหมุน, เครื่องกำเนิดไฟฟ้า , หางกังหัน และ เสา

สำหรับในประเทศไทยนั้น มีหน่วยงานที่สนับสนุนในเรื่องของพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อโลกเช่นกัน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ บริษัทแคนนอน มาร์เก็ตติ้ง(ไทยแลนด์)จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้ปรัชญา เคียวเซ (Kyosei) ซึ่งหมายถึงการพัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคงไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์โลก และความสุขของมวลมนุษย์

โดยพลังงานสะอาดที่แคนนอน เลือกให้การสนับสนุนในประเทศไทย ได้แก่ "กังหันลมผลิตไฟฟ้า" โดยเหตุผลที่แคนนอน เลือกทำโครงการนี้เป็นเพราะพลังงานลม เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ในปัจจุบันและอนาคต ข้อดีคือ เป็นพลังงานสะอาด ไม่ทิ้งกากและมลภาวะ ใช้ได้ไม่มีวันหมด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อหา มีระยะเวลาการให้พลังงานถึง 15-20 ชั่วโมงในหนึ่งวัน

นอกจากนี้ กังหันลมที่นำมาใช้ในโครงการเป็นเทคโนโลยีของคนไทย ที่ได้รับการพัฒนาโดยกลุ่มกังหันลมผลิตไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นงานวิจัยของนักวิชาการไทย ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนและเผยแพร่ ที่สำคัญมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ไม่แพง

โครงการดังกล่าวมีชื่อว่า "พลังงานสีขาว เพื่อโลกสีเขียว" เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2551 ซึ่งทางแคนนอน ได้นำกังหันลมผลิตไฟฟ้าไปติดตั้งให้โรงเรียนตามชนบทต่างๆ เพื่อนำศักยภาพของพลังงานลมตามธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า โดยที่ผ่านมาได้ส่งมอบและติดตั้งให้กับโรงเรียนต่างๆ ไปแล้ว 20 โรงเรียน และมีเป้าหมายที่จะติดตั้งให้ได้ตามเป้าคือ 26 โรงเรียน ภายในปี พ.ศ.2554 ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล 84 พรรษา และยังเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้แก่ครูและนักเรียนในชนบทอันห่างไกล รวมถึงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ส่วนแนวทางในการคัดเลือกโรงเรียนสำหรับติดตั้งกังหันลมนั้น จะพิจารณาจากโรงเรียนที่กำลังพัฒนา มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เหมาะสมในการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า โดยจะต้องมีกำลังลมแรงพอเหมาะ โรงเรียนจะต้องมีบริเวณกว้างขวาง ไม่มีอาคารเรียนบดบังทิศทางลม กำลังไฟฟ้าที่ใช้สอดคล้องกับปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม 1 กิโลวัตต์ ซึ่งพลังไฟฟ้าจากกังหันลมจะนำไปใช้ในห้องสมุดของโรงเรียน

สำหรับโรงเรียนล่าสุด ที่ได้รับการติดตั้งกังหันลมประหยัดพลังงาน เป็นแห่งที่ 20 คือ โรงเรียนบ้านสองคอน ที่ตั้งอยู่ใน ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่อยู่สุดขอบประเทศไทย มีระยะห่างจากโรงเรียนถึงอำเภอ 17 กิโลเมตร ระยะห่างจากโรงเรียนถึงจังหวัด 111 กิโลเมตร และอยู่ติดแนวแม่น้ำโขง

แต่ก็ไม่ไกลเกินกว่าที่ นายวาตารุ นิชิโอกะ ประธานบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จะพาพนักงาน และคณะสื่อมวลชนไปร่วมสังเกตุการณ์การส่งมอบกังหันลมผลิตไฟฟ้าในครั้งนี้

สำหรับโครงการดังกล่าวจะช่วยให้โรงเรียนประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 6,000 บาท (คำนวณจากค่ากระแสไฟฟ้ายูนิตละ 4 บาท) ซึ่งก็ไม่ได้มากมายอะไร แต่สิ่งเจ้าของโครงการมุ่งหวังมากกว่าเงินก็คือ การช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเรือนกระจก และทำให้โลกร้อน

จากข้อมูลขององค์กรพลังงานของสหรัฐอเมริกา กระทรวงพลังงานของแคนาดา หน่วยเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักร และหน่วยงานภาครัฐในออสเตรเลีย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.carbonify.com คำนวณการใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าในระยะเวลา 1 ปี ว่า กังหันลมผลิตไฟฟ้า 1 ตัว สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1,440 กิโลวัตต์(ยูนิต) ดังนั้น กังหันลมผลิตไฟฟ้า 26 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนเป้าหมายที่แคนนอนมอบให้โรงเรียนในประเทศไทย จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าได้ 37,440 กิโลวัตต์ หรือ 37,440 ยูนิตต่อปี จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 28 ตันต่อปี

สำหรับกระแสลมในประเทศไทยมีความเร็วเฉลี่ยที่ 4 เมตรต่อวินาที และจะมีกระแสลมโดยเฉลี่ย 20 ชั่วโมงต่อวัน กังหันลม 1 ตัว สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 200 วัตต์ต่อชั่วโมง ในเวลา 20 ชั่วโมง จะผลิตได้ 4,000 วัตต์ หรือ 4 กิโลวัตต์ ซึ่งหมายถึงผลิตได้วันละ 4 ยูนิต

หลักการทำงานโดยย่อของกังหันลมผลิตไฟฟ้าคือ ต้องการความเร็วลมที่ 2.5 เมตรต่อวินาที เป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า 1,000 วัตต์ จากนั้นจะสะสมไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ และส่งต่อไปที่เครื่องแปรกระแสไฟฟ้าจะกระแสตรงเป็นกระแสสลับ และจ่ายให้เครื่อง ใช้ไฟฟ้าในบ้านทั่วไป

ต้องยอมรับว่า หากดูกันแค่ตัวเลขที่ได้จากการประหยัดค่าไฟในแต่ละปีนั้น จะเห็นว่ามีจำนวนน้อยมาก จนเกิดคำถามว่า คุ้มค่าหรือไม่กับค่าใช้จ่ายในตัวกังหันลมที่มีสนนราคาตัวละประมาณ 6 แสนบาท แต่สิ่งที่จะตอบได้อย่างชัดเจนว่า "คุ้มค่า" ก็คือการช่วยลดมลภาวะให้โลก ด้วยการใช้พลังงานที่สะอาด เพราะเราจะต้องอยู่กันไปอีกนานบนโลกใบนี้

และทางแคนนอน ก็ยินดีที่จะเห็นการดำเนินโครงการนี้ กลายเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติ และคงจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ หากบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจทั่วโลก เล็ง เห็นความสำคัญของการอยู่กับโลกด้วยความเป็นมิตร และช่วยกันคิด ช่วยกันทำโครงการต่างๆ เพื่อโลกของเรา


มนเทียร พานทอง
SCOOP@NAEWNA.COM
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น