วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิกฤติ'พลังงานไฟฟ้า'ทางเลือก-ทางรอด ไทยจะไปทางไหน...(1)

จะว่าไป พลังงานนิวเคลียร์นั้นเอามาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีสุด ๆ เพราะมีต้นทุนถูกมาก และมีความเสถียรมากกว่าทุกพลังงานด้วย แต่นั่นล่ะ หลังเกิดวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ ฟูกูชิมา ไดอิจิ ถูกแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม จนโรงไฟฟ้าของบริษัทเทปโก้อันเป็นเอกชนที่ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่สุดของญี่ปุ่นแทบล้มทั้งยืนในตอนนี้ ได้ก่อเกิดความเสียหายมหาศาล มีการรั่วไหลของรังสีปรมาณูปนเปื้อนไปกับอากาศและน้ำทะเล

กลายเป็นหายนะบัดดล

หนทางที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกจะหันมาใช้นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าแทบจะถูกปิดในทันที มีการประท้วงคัดค้านนิวเคลียร์ไปทั่วโลก แม้ในญี่ปุ่นที่ใช้นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว รัฐบาลนายกฯ นาโอโตะ คัง ต้องประกาศจะทบทวนการใช้นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าใน 6 เดือน จะออกหมู่หรือจ่า รู้กันอีกไม่นานนี้

ประเทศไทยที่เงื้อง่าศึกษาจะใช้นิวเคลียร์มาหลายสิบปี ขอฟันธงเลยว่าใน 20-30 ปีนี้ไม่ต้องมาพูดถึงเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ระคายหูหรอก ไม่มีวัน และไม่มีทางเกิดได้แน่นอน ถ้าไทยไม่มีเศรษฐกิจโตขนาดนี้ ไม่มีอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นพลังขับเคลื่อนขนาดนี้ ไฟฟ้าจะขาดแคลน ผลิตไม่พอใช้หรือไฟจะดับ ๆ ติด ๆ ก็คงไม่กระไร และถ้าไทยเป็นประเทศร่ำรวยมีเงินจ่ายได้ไม่อั้น จะใช้อะไรมาผลิตไฟฟ้าแล้วต้นทุนเพิ่มเท่าไหร่ ประชาชนก็ควักจ่ายได้เพิ่มมากเท่านั้น ก็จบข่าวกัน แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่สุดของชาติ ไม่พ้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากเกิดวิกฤติไฟฟ้าไม่พอใช้หรือค่าไฟเกิดแพงหูฉี่ขึ้นมา มีหวัง กฟผ. จะอยู่ไม่ได้ การหา ทางรอด-ทางเลือก รับมือ จึงเกิดขึ้น

เมื่อนิวเคลียร์ปิดประตูใส่ พลังงานที่เหลือจะใช้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นเนื้อเป็นหนังก็มี ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน น้ำ และที่ฮิตสุดยอดเป็นพลังงานทางเลือก คือ สายลม กับแสงแดด ไม่นับพลังงานชีวมวล มูลสัตว์ ขยะ เศษไม้ที่ใช้ได้จำกัดมาก หรือการซื้อไฟจากเพื่อนบ้าน ดังนั้น แผนการพาสื่อมวลชนไปดูโรงไฟฟ้าในยุโรป เช่น เยอรมนี หรือฝรั่งเศส ที่เจริญก้าวหน้าในเรื่องเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมมาก ๆ จึงเกิดขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน และใช้พลังทางเลือกอย่างสายลมและแสงแดด ให้เห็นกับตา

คณะของ กฟผ.ที่ประกอบด้วยท่าน ธวัช วัจนะพรสิทธิ์ รองผู้ว่าการ กฟผ., พงษ์ดิษฐ พจนา ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม, รัตนชัย นามวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า ร่วมกับทีมพีอาร์ไฟแรง อุดมพร อติเวทิน, ศิริลักษ์ ศรีมณฑล และ นุวดี ทองชิต ร่วมกันประสานงานทำให้การดูงานคุ้มค่า คุ้มเวลา เพราะจัดหนักสุด ๆ เปลี่ยนที่นอนทุกวัน ไม่ต้องจัดกระเป๋าให้เสียเวลา แต่ละที่เดินทางเป็นร้อย ๆ กิโลเมตรขึ้นไปทั้งนั้น !?!

ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ไปดู โรงไฟฟ้าพลังงานลม ที่ ดอร์ฟสตราส เยอรมนี ห่างฮัมบูร์กเกือบ 200 กิโลฯ ก็ตื่นตาตื่นใจกับกังหันลมยักษ์ปักเป็นทิวแถวสุดลูกตาที่เขาใช้ปั่นกระแสไฟฟ้า (เครื่องผลิตไฟฟ้าฝังใต้ดินลึกเกือบ 2 เมตร) เห็นแล้วอยากได้มั่ง มันเป็นพลังงานในฝันของคนทั่วโลก สะอาดหมดจด มีตามธรรมชาติ

ที่ยุโรปนั้น จากข้อมูลพลังลมโดยทั่ว ๆ ไปมีประสิทธิภาพสูงมาก เอามาใช้ได้ถึง 40% ทั้งปี เพราะอุณหภูมิของเขาแตกต่างกันมาก ความเร็วลม 7.5-8.5 เมตรต่อวินาที และบริษัทไฟฟ้าก็แบ่งผลประโยชน์กับชาวบ้านที่ให้เช่าที่ตั้งกังหันลม 3% ของรายได้จากการขายไฟทั้งหมด ซึ่ง 3% ที่ว่านั้น 2 ใน 3 เป็นของเจ้าของที่จริง ๆ ส่วนเจ้าของที่ข้าง ๆ ที่รัศมีกังหันแผ่ไปบรรจบได้ 1 ใน 3 ไป ถือว่าแฟร์ดี ชาวบ้านก็ปลูกพืชผักหรือเลี้ยงสัตว์ได้ตามปกติ เพียงแต่มีรายได้เพิ่มอีกต่อ สุขกันถ้วนหน้า น่าทำตาม

ยังมีพลังลมจากทะเลที่มีคุณภาพดีกว่า แต่ไปตั้งกังหันในทะเล การดูแลรักษาย่อมยากกว่าหลายเท่า ดีไม่ดีลมแรงจัด กังหันก็หักเอาได้ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากลมทะเลเลยแพงกว่าลมบนบกเป็นเงาตามตัวด้วย แต่ทำได้ก็ดีสุด ๆ อีกแหละ ถ้ามีสตางค์

แต่จากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ไทยอยู่ในเส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิไม่ต่างกันมาก ความเร็วลมเฉลี่ยแค่ 3 เมตรต่อวินาที เหนืออื่นใด พลังลมที่จะดึงมาใช้ก็อยู่ในภูเขาสูง ๆ อีกด้วย และใช่ว่าไปดึงลมมาใช้ได้ทุกที่เมื่อไหร่เล่า ใช้ได้วันละ 3-4 ชั่วโมง ที่มีตอนนี้ก็มีแค่โรงไฟฟ้าพลังลมที่ลำตะคอง นครราชสีมา แห่งเดียว อยู่ระหว่างทดลอง...ว่างั้นเถอะ

เหนืออื่นใด จากตัวเลขต้นทุนการผลิตไฟฟ้านั้น นิวเคลียร์มีต้นทุนต่อหน่วยเกือบถูกสุด คือ 2.46 บาท ก๊าซธรรมชาติ 2.88 บาท, ถ่านหิน 2.56 บาท ขณะที่พลังลมอยู่ที่ 6 บาทต่อหน่วย, แสงแดด 10-13 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติ 2.88 บาทต่อหน่วย และเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตไฟฟ้าถึง 68.1% ในปัจจุบัน แต่จะใช้ได้อีก 15-20 ปีเท่านั้น!!!

แค่ต้นทุนลม ก็แพงกว่าเท่าตัวแล้ว

นั่นหมายความว่า ราคาค่าไฟจะต้องเพิ่มจากปัจจุบันมากกว่า สองเท่าด้วย แล้วจะยอมรับกันได้หรือไม่ ที่เยอรมนี ฝรั่งเศส ไม่มีปัญหา คนมีเงินพร้อมจ่ายแพงกว่าทุกเมื่อ ของไทยขืนค่าไฟแพงขึ้น สองเท่า อย่าว่าแต่ กฟผ.จะอยู่ไม่ได้เลย รัฐบาลชุดไหนก็ไปไม่รอดอยู่แล้ว พลังลมในตอนนี้ จึงเป็นแค่ทางเลือก...

มิใช่ทางรอด...แต่อย่างใด.


source : http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=23&contentID=152119

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น