วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Regenerative Cities: เมืองแบบหางจิ้งจก

โดย ประสาท มีแต้ม

ขณะที่ผมกำลังคิดหาคำแปลของ “Regenerative Cities” อย่างหนักใจ พอดีจิ้งจกธรรมดาๆ คลานผ่านมา ไม่ใช่นกแสงตะวันและไม่ได้ส่งเสียงเจรจาตามเนื้อเพลง “กระต่ายกับเต่า” ของวงคาราวาน แต่มันทำให้ผมคิดได้ ผมจึงตัดสินใจทันที เพราะเชื่อว่าคนไทยเราที่ผ่านระบบโรงเรียนคงเข้าใจเรื่องการงอกใหม่ของหางจิ้งจกดี

เมื่อหางจิ้งจกถูกตัดขาด ไม่นานนักมันก็กลับงอกออกมาใหม่ได้ กระบวนการทางชีววิทยาภายในตัวจิ้งจกได้จัดสรรสารอาหารที่ใช้ในสถานการณ์ปกติมาสร้างหางขึ้นมาใหม่ แม้รูปร่างจะไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว แต่ก็สามารถใช้งานได้เหมือนเดิม ปรากฏการณ์เช่นนี้เขาเรียกว่า “regenerate” หรือ “สร้างขึ้นมาใหม่”

เมืองแบบหางจิ้งจกหรือ Regenerative Cities เป็นเมืองที่มีกระบวนการภายในที่สามารถผลิตสิ่งที่จำเป็นเพื่อทดแทน “อวัยวะ” หรือสิ่งที่ขาดหายไปได้ เช่น นำขยะ น้ำเสีย เศษอาหารที่ก่อปัญหาสารพัดให้กับตัวเมือง มาผลิตไฟฟ้า ปุ๋ย รวมไปถึงการผลิตพืชอาหาร พลังงาน และสินค้าเพื่อบริโภคกันภายในเมืองเองด้วย

เราจะเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนขึ้นเมื่อได้ดูภาพประกอบ ซึ่งมาจากเอกสารที่ชื่อ Regenerative Cities โดย Herbert Girardet ในนามของ “สภาเพื่ออนาคตโลก- World Future Council” ผมจะค่อยๆ ขยายความครับ

แนวคิดนี้แม้ไม่ใช่เป็นแนวคิดใหม่ แต่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากๆ เพราะเมืองทั่วโลกกำลังเป็นปัญหาทั้งต่อชาวเมืองเองและชาวชานเมืองด้วย รวมไปถึงชาวชนบทและชาวโลกทั้งมวล มันเป็นประเด็นที่องค์การสหประชาติกำลังให้ความสำคัญและศึกษาหาวิธีการอยู่

เรามาทำความเข้าใจกับภาพบนซึ่งแทนสภาพของเมืองส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ลูกศรทางซ้ายมือแสดงการนำเข้าอาหาร พลังงาน และสินค้าเพื่อตอบสนองการบริโภคในเมือง ชนิดของพลังงานก็เป็นถ่านหิน น้ำมัน และพลังงานนิวเคลียร์ โปรดสังเกตขนาดของลูกศรนำเข้าด้วยว่ามีขนาดใหญ่โตกว่ารูปล่างซึ่งแทนสภาพเมืองแบบหางจิ้งจกเยอะเลย ขนาดของลูกศรนำออกก็มีขนาดใหญ่โตเช่นเดียวกับลูกศรนำเข้า
เมื่อคนเมืองบริโภคเสร็จแล้ว ก็ส่งของเสียหรือเศษเหลือที่เป็นอินทรีย์วัตถุเพื่อนำไปทิ้งให้ไกลไปจากตัวเมือง (Hinterland) ทั้งในรูปของการฝังกลบ เทลงลำคลอง ทะเล และของเสียในรูปสารอนินทรีย์ สารโลหะหนัก รวมทั้งในรูปของอากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น

ในที่สุดพื้นที่ทิ้งของเสียเหล่านั้นตลอดจนสภาพภูมิอากาศโลกไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไป ส่งผลให้คนในชานเมืองและชนบทได้รับอากาศที่เน่าเหม็น พื้นที่การเกษตร แหล่งอาศัยของกุ้ง หอย ปู ปลาซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหารและรายได้ของชาวชนบทถูกทำลาย จนกลายเป็นความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขณะเดียวกันคนเมืองที่ขยะยังไม่ถูกจัดการอย่างสมบูรณ์ก็กลายเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์นำโรค เช่น หนู แมลงสาบ เป็นต้น

ผมเองและเพื่อนร่วมงานนับร้อยคนมีประสบการณ์ตรงที่เจ็บปวดกับเรื่องนี้ เราซื้อที่ดินเงินผ่อนเมื่อแรกเข้าทำงาน 35 ปีมาแล้ว (ขณะนั้นเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 1,640 บาท) ปัจจุบันบริเวณใกล้ๆ ที่ดินแปลงนี้ก็กลายเป็นที่ทิ้งขยะกองมหึมาของเทศบาลเฉยเลย

เปลี่ยนอารมณ์กลับมาดูภาพล่างซึ่งแทนสภาพเมืองแบบหางจิ้งจกกันบ้าง โปรดสังเกตว่า ลูกศรนำเข้าอาหาร พลังงานและสินค้ามีขนาดเล็กลงมาก ซึ่งหมายความว่าปริมาณเหล่านี้ลดลงเพราะมีการผลิตเกิดขึ้นภายในตัวเมืองเอง

พลังงานที่นำเข้าก็เป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ภายในตัวเมืองก็มีการนำ “ของเสีย” ที่เป็นอินทรีย์วัตถุกลับมาใช้ใหม่ เช่น นำน้ำเสียมาผลิตไฟฟ้า ขยะที่เป็นวัตถุอื่นๆ เช่น กระดาษ กระป๋อง ก็นำกลับมารีไซเคิล

ลูกศรนำออกก็มีขนาดเล็กลงอย่างมาก เพราะได้มีการนำไปใช้ในเมืองเพื่อทดแทน “อวัยวะ” หรือสิ่งที่หายไป และโปรดสังเกตอีกนิดว่าพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองก็ไม่ได้รับอันตรายเพราะระบบนิเวศของมันยังคงดำเนินไปได้อย่างปกติตามธรรมชาติ

ผมเคยเขียนใน “โลกที่ซับซ้อน” แล้วว่า ของเสียจากวัว 30 ตัวในโรงฆ่าสัตว์ของประเทศสวีเดน สามารถนำไปทำไบโอแก๊สเพื่อป้อนรถไฟได้ 2 ตู้ให้แล่นได้ไกลถึง 75 กิโลเมตร รถเมล์ 800 คันก็ขับเคลื่อนด้วยพลังไบโอแก๊ส ในขณะที่บ้านเราจะเอารถเมล์เอ็นจีวีสี่พันคัน เพื่อมาเพิ่มของเสียให้กับเมือง

ผมไม่มีข้อมูลเหล่านี้ในประเทศไทยอยู่ในมือ ทราบแต่ว่าต่างก็อยู่ในอาการสาหัส ขยะเมืองนับหลายพันตันต่อวันที่เพิ่มเข้ามายังไม่รู้ว่าอีกกี่ร้อยชาติจึงจะจัดการได้หมด

ขอกลับมาที่ภาพรวมระดับโลกอีกครั้ง รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมาหรือในช่วง 10 ปีมานี้ มนุษยชาติได้กลายเป็น “เผ่าพันธุ์คนเมือง” อย่างชัดเจนแล้ว

ใน 5 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 จำนวนคนเมืองทั่วโลกมีถึงร้อยละ 49 ของทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่าในเร็วๆ นี้อัตราการเพิ่มของประชากรเมืองจะเป็นสองเท่าของอัตราการเพิ่มของประชากรในชนบท

ถ้าแบ่งการพัฒนาของประเทศต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับ คือ ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และประเทศพัฒนาสูงสุด พบว่าผลิตภัณฑ์ประชาชาติ (GNP) ของคนเมืองในแต่ละระดับมีถึง 55%, 73% และ 85% ตามลำดับ ตัวเลขดังกล่าวได้สะท้อนปัญหาการใช้ทรัพยากรของกลุ่มคนในแต่ละประเทศได้พอสมควร

ในประเทศไทยเราเอง ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมากที่สุดในเอเชีย ระหว่างเมืองกับชนบทก็คงจะทำนองเดียวกัน ผมไม่ได้ติดตามนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังรณรงค์เลือกตั้งกันอยู่อย่างละเอียด แต่ผมเชื่อว่าไม่มีพรรคใดเลยที่สนใจอย่างจริงจังกับเรื่องการสร้างเมืองแบบหางจิ้งจกซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากอย่างที่กล่าวมาแล้ว

source : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000062327

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น