วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แพงก็ต้องเลือก

โดย  มนูญ ศิริวรรณ


วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นทำให้กระแสต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พลิกกลับมาเป็นฝ่ายรุกไล่การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปทั่วโลก ในประเทศไทยก็เช่นกัน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ได้มีมติตัดสินใจเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี เพื่อศึกษาให้เกิดความมั่นใจและวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ตลอดจนทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการโรงฟ้านิวเคลียร์ต่อไปหรือไม่

 คำถามก็คือระหว่างที่เราชะลอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี เราจะมีโรงไฟฟ้าอะไรมาทดแทนกำลังการผลิตที่จะขาดหายไป ซึ่งคำตอบจากกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯดูจะกลับไปที่การใช้ก๊าซมากขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมทั้งการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผมไม่เห็นด้วยทั้ง 2 กรณีเพราะเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไปแล้ว และไม่ควรเอาความมั่นคงด้านพลังงานไปฝากไว้กับประเทศเพื่อนบ้านมากไปกว่านี้ (ดูกรณีกัมพูชาเป็นตัวอย่าง)

 ในความเห็นของผม ถ้าเราชะลอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป รัฐบาลน่าจะหันมาทุ่มเทให้กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่บ้านเรามีศักยภาพสูงมาก จริงอยู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีต้นทุนต่อหน่วยสูง และยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในปริมาณมากๆ เหมือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานชนิดอื่นๆ ได้ แต่เทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็กำลังพัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะมีต้นทุนที่ถูกลงในที่สุดตามการขยายตัวของโรงไฟฟ้าชนิดนี้ ซึ่งจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยล่าสุดได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขนาด 392 MW (Megawatt) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Bright Source Energy มูลค่าโครงการ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (57,000 ล้านบาท) กำหนดแล้วเสร็จในปี 2556 นี้

 สำหรับประเทศไทยก็ได้มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ยื่นขอต่อกระทรวงพลังงานมากมายจนเกินกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2010) ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุนโดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯรับซื้อไฟฟ้าโดยให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อ (Adder) สูงถึงหน่วยละ 8 บาท (ตอนหลังลดลงเหลือหน่วยละ 6.50 บาท) ทำให้มีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าสูงถึง 3 GW (Gigawatt) สูงกว่าเป้าหมายในแผนถึง 6 เท่าตัว โดยโครงการใหญ่ๆ ในประเทศนอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกฟผ. ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน โดยโรงฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในปีที่ผ่านมาน่าจะได้แก่ Yanhee Solar Park ขนาด 3MW ซึ่งตั้งอยู่ที่อยุธยา โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะป้อนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 1,971 ตันต่อปีเลยทีเดียว โดยโรงงานแห่งนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากบริษัท Conergy ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจากเยอรมนีที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบพลังงานแสงอาทิตย์

 นอกจากนั้นยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่บางปะอินซึ่งกำลังก่อสร้างและมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มในเฟส 2 อีก 32 MW มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ฯ ขนาด 2.4 MW ที่ลพบุรี ซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1,860 ตันต่อปี

 สำหรับข้อด้อยของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อาจผลิตไฟฟ้าได้ไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งวัน หรือในช่วงที่มีเมฆครึ้มนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์อย่างนาย Alexander Lenz ซึ่งเป็นประธานกรรมการของบริษัท Conergy ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดในแบบ Photovoltaic (PV) Cell หรือการจัดวางแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Panel) ทำให้สามารถรับแสงอาทิตย์และผลิตไฟฟ้าตลอดจนเก็บไฟฟ้าไว้ได้ แม้แต่ในวันที่มีเมฆมากอย่างเช่นในฤดูฝน จึงมีไฟใช้ได้ตลอดปีในลักษณะของพลังงานเสริมเพิ่มเติมจากพลังงานหลักที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

 ดังนั้นพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ดูจะเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ถ้าเราต้องเลื่อนวาระของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป

 ข้อด้อยของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คงจะมีอยู่อย่างเดียว คือราคาต้นทุนต่อหน่วยที่ค่อนข้างแพง แต่ถ้าเราคิดว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าประเภทนี้เป็นพลังงานสีเขียว (Green Energy) ซึ่งช่วยลดภาวะโลกร้อน และช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล รัฐบาลก็ควรส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ให้เกิดขึ้นในบ้านเรา ส่วนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนรับซื้อที่สูงขึ้นนั้น ถ้าจำเป็นจะต้องมีการอุดหนุน ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นการเหมาะสมกว่าเอาเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล หรือเอาไปตรึงค่า FT เสียอีก เพราะเป็นการอุดหนุนเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในอนาคต และเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าของคนไทยและของโลกครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,636 19-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น