วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ขุด 'ทอง' จากกองขยะ

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

ถอดบทเรียนระบบจัดการแบบบ้านๆ ที่นอกจากจะพลิก "วิกฤติชุมชน" ให้เป็น "ขุมทอง" จากกองขยะและสิ่งปฏิกูล

จะอดีตถุงใส่ของ จานรองผลไม้ หรือกล่องของขวัญ หลังหมดภารกิจ สารพัดสิ่งมักถูกเขี่ยทิ้ง เป็น "ขยะ" ทันที

หรือสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือน และระบบปศุสัตว์ที่มักตกเป็นภาระของท้องที่ในการหาที่ทางจัดเก็บและกำจัด
งัดเอาสถิติในห้องเล็คเชอร์มาขึ้นกระดาน หรือตัวเลขผลวิจัยมากางดู ใครๆ ก็รู้ว่า สิ่งเหล่านี้ ก่อปัญหาในชีวิตประจำวันของคนเรามากแค่ไหน

สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ก็คือ ประเทศไทย มีขยะมูลฝอยกว่า 14.4 ล้านตัน เฉลี่ย 39,240 ตันต่อวัน ที่มีทั้งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) 3.19 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับฮ่องกง (36 เปอร์เซ็นต์) สิงคโปร์ (39 เปอร์เซ็นต์) และเกาหลีใต้ (45 เปอร์เซ็นต์) (ข้อมูล : สถานการณ์ด้านการกำจัดขยะมูลฝอยของประเทศไทย : กรมควบคุมมลพิษ) อีกทั้งความสามารถในการจัดเก็บขยะกลับมีไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม "ขยะล้นเมือง" ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่เคยแก้ตก เหมือนกับสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือนที่แม่น้ำลำคลองมักกลายเป็นปัญหาปลายทางทุกครั้งไป


หากจะบอกว่า มีโมเดลการจัดการ "ขยะ" และ "ของเน่าเสีย" แบบสร้างสรรค์ และไม่ผลาญสตางค์แผ่นดิน อยู่กับตัว จะเชื่อไหม

เรื่องนี้ ตัวละครมีไม่เยอะ
แค่ ชาวบ้าน ขยะ ขี้วัว และนักวิชาการ อีกนิดหน่อย ...เท่านั้น

แปลง "ขยะ" เป็น "ทุน"





ทุ่งนาสีเขียวสุดลูกหูลูกตา ที่แซมข้าวใบเรียวตั้งช่อรอฝนแรกของฤดู นอกจากจะเป็นภาพพักตาที่หาดูไม่ค่อยง่ายสำหรับคนเมืองแล้ว ยังสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านหาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ได้เป็นอย่างดี
นาข้าวอินทรีย์ ดีกรีส่งออกสิงคโปร์ ผูกปิ่นโตกันมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยสัญญาล่วงหน้าปีต่อปี แถมให้ราคาดีกว่าท้องตลาดถึง 20 เปอร์เซ็นต์
"ราคาข้าวปีที่แล้วตกตันละ15,000 บาท แต่เราขายได้ตันละ 18,360 บาท" เจ้าของคำตอบยิ้มกรุ้มกริ่ม
นอกจากนาข้าว ที่นี่ยังมีสวนมะนาว ศูนย์เรียนรู้เกษตรปลอดสารที่มี "จุลินทรีย์คลองตรอน" เป็นดารานำ และนวัตกรรมด้านการเกษตรอีกหลายรายการคอยรับแขกให้มาดูงานชนิด "หัวกระไดไม่แห้ง" แถมการันตีคุณภาพด้วย "รางวัลการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล" 6 ปีซ้อน
ต้นเหตุความอัศจรรย์ทั้งหมด ของชุมชนขนาดประชากรไม่เกินครึ่งหมื่นเริ่มต้นเพราะการแก้ปัญหา "ขยะ" ในตำบลเท่านั้น
"ตั้งแต่หมู่ 1 ถึง หมู่ 7 ไม่มีถังขยะให้เห็นแม้แต่ใบเดียว" คำยืนยันของ พงษ์เทพ ชัยอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแควชวนให้ไล่สายตาดูบรรยากาศโดยรอบหมู่บ้าน (ม.2) และถนนสายหลัก ล้วนไร้เงาถังขยะสาธารณะ

แล้ว "ขยะ" ไปไหน ?

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2547 หาดสองแควก็มีสภาพไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาโครงสร้างพื้นฐานชุมชนขาดแคลน สิ่งแวดล้อมมีปัญหา หนี้สินจากการประกอบอาชีพ ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร บนเวทีประชาคมหมู่บ้านต่างเห็นพ้องต้องกันว่า หากไม่ทำอะไรสักอย่าง ชุมชนคงถึงวิกฤติในไม่ช้า ขยะจึงเป็นปัญหาแรกที่ทุกคนลงความเห็นร่วมกันว่า "ต้องแก้" ก่อน

"เราใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เข้าว่าครับ" วิรัตน์ จำนงรัตนพัน ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หัวแรงฟากวิชาการที่อบต.หาดสองแควจูงมือชวนมาทำงานในพื้นที่สรุปสั้นๆ

ข้อมูลที่ว่าก็คือ การเอา "ความจริง" ขึ้นมากางบนโต๊ะประชุม ปีนั้น อบต.ได้งบอุดหนุนประจำปีมาทั้งสิ้น 7 ล้านบาท ถูกปันไปเป็นงบบริหารจัดการ 5 ล้านบาท เหลือเป็นงบสำหรับพัฒนาอยู่เพียง 2 ล้านบาท
ขณะที่คนหาดสองแควผลิตขยะ 8 ขีดต่อคน/วัน ทำให้ในแต่ละวันชุมชนต้องรับภาระขยะไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ตัน และหากใช้วิธีกำจัดขยะแบบมาตรฐาน (ถังขยะ+รถขยะ+พนักงานเก็บขยะ+ที่ทิ้งขยะ) จะมีรายจ่ายมารออยู่ตรงหน้ากลมๆ ราว 4 ล้านบาท

"เราก็ขึ้นจอว่า เอาไหมล่ะ หยุดพัฒนาไป 2 ปี ชาวบ้านก็เริ่มคิด"
หลังจากโน้มนาวให้เห็นความสำคัญ ขั้นตอนต่อมาก็คือให้ความรู้ และสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผ่านกิจกรรม "ทอดผ้าป่าขยะ" และ "29 บาทครัวเรือนสะอาด ชุมชนสดใส" จนชาวบ้านเริ่มรู้วิธีการคัดแยก-ขายอย่างไร โดยมีอบต.เป็นคนประสานงานรับซื้อให้ผ่านธนาคารขยะประจำตำบล
"เราเอาวงพาณิชย์ของขยะให้ดู แล้วทำเป็นใบปลิวติดตามคุ้ม (กลุ่ม) ต่างๆ ของหมู่บ้าน ขยะถ้ารีไซเคิล อย่างขวด หรือพลาสติกก็ต้องคัดแยก ล้างให้สะอาด ขยะย่อยสลายอย่างเศษอาหารเราก็ทำถังน้ำหมักชีวภาพ ส่วนขยะอันตรายอย่างหลอดไฟ หรือยาฆ่าแมลงทางอบต.ก็จะเป็นคนดูแลให้เพราะขยะประเภทนี้มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมดเท่านั้น" วิรัตน์อธิบาย

เมื่อการรณรงค์เรื่องขยะประสบผลสำเร็จ การต่อยอดโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาท้องถิ่นก็ตามมา ตั้งแต่ โครงการลดต้นทุนการผลิต "ทำนาไม่เผาฟาง", "100 ไร่ 100 ตัน", "ไร่-นาอินทรีย์" และพัฒนาเป็น "ศูนย์เรียนรู้เกษตรยั่งยืน" ในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีการวางฐานการส่งไม้ต่ออย่างยั่งยืนจาก "กลุ่มเยาวชนจักรยานสานฝันรักษ์สิ่งแวดล้อม" และ "สภาเด็ก" ที่จะคอยเก็บขยะในที่สาธารณะในหมู่บ้านอาทิตย์ละ 1 ครั้ง มีเด็กๆ ทั้งตำบลกว่า 150 คนมาช่วยกันปั่นช่วยกันเก็บ

"ในระบบการแก้ปัญหาขยะ 100 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้น ส่งผลไปเรื่องของเกษตรอินทรีย์ ส่งผลเรื่องของการดูแลคุณภาพชีวิต ระบบการจัดการปัญหาที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ จนปลูกจิตสำนึก ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังที่จะเป็นจิตสาธารณะ เป็นผลผลิตที่ดีของชุมชน กลายเป็นชุมชนเข้มแข็งต่อไปในอนาคต" นายกฯ พงษ์เทพสรุป
อย่างนี้ ไม่เรียกว่ามี "ขยะ" เป็น "ทอง" แล้วจะเรียกว่าอะไร




source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20110616/395688/ขุด-ทอง-จากกองขยะ.html




























































































































































































































































































































































































































































































































ให้ "ขี้วัว" เป็นศูนย์กลาง
คราวนี้ลองมาดูเรื่องของขยะชีวภาพ สิ่งปฏิกูลจากปศุสัตว์ชุมชนอย่าง "ขี้วัว" แหล่งผลิต ก๊าซไข่เน่า (มีเทน) ชั้นดีกันบ้าง
ถ้าจินตนาการภาพกองขี้จากวัว 800 ตัว ไม่ออก จินดา มาฮวด ผู้ใหญ่หมู่ 7 บ้านห้วยบง ต.ป่าเซ่า อ.เมือง จ.อุตรดิตร์ มีคำตอบ
"เกลื่อนกลาด เรี่ยราดไปหมดล่ะครับ"
เขาชี้ให้ดูร่องรอยบนถนนคอนกรีตกว้างแค่รถสวนกัน วงดวงของมูลสัตว์ที่แทบจะกลืนไปกับพื้นถนนจนแยกไม่ออก หรือกระสอบปุ๋ยที่กองพะเนินอยู่ใต้ถุนบ้านแต่ละหลัง ข้างในคือ "ขี้วัว" ทั้งนั้น
ยังไม่นับเรื่องกลิ่นที่ตลบอบอวลชนิดคนเลี้ยงเองทุกวันก็ยังเบือนหน้าหนี
"งานวิชาการเข้ามามีบทบาทตรงนี้ครับ" ผศ.ดร.เจษฏา มิ่งฉาย จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เปิดประเด็น
หลังจากได้รับการประสานงานจากชุมชน คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยฯ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจ-เก็บข้อมูล จนได้โจทย์ "ขี้วัว" เป็นตัวตั้ง
การแก้ปัญหาในเบื้องต้นจึงเน้นหนักไปที่การแปรสภาพสิ่งปฏิกูลให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ยชีวภาพ ตากขายตกกระสอบละ 22 บาท โดยมีพ่อค้าจากภายนอกหมู่บ้านมารับซื้อไปอีกทอดผ่าน "ธนาคารขี้วัว"
"เราจะทำหน้าที่ประสานงานให้" สมจิตร นาคราช ประธานกลุ่มธนาคารขี้วัว เล่าถึงรูปแบบการจัดการของธนาคารว่า ไม่ต่างจากสหกรณ์ที่จะมีสมาชิกนำขี้วัวที่ตนเองตากได้มาฝากไว้ แล้วธนาคารจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้ ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหามูลวัวได้ในระดับหนึ่ง
แต่พอดำเนินการไปได้สักระยะ ปัญหาเรื่องสถานที่เก็บขี้วัวก็ตามมา เพราะฉางข้าวเป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่กันแดดกันฝน จึงทำให้บางครั้งกระสอบผุ ฉีกขาด และมีปัญหาในการเคลื่อนย้าย จึงทำการตกลงกันใหม่ กระสอบของสมาชิกคนไหนก็เก็บไว้บ้านคนนั้น อีกทั้งยังมี "เครดิตขี้วัว" เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนสำหรับชาวบ้านบางคนที่เดือดร้อน
ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ แปรสภาพปัญหา จนนำมาสู่การวิจัยในพื้นที่ โดย "ขี้วัว" ก็ยังคงสถานะตัวละครหลักอยู่เหมือนเดิม
"ก๊าซหุงต้ม" สำหรับใช้ในครัวเรือน จึงเป็นคำตอบสำหรับโจทย์ข้อนี้
อุปกรณ์มีไม่มาก แค่บ่อดินสำหรับใส่มูลสัตว์ ต่อท่อลงในถุงพลาสติกพีวีซีขนาดใหญ่ในบ่อดินขุดขนาด 4 เมตร กว้าง 2 เมตร ลึก 80 เซ็นติเมตร บนตัวถุงพลาสติกมีท่อส่งก๊าซเข้าไปยังบ้าน ขณะที่ด้านท้ายถุงทำบ่อพักสำหรับกาก หรือมูลวัวที่แห้งแล้ว
"ใส่แค่วันละ 5 กิโลเท่านั้นแหละ" ศรชัย เชียงบุญญะ หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มนำร่อง 18 บ่อ เล่าถึงปริมาณใช้งานที่สามารถใช้แทนก๊าซหุงต้มได้ตามปกติ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
มูลจากบ่อพักจะไหลเข้าไปในถุงพลาสติกเมื่อระเหยกลายเป็นไอ ก็จะได้ก๊าซมีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟส่งตามท่อไปยังครัวของบ้าน ขณะที่กากมูลสัตว์ที่เหลือจะถูกแรงดันไหลออกไปยังบ่อพักด้านหลังอีกที - ขั้นตอนการทำงานมีเท่านี้
"กากขี้วัวตรงนี้ก็จะแก้ปัญหาเรื่อง เมล็ดหญ้าที่จะขึ้นแซมพืชขึ้นมาเวลานำขี้ไปใส่ในดินด้วย เพราะเมล็ดหญ้าที่วัวกินเข้าไปแล้วผสมลงมาในมูลจะถูกความร้อนนึ่งจนตายทำให้ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ไปโดยปริยาย" ผศ.ดร.เจษฏาอธิบาย
แง่ของความคุ้มค่า บุญเรือง เกิดสาย นักวิจัยท้องถิ่นตีราคาคร่าวๆ ลงทุนบ่อก๊าซชีวภาพมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 3,700 บาท มีอายุการใช้งานอยู่ราว 6-7 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณค่าถังค่าแก๊สที่ต้องจ่ายแต่ละครั้ง คิดยังไงก็คุ้ม
แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถทิ้งแก๊สถังได้ทันที เพราะหากวันไหนแดดร่มลมตก อากาศไม่เป็นใจ ก็ไม่มีก๊าซใช้เอาดื้อๆ เหมือนกัน ถึงอย่างนั้น อีก 35 บ่อ ที่จะมีขึ้นในอนาคตก็จะทำให้กว่า 200 หลังคาเรือนในชุมชน สามารถเรียกตัวเองเป็นหมู่บ้านปลอดถังแก๊สได้เต็มปากเต็มคำอยู่
สิ่งที่ได้เพิ่มเติมตามมาจากปัญหาขี้วัวในวันนี้ ชาวบ้านสามารถลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าปุ๋ย ค่าแก๊ส อีกทั้งคุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์ยังช่วยให้พืชพันธุ์เจริญงอกงามดี จนพอจะมองเห็นความหวังในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ต่อไป
กระทั่ง กลุ่มเยาวชนที่มีการเริ่มปลูกฝัง "สมุดบัญชีความดี" เพื่อเป็นฐานในการส่งไม้ต่อ "ความยั่งยืน" จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่น แน่นอน ถือเป็นผลิตจาก "ขี้วัว" ด้วยเช่นเดียวกัน
"เพื่อความเก๋เราจึงตั้งชื่อว่าหมู่บ้านวิทยาลัยวัวครับ" รอยยิ้มของนักวิชาการหนุ่มผุดขึ้นตรงริมฝีปาก
แข็งแรงด้วยฐานราก
คุณภาพชุมชนของชาวหาดสองแคว และการเปลี่ยนวิกฤติมูลสัตว์ที่บ้านห้วยบง หากดูวิธีการก็ไม่ต่างอะไรจากหลัก "การมีส่วนร่วม" ของชุมชน ตามมาตรฐานการปกครองทั่วๆ ไป
แต่ "ความเข้าใจในพื้นที่" และ "วิธีคิด" ที่เรียนรู้ร่วมกัน ต่างหากที่สร้างพวกเขาให้แตกต่าง
"เว้ากันจั๋งซี่ คุยกัน พอฮู้เรื่องก็สิซ่อยกันปฏิบัติงาน" ภาษาลาวสำเนียงเวียงจันทน์ของ นายกฯ พงษ์เทพ ยืนยันว่า "อัตลักษณ์ชุมชน" ถือเป็นกุญแจอีกดอกที่ช่วยให้งานทุกอย่างราบรื่น
ไม่ต่างกับวิธีทำงานของผศ.ดร.เจษฏาที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวห้วยบง เพื่อสังเคราะห์วิธีแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับชุมชน
ทั้งหมดคือ การเกาะเกี่ยวระหว่างสถาบันการศึกษา และท้องถิ่นในฐานะผู้ใช้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชน มุมมองของคนเป็นครูอย่างตัวผศ.ดร.เจษฏาเองยืนยันว่า "วิน-วิน" ทั้งคู่
"ของแบบนี้มันไม่ใช่ใครสอนใคร เรื่องข้าว เรื่องขี้วัวก็ใช่ว่าเราจะรู้ดี แต่คือการเรียนรู้ร่วมกัน นักเรียนได้ลงสนามจริง ขณะที่เกษตรกรก็มีห้องแล็บวิจัยไว้ทดลอง นี่คือหัวใจของการทำงานเชิงพื้นที่"
มุมการพัฒนา และการมีส่วนร่วมสำหรับผู้ช่วยอธิการบดีอย่าง วิรัตน์ เองก็เห็นไม่ต่างกัน มิติชุมชน และวิธีการมองชุมชนต่างสำคัญทั้งหมด ไม่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
"ทำเรื่องหนึ่งมันต้องโยงทุกเรื่อง ไม่ใช่ทำเรื่องการผลิต แต่ทิ้งเรื่องทรัพยากร ผลิตแบบไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นก็ไม่ไหว"
นัยยะของความร่วมมือยังหมายถึงการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งจากฐานรากอีกด้วย
"ทั้ง 2 กรณีถือเป็นตัวอย่างสำคัญ" สมพร ใช้บางยาง กรรมการสมัชชาปฏิรูป และประธานคณะกรรมการปฏิรูปองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ตั้งข้อสังเกต
ในความคิดของเขา ความสำเร็จของชุมชนเล็กๆ ทั้ง 2 แห่ง สามารถสะท้อนภาพการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คนระดับผู้นำของประเทศละเลยมาตลอด โดยเฉพาะ "ความทั่วถึง" และ "ความเป็นธรรม"
"ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนฐานรากของประเทศขาดการเอาใจใส่ การบริหารแบบรวมศูนย์วันนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่หลากหลาย ทำให้หลายๆ เรื่องกลายเป็นปัญหาที่กำลังทำลายโครงสร้างหลักของประเทศในขณะนี้ ดังนั้นการให้ความสำคัญกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,852 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคนในชุมชนโดยตรงอย่างจริงจัง จะทำให้ฐานรากของประเทศมั่นคงขึ้น"
วันนี้ ไม่ว่าชาวบ้านจะเข้าใจถึงความเข้มแข็งของชุมชน หรือระบบการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นตามนิยามวิชาการปกครองหรือไม่ แต่การ "รับรู้-ร่วมแก้" ปัญหาชุมชนเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าก็ถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่แล้ว
"8 ปีที่ผ่านมา ค่าถัง ค่ารถ ค่าคน เราประหยัดเงินหลวงไป 16 ล้าน มันเห็นชัดเจนนะครับ" เสียงสำทับของวิรัตน์ถึงชาวหาดสองแควทั้งดัง และหนักแน่น  source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20110616/395688/ขุด-ทอง-จากกองขยะ.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น