วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ยักษ์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ “กาลิป เยอรมัน”

ยักษ์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ “กาลิป เยอรมัน” ทุ่ม 8 พัน ล.ผนึกโฟอัส เทคโนโลยี ผุดโรงผลิตไฟฟ้า

“กาลิป เยอรมัน” ผู้นำด้านพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชื่อดังระดับโลก เชื่อมั่นลงทุนในไทย ผนึกพันธมิตร “โฟอัส เทคโนโลยี” ทุ่มงบมหาศาล กว่า 8 พันล้าน ผุดโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ในเมืองไทย 84 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ใน 7 จังหวัด นำร่องเปิดโรงงานแห่งแรกที่จังหวัดแพร่ หวังช่วยลดภาวะโลกร้อน ทดแทนการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ พร้อมช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของไทยหลังน้ำลด

ปัจจุบันประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 140,000 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่การผลิตไฟฟ้าภายในประเทศจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนประมาณ 70% ของการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ ซึ่งก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไปและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) เป็นสิ่งประดิษฐกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยการนำสารกึ่งตัวนำ เช่น ซิลิกอน ซึ่งมีราคาถูกที่สุดและมีมากที่สุดบนพื้นโลกมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อผลิตให้เป็นแผ่นบางบริสุทธิ์ และทันทีที่แสงตกกระทบบนแผ่นเซลล์ รังสีของแสงมีอนุภาคของพลังงานประกอบที่เรียกว่า โปรตอน (Proton) จะถ่ายเทพลังงานให้กับอิเล็กตรอน (Electron) ในสารกึ่งตัวนำจนมีพลังงานมากพอที่จะกระโดดออกมาจากแรงดึงดูดของอะตอม (Atom) และเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ

ดังนั้นเมื่ออิเล็กตรอนเคลื่อนที่ครบวงจรจะทำให้เกิดไฟฟ้ากระแสตรงขึ้น เมื่อพิจารณาลักษณะการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์พบว่า เซลล์แสงอาทิตย์จะมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงที่สุดในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งสอดคล้องและเหมาะสมในการนำเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ผลิตไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน

การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มีจุดเด่นที่สำคัญ แตกต่างจากวิธีอื่นหลายประการ ได้แก่ ไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวในขณะใช้งาน จึงทำให้ไม่มีมลภาวะทางเสียง ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษจากขบวนการผลิตไฟฟ้า มีการบำรุงรักษาน้อยมากและใช้งานแบบอัตโนมัติได้ง่าย มีประสิทธิภาพคงที่ไม่ขึ้นกับขนาด สามารถผลิตเป็นแผงขนาดต่างๆ ได้ง่าย ทำให้สามารถผลิตได้ปริมาณมาก ผลิตไฟฟ้าได้แม้มีแสงแดดอ่อนหรือมีเมฆ เป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มาฟรีและมีไม่สิ้นสุด ผลิตไฟฟ้าได้ทุกมุมโลกแม้บนเกาะเล็กๆ กลางทะเล บนยอดเขาสูง และในอวกาศ และได้พลังงานไฟฟ้าโดยตรงซึ่งเป็นพลังงานที่นำมาใช้ได้สะดวกที่สุด

และเมื่อไม่นานมานี้ โฟอัส เทคโนโลยี จำกัด (ประเทศไทย) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในประเทศไทยมายาวนานกว่า 10 ปี เปิดตัวการลงทุนของบริษัทในการผลิตไฟฟ้าขนาด 84 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท

นายชิงชัย ชนชีวัฒน์ ประธานบริษัท โฟอัส เทคโนโลยี จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากกระแสการรณรงค์ประหยัดและอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน และเพื่อทดแทนปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ บริษัทจึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างพลังงานทดแทน เพื่อลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมมองเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการสูงในอนาคต

ด้วยเหตุผลดังกล่าว บริษัทฯ จึงได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท Galip GmbH ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก จากประเทศเยอรมนี ร่วมลงทุนก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell power plant ขนาดใหญ่ 84 เมกะวัตต์ ขึ้นด้วยวงเงินลงทุนกว่า 8,200 ล้านบาท โดยถือหุ้นร่วมกันในสัดส่วน Four us 60% และ Galip Gmbh 40% ซึ่งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้านี้ นับได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด และอยู่ในช่วงการเยียวยา ฟื้นฟู แต่ทางบริษัท Galip GmbH ยังมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในประเทศไทย สืบเนื่องจากกระแสของการประหยัด และอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน และอนาคต ขณะเดียวกันการร่วมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในครั้งนี้ ยังทำให้เกิดการจ้างงานในหลายพื้นที่ หลายจังหวัดของประเทศไทย นับมีส่วนช่วยในการกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้ขยายตัวรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง

ด้านนายอเล็กซานเดอร์ กาลิป ประธานบริษัท Galip GmbH ประเทศเยอรมนี ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (solar cell) จากประเทศเยอรมนี กล่าวว่า บริษัทมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้น แต่มั่นใจว่าไทยจะได้รับการฟื้นฟูและกลับมาสู่ภาวะปกติในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งการร่วมมือกันกับบริษัท โฟอัส เทคโนโลยี จำกัด ในการสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์เป็นอุปกรณ์หลักในการผลิตไฟฟ้า (เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกรวมซิลิกอน) ซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดพลังงานทดแทน เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติและลดโลกร้อน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


source: http://www.banmuang.co.th/economic.asp?id=256068

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

“ปิโตรธิปไตย” ของอเมริกากับเบื้องหลังการล่าขุมทรัพย์พลังงานในอ่าวไทย



ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มียุทธศาสตร์ทางพลังงานอย่างชัดเจนในการที่จะไปบุกและสัมปทานพลังงานใต้ผิวดินและท้องทะเลในชาติอื่นเพื่อเร่งสูบทรัพยากรธรรมชาติของชาติอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงได้ทุ่มสรรพกำลังแทบทุกด้านทั้งในด้านทางการทหาร และการแทรกแซงการเมืองในชาติอื่นมาโดยตลอด

เราจึงไม่แปลกใจเลยสำหรับสงครามบุกอัฟกานิสถาน ทั้งๆที่เบื้องลึกก่อนหน้านี้ในปี 2540 “ผู้นำกลุ่มตาลีบัน” ได้เคยบินมายังเมืองฮูสตัน มลรัฐเทคซัส สหรัฐอเมริกา โดยนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช (ผู้ว่าการมลรัฐเทคซัสในขณะนั้น) ให้การต้อนรับเพื่อให้เข้าพบเจรจากับ บริษัท ยูโนแคล เพื่อก่อสร้างท่อส่งก๊าซจากเตอร์กเมนิสถาน ผ่านอัฟกานิสถาน ไปสู่ปากีสถาน และมหาสมุทรอินเดีย

นอกจากนั้น ยังได้มีการลงนามอีกข้อตกลงหนึ่งซึ่งเป็นการขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลแคสเปียน ก็คือ นายดิก เชนีย์ แห่งบริษัทฮารีเบอร์ตัน ในขณะนั้น (ซึ่งก็คือรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา)

สงครามที่สหรัฐอเมริกาบุกโจมตีอัฟกานิสถานเมื่อปี 2554 ซึ่งมีประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทพลังงานในสหรัฐอเมริกา จึงจบด้วยการโค่นล้มรัฐบาลตาลีบัน พร้อมการวางกำลังและฐานทัพในประเทศใกล้เคียงเพื่อคุ้มครองท่อส่งพลังงานจากทะเลแคสเปียน

เดาเรื่องนี้ได้เหมือนนวนิยายสุดท้ายอัฟกานิสถานก็ได้ประธานาธิบดีคนแรก คือ นายฮามิด คาร์ไซย์ ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างบริษัท ยูโนแคลในฐานะที่ปรึกษาของบริษัทน้ำมันของสหรัฐอเมริกา !!

ไม่ต้องพูดถึงข้อสงสัยของ นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช และ จอร์จ บุชผู้พ่อซึ่งมีสายสัมพันธ์กับตระกูล “บินลาดิน”อย่างลึกซึ้ง โดยนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยังเคยเป็นกรรมการในบริษัทของครอบครัวบินลาดินที่สหรัฐอเมริกา จนแม้กระทั่งวันก่อวินาศกรรม วันที่ 11 กันยายน 2554 สหรัฐอเมริกายังจัดเครื่องบินบริการพิเศษขนส่งให้กับครอบครัวบินลาดิน 24 คน ออกนอกสหรัฐอเมริกา ทั้งๆที่สนามบินสหรัฐอเมริกาปิดตัวลงและห้ามใช้การทั้งหมด

ที่อินโดนีเซีย ก็เช่นกัน เมื่อปีพ.ศ. 2518 สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดี เจอรัลด์ ฟอร์ด สนับสนุนประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซูฮาร์โต เข้ายึดติมอร์ตะวันออก ด้วยความโหดเหี้ยม ตาต่อตาฟันต่อฟัน จนมีชาวติมอร์ล้มตายไปประมาณ 230,000 คน

หลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาก็เข้าไปตักตวงผลประโยชน์ทางธุรกิจพลังงานทั้งในอินโดนีเซีย และต่อมาในเขตติมอร์ตะวันออกโดยร่วมมือกับประธานาธิบดี ซูฮาร์โตอย่างแนบแน่น

อเมริกาก็ตักตวงประโยชน์มาเรื่อยในทะเลอินโดนีเซีย จนกระทั่งเกิดเหตุที่ ออสเตรเลีย ทวงหาความเป็นธรรมในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อหวังจะแบ่งผลประโยชน์น้ำมันดิบในทะเลบริเวณติมอร์ เมื่อปี 2532

จากนั้นสหรัฐอเมริกาเจ้าเดิมก็หนุนหลังให้แยกติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระ และให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาดูแลติมอร์ หลังจากนั้นกลุ่มทุนพลังงานของสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียก็หักหลังอินโดนีเซียเข้าทำประโยชน์น่านน้ำติมอร์อย่างเต็มที่แทน และในท้ายที่สุดสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียก็จับมือกันทำมาหากินด้านพลังงานในทะเลของติมอร์ตะวันออกจนถึงทุกวันนี้

สายสัมพันธ์เรื่องผลประโยชน์ทางพลังงานกับอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาถือว่าแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน สำหรับอเมริกาจึงไม่มีมิตรแท้ และไม่มีศัตรูถาวรนอกจาก “ผลประโยชน์อย่างเดียว” เท่านั้น

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันพ.ศ. 2505 ยูโนแคล สัญชาติอเมริกัน ที่เดิมชื่อว่าบริษัท Union Oil Company of California ได้รับสิทธิ์สำรวจ-ขุดเจาะในภาคอีสาน ถือเป็นเอกชนรายแรก แม้ต่อมา ยูโนแคลประสบปัญหาทางการเงิน ทางบริษัทของจีนพยายามเข้ามาลงทุนซื้อกิจการของยูโนแคล แต่ในที่สุดสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ยินยอมจึงให้ เชฟรอน บริษัสัญชาติเดียวกันเข้าซื้อกิจการแทน

เชฟรอน เป็นบริษัทที่เข้ามารับช่วงต่อจากบริษัทยูโนแคล จากการศึกษาจากข้อมูลของทางราชการ พบว่า ในปี 2550 บริษัทเชฟรอนถือส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันดิบ 66% และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยถึง 68% ของที่มีการผลิตทั้งหมดในประเทศไทยตามลำดับ ทั้งๆที่ประเทศไทยได้ค่าภาคหลวง 12.5% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้





เรือบรรทุกน้ำมัน Condoleezza Rice ของบริษัทเชฟรอน ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้นางคอนโดลีซซ่า ไรซ์ อดีตกรรมการบริหารของบริษัท (รัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกาในขณะนั้น) ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่เพราะมีกระแสกดดันจากการเมือง


และกรณีล่าสุดเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ขีดขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศรองรับประชิดเกาะกูด เป็นการรุกล้ำทะเลอาณาเขตรอบเกาะกูด 12 ไมล์ทะเลนั้น พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้เปิดเผยข้อมูลอันเป็นประโยชน์ว่า “นายพลลอนนอน ได้แจ้งว่าเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศเป็นไปตามการเสนอของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนที่เสนอขอรับสัมปทานแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีปกัมพูชา ลอนนอนไม่มีความมุ่งประสงค์ใดๆ เกี่ยวกับเกาะกูดของไทยทั้งสิ้น และพร้อมจะมีการปรับปรุงดังกล่าว”

ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยยังจะไปยอมรับ ใน MOU 2544 เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากขึ้นมาในปี พ.ศ. 2515 ในการพิจารณาการจัดสรรผลประโยชน์ทางพลังงานในอ่าวไทยว่าเป็นเส้นที่กำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลร่วมไปกับเส้นเขตไหล่ทวีปของไทย พ.ศ. 2516 ซึ่งลากขึ้นโดยอาศัยหลักวิชาการและกฎหมายระหว่างประเทศในการแบ่งครึ่งมุมและเส้นมัธยะใช้แบ่งระยะทางเท่ากันระหว่างไทย-กัมพูชา

ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงจะมีดูเรื่องแปลกๆอยู่เสมอที่หาสาเหตุไม่ได้ เช่น มีการขบวนการหน่วยสืบราชการลับ ซีไอเอ ของสหรัฐอเมริกาฝังตัวอยู่ภาคใต้ในหลายรูปแบบซึ่งมาพร้อมกับการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องที่ภาคใต้ เพื่ออ้างเรื่องการแยกดินแดนโดยมีแหล่งพลังงานในทะเลอ่าวไทยและทะเลไทย-มาเลเซีย เป็นเดิมพัน หรือแม้กระทั่งมีขบวนการร่วมก่อความไม่สงบจากต่างชาติมาผสมโรงเลือกข้างทางการเมืองที่จะเอื้อผลประโยชน์ทางพลังงานให้กับชาติเหล่านั้น

ในขณะที่ประเทศไทยแม้ผ่านมาหลายรัฐบาลก็ไม่มีรัฐบาลไหนที่คิดจะยกเลิก “พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนเกินความเป็นจริง” ใน MOU 2544 ให้เป็นรูปธรรมได้เลย!?

กัมพูชาเสียอีกกลับเรียกพวกจากนานาชาติมากกว่าเพราะด้านหนึ่งเจรจาผลประโยชน์ส่วนตัวกับนายฮุน เซน คนเดียวจบและง่าย อีกทั้งกัมพูชาขุดน้ำมันและพลังงานในอ่าวไทยช้ากว่าประเทศไทย และไม่ยอมให้มีชาติใดชาติหนึ่งผูกขาดเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกความสนใจจากนานาชาติต่างๆเข้ามาสัมปทานเพื่อสร้างพวกและอำนาจต่อรองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้มากกว่าประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยที่ผ่านมา “คิดสั้น” เพราะมัวแต่เห็นประโยชน์เฉพาะหน้าเร่งสัมปทานและเร่งขุดโดยผลประโยชน์ส่วนใหญ่กับตกอยู่กับบริษัทสัญชาติอเมริกา (ซึ่งคิดแต่ผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง) เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ถูกสัมปทานไปเป็นจำนวนมากแล้ว จึงขาดความน่าสนใจและขาดความสมดุลในการสร้างอำนาจต่อรองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุและพลังงานอันมหาศาล เราเคยสูญเสียดีบุก และแทนทาลั่มในราคาเศษดิน และถูกสูบพลังงานใต้ผิวดินออกไปให้ต่างชาติในราคาถูกๆ โดยที่ประชาชนคนไทยในประเทศไม่ได้อะไรเลย นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายทางพลังงานในการดำรงชีวิตในราคาแพงให้กับบริษัทพลังงานได้รับประโยชน์สูงสุด และนักการเมืองก็สามารถทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมหาศาล

ประเทศไทยจึงยังไม่รวยมั่งคั่งกันจริงๆ สักที !!!?



s

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

แก้ไขน้ำท่วมทรงชี้แนะรู้จักระบายน้ำ ''กินเจ'' กระทบ ราคาผักพุ่งสูง

ทรงมีพระราชดำรัสคลองลัดโพธิ์แก้น้ำท่วมได้ดี แนะให้ขยายโครงการเอาไปใช้ที่อื่น เพราะนับวันปัญหาน้ำท่วมจะรุนแรงขึ้น รับสั่งต้องรู้จักระบบการจัดการน้ำให้ถูกต้อง ทั้งการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ ส่วน 2 เขื่อนใหญ่ยังวิกฤติ โดยเฉพาะป่าสักชลสิทธิ์น้ำทะลักล้น ขณะที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเหลืออีกแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ใกล้เต็ม ขณะที่ผักสดราคาพุ่งกก.ละ 100 บาท หลายจังหวัดงดจัดเทศกาลกินเจ 3,000 ครอบครัวในพยุหะติดเกาะน้ำสูง 4 เมตรไร้คนช่วยเหลือ นายกฯยิ่งลักษณ์เรียกประชุมด่วน ทั้งเหล่าบิ๊กเจ้ากระทรวงกับอีก 7 ผู้ว่าฯ เพื่อหารือแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ปภ.เตือนระวังฝนจะตกถึง 23 ก.ย. “ธีระ” เตรียมของบ 1 หมื่นล้านบาททำ “ฟลัดเวย์” แก้น้ำท่วมริมเจ้าพระยา ส่วน สปสช.ใจป้ำช่วยผู้ประสบภัยไม่อั้น
   
หลายจังหวัดยังระทมกับอุทกภัยน้ำท่วม โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างไม่หยุด อันเนื่องมาจากมีฝนตกลงมาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาหลายพื้นที่ ทำให้น้ำได้ไหลทะลักกำแพงกั้นตามแนวตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรเป็นวงกว้าง

“ธีระ”เข้าเฝ้าฯถวายรายงาน
   
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 17.47 น. วันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายธีระวงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการกรมชลประทานเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ 5 โครงการ ได้แก่โครงการขุนด่านปราการชลจ.นครนายก โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จ.พัทลุง และ จ.สงขลา โครงการลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ มีการจัดตั้งองค์กรรองรับและการบริหารการจัดการน้ำ รวมถึงการมีส่วนร่วมของรัฐบาล โดยนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามแนวพระราชดำริ ทำให้ปัจจุบันโครงการดังกล่าวสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราษฎรมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรทั้งในฤดูฝนและหน้าแล้ง ทั้งยังได้ผลผลิตมากขึ้น ตลอดจนใช้ในการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำได้ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มและสถานการณ์น้ำในปัจจุบันที่ท่วมสูงในหลายพื้นที่

คลองลัดโพธิ์แก้น้ำท่วมได้
   
โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัส เกี่ยวกับการบรรเทาสถานการณ์น้ำท่วม โดยทรงเน้นการเปิดปิดประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ และมีพระราชกระแสให้กรมชลประทานได้ขยายการจัดสร้างประตูระบายน้ำแบบคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ไปยังพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ผล ความว่า ที่อยู่ที่นี่สังเกตได้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยานี้ก็รับน้ำได้มาก แล้วก็โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ใกล้ ๆ แถวนี้ เรื่องที่ได้ให้ผ่านทางประตูก็ได้ผล เพราะว่าที่เห็นน้ำสูงที่ผ่านต่อหน้าเห็นได้ชัดว่า เวลาฝนตกหนักน้ำสูงขึ้นมามาก แต่ถ้าฝนหยุดเมื่อไหร่ มันสามารถที่จะลด เพราะว่าลงไปสั่งประตูน้ำที่มันผ่านลงตรงทะเล อันนี้เป็นโครงการที่ดี เห็นได้ชัดว่า ทำได้ให้ลงทะเลโดยเร็ว เพราะว่าตรงที่ผ่านโครงการลัดโพธิ์ เป็นระยะเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ส่วนที่จะไปทางยาวต้องผ่านหลายกิโลเมตร 16-17 กม.นี่ก็ได้เห็นโครงการอะไรก็ทำได้ ซึ่งเพิ่งใช้การมาไม่นานนี้ จากนั้นหลายปีมาแล้วที่มีการทำโครงการนี้ ก็ต้องได้ผลขึ้นมา น้ำลดลงไปจริงๆ  แต่ถ้าพัฒนาวิธีการนี้เพิ่มขึ้นให้ลงทะเล และชาวบ้านก็รู้แล้ว เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเห็น ได้เห็นประสิทธิภาพของโครงการลัดโพธิ์นี้อย่างมหัศจรรย์จริง ๆ เห็นได้ชัดว่า สั่งจากข้างบนนี้ มองลงไปเห็นว่า ตอนเช้าน้ำมันขึ้น น้ำเต็มแม่น้ำ แต่เวลาปล่อยที่คลองลัดโพธิ์มันลดลงไป เวลาฝนหยุดน้ำก็ลด อันนี้ก็มีอยู่ต่อหน้าต่อตา ต้องใช้ประสิทธิภาพของคลองลัดโพธิ์

รับสั่งต้องรู้ระบบจัดการน้ำ
   
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งแนะผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ต้องเข้าใจกลไกการไหลของน้ำ เพื่อบริหารจัดการและจัดสรรน้ำให้ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ ถ้าจัดสรรได้ มันก็จะทำให้บ้านเมือง และรูปร่างของเขตต่าง ๆ น้ำก็สามารถไหลไปเหนือไปใต้ได้  หรือว่าการจัดสรรน้ำในที่ต่าง ๆ นั้น ซึ่งดูก็ไม่น่าจะยาก เพราะว่าผลักน้ำขึ้นลงได้ แต่ในที่สุดก็ยากเหมือนกัน เพราะว่าพื้นที่มันราบ มันไม่มีที่ เขตที่จะให้มันไหลไปทางหนึ่งทางใด ต้องห้ามมันอยู่กับที่ จะให้ไปไหนก็ยาก  แต่ถ้าศึกษาดูว่าเวลาไหนน้ำมันขึ้นลงนิดเดียวก็สามารถผลักไปอีกทาง อันนี้ก็ต้องศึกษา แล้วอย่างที่โครงการนี้ มันยากที่จะเลือกเวลาการผลักน้ำไปทางไหนหรือผลักน้ำไปทางอื่น
   
ส่วนเรื่องการระบายน้ำป้องกันไม่ให้น้ำท่วมนั้น ทรงย้ำว่าทุกฝ่ายทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยได้สนใจว่าน้ำมันลงมายังไง และก็ตัวเองที่อยู่ติดประตูน้ำไหน ต้องสนใจว่าต้องเปิดปิดอย่างไรและเมื่อไหร่  มีความสำคัญทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดให้ถูกเวลา  ความเดือดร้อนของทั้งระบบก็น้อยลง  อาจจะมีผิดพลาดบ้าง น้ำอาจจะท่วมบ้าง แต่น้อยมาก หรือพยายามที่จะพิจารณาว่า เราต้องดูจังหวะของการเปิดปิดประตูน้ำ เปิดไม่สำคัญเท่ากับปิด หรือปิดไม่สำคัญเท่ากับเปิด ถ้าเปิดให้ถูกต้องแล้ว น้ำก็ออกไป ไม่ต้องสูบ ถ้าเปิดเวลาถูกต้องก็เอาออกไปไม่ต้องใช้พลังงานเยอะ ปิดก็ไม่ต้องใช้พลังงาน ประหยัดทั้งเงิน ประหยัดทั้งเวลา แต่ว่าถ้าเจ้าหน้าที่รู้จักเปิดปิดถูกเวลาแล้ว เขาก็ทำหน้าที่แล้วก็ได้รับชมเชย หรือก็ต้องเข้าใจว่าที่เปิดหรือปิดทุกเวลาทุกจังหวะเท่ากับเป็นงานที่ทำที่ถูกต้องที่ดี บางทีประตูน้ำมีหน้าที่ปิด ไม่ใช่ ประตูน้ำมีหน้าที่ทั้งปิดและเปิด อันนี้ก็ต้องอธิบายให้เจ้าหน้าที่ทราบ และท่านผู้ใหญ่ก็ต้องทราบ ในเครื่องกลไกพิเศษ ต้องบอกว่าตอนไหนต้องปิดต้องเปิด เพราะไม่ใช่ภาคกลางเท่านั้นเอง ภาคใต้ก็เหมือนกัน มีเวลาที่ต้องเปิดต้องปิด ภาคอีสาน ภาคเหนือ มีเวลาที่ต้องปิดเปิดทั้งนั้น แล้วเปิดปิดถูกต้องแล้ว เป็นการประหยัดพลังงาน ประหยัดกำลังของเจ้าหน้าที่

“นายกปู”เรียกประชุมโต๊ะกลม
   
ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้อุทกภัยน้ำท่วมได้ขยายวงกว้างในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งอย่างหนัก โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะลุกลาม และส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครกับจังหวัดใกล้เคียง จึงสั่งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดประชุมยุทธศาสตร์การแก้ไข ปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ เวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุม เพื่อเตรียมการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในระยะเร่งด่วน และระยะกลางในเขตกรุงเทพมหานครกับจังหวัดใกล้เคียง 
   
นายวิบูลย์ระบุต่อว่า สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงคมนาคม, กรมชลประทาน, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กองทัพบก, กองทัพเรือ, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, นครปฐมและ จ.สมุทรสาคร เพื่อรับทราบแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในแต่ละพื้นที่ พร้อมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง
   
อธิบดีฯ กล่าวอีกว่า ในการประชุมจะได้มีการพิจารณายุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานครกับจังหวัดใกล้เคียง ด้วยการเร่งรัดการดำเนินงานด้านเทคนิค เช่นการผลักดันน้ำและระบายน้ำออกสู่ทะเล การรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำ การขุดลอกคูคลอง การขยายทางน้ำลงสู่ทะเล รวมถึงการเร่งกำจัดวัชพืชในน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลเป็นไปอย่างรวดเร็วมากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงไม่ให้ลุกลามและขยายวงกว้าง

เตือนฝนจะถล่มถึง 23 ก.ย.
   
นายวิบูลย์เปิดเผยว่า ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันมี 25 จังหวัดที่ยังได้รับผลกระทบ คือ จ.สุโขทัย, พิจิตร, พิษณุโลก,นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, นนทบุรี, อุบลราชธานี, ยโสธร, เลย, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ, ฉะเชิงเทรา, นครนายก, ตาก และ จ.ปราจีนบุรี ขณะที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น คือ 1.ลุ่มน้ำน่าน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ 2.ลุ่มน้ำปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 3.ลุ่มน้ำมูล อ.พิมาย จ.นครราชสีมา, อ.เมืองอุบลราชธานี, อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์, อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด, อ.ห้วยทับทัน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ, อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ 4.ลุ่มน้ำชี อ.เมืองชัยภูมิ, อ.จังหาร อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด, อ.เมืองหนองบัวลำภู, อ.เมือง อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร, อ.เมือง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น 5.ลุ่มน้ำโขง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร 6.ลุ่มน้ำสะแกกรัง อ.เมืองอุทัยธานี 7.ลุ่มน้ำท่าจีน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี, อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และ 8.ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีเขตติดต่อ 8 จังหวัด ประกอบด้วย จ.อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง,สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี
   
นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 20-23 ก.ย. จะมีร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดตอนกลางของประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง จ.นครนายก จ.สระแก้ว ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.ยโสธร จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี จ.ตราด ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ จ.ระนองลงไป โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกให้ระวังน้ำที่ล้นมาจาก จ.นครนายก

ใต้จมบาดาลตรังหนักสุด
   
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดยังไม่คลี่คลาย อีกทั้งมีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มที่ จ.ตรัง เมื่อกลางดึกวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่หัวค่ำนานหลายชั่วโมง ทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ไร่นา ประกอบกับน้ำในน้ำตกอ่างทอง หมู่ 1 ตำบลไม้ฝาด อ.สิเกา ระดับน้ำล้นจนไหลทะลักเข้ามาเพิ่มอีกทำให้ภายใน อ.สิเกาจมบาดาลภายในพริบตา ชาวบ้านต้องอพยพหนีตายขึ้นไปอยู่บนที่สูง ข้าวของสัตว์เลี้ยงหายไปกับสายน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก เบื้องต้นยังไม่ได้รับรายงานว่ามีผู้สูญหายหรือไม่ ต้องรอตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ขณะที่อีกหลายจังหวัดทางภาคใต้ มีน้ำได้เข้าไหลท่วมหลายตำบลเป็นพื้นที่วงกว้างเช่นกัน

แม่น้ำเจ้าพระยาทะลัก
   
จ.นครสวรรค์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น จนไหลทะลักข้ามกระสอบทรายที่วางกั้นตามแนวตลิ่ง เข้าท่วมภายในเขตเทศบาลพยุหะคีรี หมู่ 2 ,4 และหมู่ 5 โดยระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร รถยนต์ที่จอดไว้ตามริมถนนโดนน้ำท่วมจนเกือบมิดคัน การสัญจรต้องใช้เรืออย่างเดียว ขณะที่ตำบลยางขาว กับตำบลน้ำทรง อ.พยุหะคีรี วิกฤติหนักสุดโดยระดับน้ำสูงถึง 4 เมตร ชาวบ้านกว่า 20 หมู่บ้าน 3,000 กว่าครัวเรือนถูกตัดขาด เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนภายในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ บริเวณหลังโรงแรมเป็นหนึ่ง ถนนสวรรค์วิถี พนังกั้นน้ำที่ทางเทศบาลได้สร้างไว้ชั่วคราว ได้พังครืนลงมาอีกครั้ง ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว จนถนนสวรรค์วิถีต้องปิดการจราจรชั่วคราว จากนั้นทางเทศบาลจึงประสานขอกำลังทหารจาก มทบ.31 มาช่วยขนกระสอบทรายมาเสริมกำแพงอีกชั้นหนึ่ง จนเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
   
ที่ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำในแม่น้ำน่านได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จนล้นทะลักกระสอบทรายกันน้ำเข้าท่วมในตำบลวัดจันทร์ หมู่ 7 อ.เมือง เบื้องต้นนายปรีชา เรืองจันทร์ ผวจ.พิษณุโลก ได้ประสานทหารกองพลทหารราบที่ 4 กองทัพภาคที่ 3 นำกระสอบทรายมาวางเสริมตามริมตลิ่งให้สูงขึ้น ส่วนที่ จ.กาฬสินธุ์ ระดับน้ำในเขื่อนลำปาวได้เพิ่มสูงขึ้นจนเหลือร้อยละ 8 จากก่อนหน้านี้เหลือร้อยละ 10 หากฝนยังไม่หยุดตกคาดว่าทางเขื่อนคงต้องระบายน้ำออก เพื่อป้องกันเขื่อนวิกฤติ ขณะที่อีกหลายจังหวัดจมบาดาล เช่นที่ จ.สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังเพิ่มสูงขึ้น ชาวบ้านต้องมาอาศัยบนริมถนน พร้อมกับจับหนูกับงูที่มากับน้ำ ถลกหนังขายตามข้างทาง อีกส่วนนำไปประกอบอาหารประทังชีวิต
   
ด้านนายสมหวัง ปานสุขาร หัวหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนแควน้อยฯที่ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 102 หลังจากเร่งระบายน้ำออกเหลือที่ 98 หรือเท่ากับ 933.83 ล้าน ลบ.ม. โดยมีน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละ 36 ล้าน ลบ.ม. ที่ จ.ชัยภูมิระดับน้ำยังไม่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านโนนหว้านไพร ตำบลชีลอง อ.เมือง และในเขตเทศบาลเมือง ย่านชุมชนขี้เหล็กใหญ่ ชุมชนหนองสังข์ ตำบลหนองนาแซง อีกทั้งคาดว่าอีก 1-2 วันน้ำจะไหลเข้าท่วมตำบลกุดตุ้ม นายจรินทร์ จักกะพาก ผวจ.ชัยภูมิ ได้แจ้งประกาศเตือนให้ประชาชนเตรียมรับสถานการณ์ไว้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกับประสานชมรมร่มบินจังหวัด นำร่มบินขึ้นสำรวจความเสียหาย และให้เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว นำข้าวกล่องออกแจกจ่ายชาวบ้านที่ประสบภัย

ผวา 2 เขื่อนใหญ่วิกฤติสุด
   
ส่วนสถานการณ์การเก็บกักน้ำในเขื่อนใหญ่ ๆ ทั้ง 4 เขื่อนคือ 1.เขื่อนภูมิพล ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำในอ่าง 11,908 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88 ของความจุอ่าง (คิดเป็นน้ำใช้การได้ 8,108 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60) เทียบกับปี 2553 (5,923 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44) มากกว่าปี 2553 จำนวน 5,985 ล้านลบ.ม. น้ำไหลลงอ่าง 80.33 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 1,554 ล้านลบ.ม. 2.เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำในอ่าง 9,141 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 96 ของความจุอ่าง (คิดเป็นน้ำใช้การได้ 6,291 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 66) เทียบกับปี 2553 (7,051 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 74) มากกว่าปี 2553 จำนวน 2,090 ล้านลบ.ม. น้ำไหลลงอ่าง 103.23 น้ำระบาย 56.80 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 369 ล้าน ลบ.ม.
   
3.เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำในอ่าง 929 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 99 ของความจุอ่าง (คิดเป็นน้ำใช้การได้ 886 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 94) เทียบกับปี 2553 (634 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 68) มากกว่าปี 2553 จำนวน 295 ล้านลบ.ม. น้ำไหลลงอ่าง 38.50 ล้านลบ.ม. น้ำระบาย 43.20 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 10 ล้านลบ.ม. และ 4.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำในอ่าง 890 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 113 ของความจุอ่าง (คิดเป็นน้ำใช้การได้ 887 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 113) เทียบกับปี 2553 (690 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 88) มากกว่าปี 2553 จำนวน 200 ล้านลบ.ม.น้ำไหลลงอ่าง 42.96 ล้านลบ.ม. น้ำระบาย 30.29 ล้านลบ.ม. ไม่สามารถรับน้ำได้อีกแล้วเพราะระดับน้ำเกินความจุของอ่าง

“ธีระ” เตรียมของบหมื่นล้าน
   
ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงเขื่อนเจ้าพระยา น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากน้ำจากนครสวรรค์ได้ไหลไปในเขต จ.อุทัยธานี อ่างทอง สิงห์บุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้วันนี้เราเห็นได้ชัดว่า น้ำที่ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาค่อนข้างมาก ทั้งฝั่งตะวันออก ตะวันตก ทั้งที่แม่น้ำท่าจีนและคลองชัยนาท-ป่าสัก ตอนนี้น้ำได้เต็มความจุแล้ว โดยมีปัญหาทุกปีเมื่อฝนตกหนักในพื้นที่ ปีที่ผ่านมาเราศึกษาแนวทางที่ใกล้จะเสร็จแล้ว คือฝั่งตะวันออกที่มีความคิดจะขยายคลองชัยนาท-ป่าสัก ให้รับน้ำได้เพิ่มขึ้น และทางฝั่งตะวันตกมีแนวคิดจะแบ่งน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างไร นอกจากนี้แม่น้ำท่าจีนกับคลองมะขามเฒ่า คงจะทำเป็นฟลัดเวย์ อีกแนวทางหนึ่งเพื่อตัดน้ำส่วนหนึ่งออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล โดยจะตั้งงบประมาณในปีหน้า คิดว่าคงไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคงต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มขึ้น โดยจะทำถนน 2 ข้างทาง และทำทางน้ำกว้างประมาณ 300 เมตร ช่วงที่ไม่มีน้ำผ่านจะให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร

“ชัยภูมิ”อ่วมน้ำไม่ลด
   
ส่วนที่จ.ชัยภูมิ มีรายงานว่าระดับน้ำยังไม่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านโนนหว้านไพร ต.ชีลอง อ.เมืองชัยภูมิ และในเขตเทศบาลเมือง ย่านชุมชนขี้เหล็กใหญ่ ชุมชนหนองสังข์ ต.หนองนาแซง คาดว่าอีก 1-2 วันน้ำจะไหลเข้าท่วมต.กุดตุ้ม ทางด้านนายจรินทร์ จักกะพาก ผวจ.ชัยภูมิ ได้ประกาศเตือนให้ประชาชนเตรียมรับสถานการณ์ไว้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกับประสานชมรมร่มบินชัยภูมิ นำร่มบินขึ้นสำรวจความเสียหาย และให้เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว นำข้าวกล่องออกแจกจ่ายชาวบ้านที่ประสบภัย

สปสช.ช่วยน้ำท่วมไม่อั้น
   
นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า   จากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งประเทศ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคกลางที่ท่วมหนักในขณะนี้ มีความเป็นห่วงเรื่องที่หน่วยบริการต้องส่งต่อผู้ป่วย จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก  จึงได้มอบหมายให้สปสช.จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยในเขตน้ำท่วมให้สามารถส่งต่อได้สะดวกทุกโรงพยาบาล   หากมีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรพ.ที่มีศักยภาพมากกว่าก็ให้ดำเนินการได้ ไม่ว่าจะต้องใช้บริการทางเรือ ทางอากาศ หรือรถยนต์ก็ตาม  ให้เร่งจัดการได้เลยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายพาหนะในการส่งต่อ เนื่องจากสปสช.สามารถจัดการได้เพราะมีระเบียบรองรับอยู่แล้ว
   
รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า สำหรับ การเบิกจ่ายค่าพาหนะในการรับส่งต่อผู้ป่วยจากต้นทางถึงปลายทางทั้งการใช้ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ หรือพาหนะอื่นใดที่ได้รับการออกแบบ เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างการเคลื่อนย้ายหรือเดินทางนั้น ใช้อัตราการส่งต่อผู้ป่วย ดังนี้  ค่าเฮลิคอปเตอร์ ไม่เกิน 60,000 บาทต่อครั้งตามระยะเวลาในการบินและรัศมีในการบิน, อัตราค่าเรือ /แพขนานยนต์ ไม่เกิน  35,000 (ตามระยะทางและประเภทของเครื่องยนต์)  ค่ารถยนต์ที่รพ.ส่งต่อไปยังรพ.ที่สามารถให้การดูแลรักษาได้ให้เบิกจ่ายในอัตราไม่เกิน  50 กิโลเมตร ให้เบิกจ่ายตามจริงในอัตราไม่เกิน 500 บาท หรือมากกว่า 50 กิโลเมตรจะได้รับการชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท   ซึ่งกรณีการใช้เฮลิปคอปเตอร์นั้น เน้นการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติและเร่งด่วน จากหน่วยบริการไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพที่เหมาะสม
    
นายวิทยาระบุอีกว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมประสบปัญหาในเรื่องเจ็บป่วย และเครียดจากเหตุการณ์น้ำท่วมจำนวนมาก ซึ่งประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพหรือ 30  บาทรักษาทุกโรคที่ประสบอุทกภัยนั้น สามารถเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข  จากหน่วยบริการใดก็ได้ที่อยู่ใกล้  โดยไม่ต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำก่อนและหน่วยบริการก็จะไม่เรียกเก็บค่าบริการจากประชาชน หากมีความจำเป็นก็ให้ทางหน่วยบริการดำเนินการได้ เพราะเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเร่งด่วน” นายวิทยากล่าว และว่า    ขณะเดียวกันทางด้านหน่วยบริการที่ให้บริการประชาชนที่ประสบอุทกภัยแล้ว สามารถเรียกเก็บค่าบริการตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายกรณีอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้

ยันทุกรพ.ได้เงินชดเชย
   
ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า รพ.ที่รับรักษาประชาชนนั้น ให้ดำเนินการตามกระบวนการเบิกจ่ายมาที่ สปสช.ตามปกติ ซึ่งหน่วยบริการทุกแห่งจะได้รับการเบิกจ่ายตามอัตราที่กำหนดโดยสปสช.ได้จัดเตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้วและจะเร่งรัดการดำเนินการตามกระบวนการเบิกจ่ายนี้ให้รวดเร็วขึ้นเพื่อให้รพ.ได้รับเงินเร็วขึ้นอันจะทำให้รพ.มีสภาพคล่องในภาวะวิกฤติที่ดีขึ้น ขณะที่รพ.นอกสังกัดในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น รพ.เอกชน แต่มีประชาชนที่ประสบอุทกภัยใช้บริการและเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าไปใช้บริการด้วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ขอให้ดำเนินการรักษาตามกระบวนการ และส่งเรื่องเบิกจ่ายมาที่สปสช.ได้   ซึ่งสปสช.ยืนยันและให้ความมั่นใจว่าทุกรพ.จะได้รับเงินชดเชยการรักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินอย่างแน่นอน

ตั้ง “ยงยุทธ” ดูแลอุทกภัย
   
สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุม ครม.มีความเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัยดินโคลนถล่ม ภัยแล้ง โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นคณะกรรมการกลางที่จะเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหา และจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อหาข้อสรุปจากข้อเสนอต่าง ๆ ที่มีมา ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ดูน้ำท่วมที่ จ.สระบุรี ว่า ในการประชุม ครม.เงาวันที่21 ก.ย.นี้ จะรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้ทำอย่างเป็นระบบ เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหาและความต้องการที่หลากหลาย โดยขอย้ำว่าอย่าไปคิดยึดกับบางระกำโมเดล เนื่องจากสภาพปัญหาแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน
   
ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องปิดโรงเรียนไปแล้ว 2,000 แห่งใน 55 จังหวัด 154 เขตพื้นที่การศึกษา มูลค่าความเสียหายราว 1,045 ล้านบาท ส่วน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร มาเป็นประธานการประชุมบูรณาการแผนป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมนำเสนอแผนงานต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 ก.ย. โดยทาง กทม.จะขอถนนที่อยู่ในกรุงเทพฯแต่ตกอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มาดูแลเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมให้เกิดความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

คนจนอ้วกผักกก.ละร้อย

   
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมหลายพื้นที่ ส่งผลให้ราคาผักสดในกรุงเทพฯกับปริมณฑลปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ กก.ละ 5-10 บาท โดยผักคะน้าเพิ่มเป็น กก.ละ 30-32 บาท ผักบุ้งจีน 28-30 บาท กวางตุ้ง 25-28 บาท กะหล่ำปลี 18-20 บาท ผักชีขีดละ 8-9 บาท ต้นหอม 7-8 บาท ขึ้นฉ่าย 9-10 บาท อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะปรับราคาขึ้นอีก เพราะยังมีน้ำท่วมขังต่อเนื่อง และเส้นทางขนส่งถูกตัดขาด รวมถึงจะมีความต้องการบริโภคผักเพิ่มในช่วงกินเจ ทำให้คาดว่าปีนี้เทศกาลกินเจหลายจังหวัดคงงด เนื่องจากทั้งปัญหาน้ำท่วมและราคาผักสดแพงชนิดคนจนไม่กล้าซื้อ
   
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายในเปิดเผยว่า ตนสั่งให้เจ้าหน้าที่จับตาราคาผักสด ผลไม้ในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาจนผู้บริโภคเดือดร้อน หากประชาชนพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 นอกจากนี้กรมฯพร้อมจะประสานนำผักสดไปจำหน่ายให้ เพราะขณะนี้แหล่งเพาะปลูกผักสำคัญใน จ.นครราชสีมา นครปฐม และ จ.ราชบุรี ยังไม่ได้รับความเสียหาย เชื่อว่าราคาผักสดจะไม่แพงขึ้นรุนแรงเหมือนปีที่แล้ว
   
น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จัดเตรียมวงเงินสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา ทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคกลางรวม 41 จังหวัด เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูและเป็นเงินทุนหมุนเวียนกิจการ โดยมีเงื่อนไขให้รายละไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน ซึ่งดอกเบี้ยคงที่ 8% ต่อปีตลอดสัญญา โดยรัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ 2% ทุกปี และปลอดเงินต้น 2 ปีแรก

ฟิล์ม-แพนเค้กแจกข้าวกล่อง
   
วันเดียวกันที่ชุมชนบ้านรอ จ.อ่างทอง กลุ่มศิลปินลูกศิษย์พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ได้จัดโครงการ “เปลี่ยนความดัง ให้เป็นความดี” ด้วยการจัดตั้งโรงทาน ทำอาหารแจกผู้ประสบอุทกภัย โดยมีศิลปินดังจากค่ายอาร์เอส อาทิ ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์, แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์, อาภาพร นครสวรรค์ มาร่วมตักอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยที่มาเข้าแถวรอรับไม่ขาดสาย โดยมีนายวิศวะ ศะศิสมิต ผวจ.อ่างทอง มาให้การต้อนรับ ขณะเดียวกันที่สนามการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้มีการแข่งขันฟุตบอลการกุศลรวมน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ระหว่างทีม ส.ส.นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล นำโดยนายจตุพร พรหมพันธ์ุ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ และนายวัฒนา เมืองสุข กับทีมรวมดารา ที่นำโดย “เป็ด เชิญยิ้ม”- ธัญญา โพธิ์วิจิตร, เกรท วรินทรปัญหกาญจน์, กิก ดนัย จารุจินดา และสุทิน-สุรักไชยกิตติ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย

“แพนเค้ก” รับบริจาคเงิน

   
ขณะที่บริเวณป้ายรถเมล์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 พร้อม แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ นางเอกสาวชื่อดัง และตำรวจหญิงชุดกองร้อยน้ำหวานกว่า 30 นาย นำกล่องรับบริจาคเงินจากประชาชน เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยแพนเค้กขึ้นโชว์ลูกคอร้องเพลง ก่อนเดินถือกล่องรับบริจาคขึ้นไปบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก.


source:http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=420&contentID=164793

ชาวบ้านป่วยทางเดินหายใจพุ่งคพ.คุมเข้ม 126 โรงปล่อยมลพิษ

    ชาวบ้านสมุทรสาครป่วยโรคทางเดินหายใจทุบสถิติ จี้กรมโรงงาน-กรมควบคุมมลพิษคุมเข้มมลพิษ 126 โรงงานหยุดปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขณะผลตรวจสอบฝุ่น-ซัลเฟอร์ไม่เกินมาตรฐาน
++++
             มลพิษที่ปล่อยจาก 126 โรงงานในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่ใช้ถ่านหินในปริมาณ 7 แสน-1 ล้านตัน คือ อีกปมหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับโรงงาน หากจัดการไม่ดีเพียงพอ
 นัทกมล   เพี้ยงสุนทร เจ้าของสวนกล้วยไม้ ที่อยู่ห่างจากท่าเรือของบริษัท ยูนิคไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน)  เพียง 2-3 กิโลเมตร สวนของเธอได้รับผลกระทบจากฝุ่นผงถ่านหินที่ปลิวลอยมาติดเรือนกล้วยไม้ จนทำให้กล้วยไม้ออกดอกและดอกกล้วยไม้บางส่วนเปื้อนผงถ่านหินไม่สามารถส่งออกได้
  แต่สิ่งที่เธอกังวลไม่เพียงผงถ่านหินจากการขนถ่ายถ่านหินที่กระทบกับอาชีพเกษตรกรรมของเธอเท่านั้น หากปัญหาใหญ่ คือ มลพิษจากการเผาไหม้ถ่านหินของ 126 โรงงานซึ่งเธอไม่แน่ใจว่า ลงทุนติดตั้งเครื่องดักจับปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์หรือไม่
ชาวบ้านหวั่นมลพิษโรงงาน
  "ดิฉันไม่แน่ใจว่าโรงงานกว่า 126 แห่ง ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมีระบบจัดการมลพิษที่ดีพอหรือไม่ แต่คาดว่าน่าจะไม่มี เพราะไม่มีผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ทำให้ไม่แน่ใจว่ายังได้มาตรฐานหรือไม่"
     ไม่เพียง นัทกมล ที่ตั้งข้อสังเกตการจัดการปัญหามลพิษจากการเผาไหม้ถ่านหิน หากรวมถึงนายประเสริฐ  เกิดไพบูลย์  ชาวบ้าน ต.สวนส้ม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร บอกว่า เขาได้ทำหนังสือทวงถามไปยังกรมควบคุมมลพิษไปหลายครั้งถึงปริมาณฝุ่นและมลพิษจากถ่านหิน แต่ได้รับคำตอบว่า ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งเขาไม่แน่ใจนักเพราะปริมาณฝุ่นผงสีดำที่ปลิวติดพื้นบ้าน รวมถึงเขาต้องเปลี่ยนอาชีพจากปลูกสวนฝรั่งมาเป็นสวนข่า เพื่อหนีฝุ่นผงสีดำ
 ชี้โรงงานมีเครื่องดักจับมลพิษ 
          แม้ชาวบ้านจะหวั่นเกรงว่าฝุ่นผงถ่านหิน และมลพิษจะเกินมาตรฐาน แต่นายอาทิตย์  วุฒิคะโร  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จำนวนโรงงานที่ใช้ถ่านหินที่สมุทรสาคร 126 โรงงาน มีเครื่องต้มน้ำ 75 เครื่องนั้นทุกโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายกรมโรงงาน ที่จะต้องติดตั้งระบบกำจัดมลพิษจากถ่านหิน คือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์
 "เท่าที่เข้าไปตรวจสอบไม่พบว่า มีโรงงานที่ไม่ติดตั้งเครื่องกำจัดมลพิษ และปริมาณมลพิษก็อยู่ในมาตรฐาน แต่สิ่งที่ชาวบ้านเดือดร้อนน่าจะเป็นเรื่องของเหตุเดือดร้อนรำคาญมากกว่า" นายอาทิตย์กล่าว
 คพ.ยันฝุ่นไม่เกินมาตรฐาน
                นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบปัญหาร้องเรียนผลกระทบจากการประกอบกิจการถ่านหินในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร  ซึ่งทาง คพ.ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร (ทสจ.) ได้ร่วมกันตรวจวัดมลพิษ 3 รายการ กล่าวคือ ฝุ่นละอองปริมาณฝุ่นฟุ้งกระจายบริเวณท่าเทียบเรือ 
 ปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศ รวมทั้งคุณน้ำภาพบริเวณท่าเทียบเรือและสถานประกอบการขนถ่ายถ่านหินของบริษัทเอกชน 2 แห่ง คือบริษัท ยูนิคไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) หมู่ที่ 5 ต.สวนส้ม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และท่าเรือเซนจูรี่ ของนายสมเกียรติ กิจพ่อค้า หมู่ที่ 1 ต.ท่าจีน อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ปรากฏว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ทั้งหมด  โดยเฉพาะผลการตรวจวัดค่าความทึบแสงของฝุ่นละอองฟุ้งกระจายจากท่าเรือนั้น ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 
 ส่วนผลตรวจปริมาณฝุ่นละอองในบรรยากาศโดยทั่วไป บริเวณใกล้เคียงกับท่าเรือของยูนิคไมนิ่ง  2  จุด คือ บริเวณประตูระบายน้ำคลองบางยางเก่า ห่างจากท่าเรือประมาณ 300 เมตร  และที่บริเวณโรงเรียนบ้านท้องคุ้ง ห่างจากท่าเรือยูนิค ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 2 กม. ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ค.นี้ พบว่าทั้ง 2 จุดนี้มีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองไม่เกิน 10 ไมครอนในเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากับ 0.04  มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
        "ยอมรับว่าการตรวจสอบปัญหามลพิษจากกิจกรรมขนถ่ายถ่านหินในพื้นที่สมุทรสาคร ไม่สามารถนำไปใช้เป็นคำตอบกับสิ่งที่ชาวบ้านต้องเผชิญถึงผลกระทบจากกิจกรรมในพื้นที่จริงได้เลย เพราะบ้านบางแห่งชุมชนก็มีฝุ่นสีดำเกาะตามหลังคาบ้านเรือน แต่ผลตรวจมันยังไม่เกินมาตรฐาน  แต่ คพ.เชื่อว่าผลกระทบที่เป็นมลพิษสะสมจากถ่านหินมีแน่นอน" นายวรศาสน์กล่าว
  อย่างไรก็ตาม คพ.ได้เตรียมประสานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ควบคุมการใช้งานว่าถ่านหินเหล่านี้มีต้นทาง ปลายทางไปที่อุตสาหกรรมไหนบ้าง เพราะยังเป็นจุดอ่อนที่ขาดการควบคุม โดยอุตสาหกรรมขนาดเล็ก อาจทำให้เกิดการกระจายของมลพิษ  ซึ่งเรื่องนี้กรมโรงงานต้อง เข้าไปติดตามและกำกับด้วยเพื่อจะได้ควบคุมไม่เกิดปัญหา
ฝุ่นอยุธยาไม่เกินมาตรฐาน
                นายวรศาสน์  กล่าวอีกว่า ส่วนท่าเรือและคลังสินค้าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น พบว่ามีทั้งหมด 27 ท่าเรือ ส่วนใหญ่อยู่ในเขต อ.นครหลวง เกือบทั้งหมด  ทั้งนี้ จากการเข้าตรวจของ คพ.ในช่วงเดือน เม.ย. 2553  ซึ่งตรวจวัดค่าความทึบแสง และปัญหาฝุ่นละอองจากกิจกรรมของท่าเรือ ส่วนใหญ่ยังไม่เกินมาตรฐานที่กำหนด  
โรคทางเดินหายใจพุ่ง
                  ความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ได้สะท้อนปัญหาที่การจัดการ ที่อาจจะเป็นเพียงเรื่องเดือดร้อนรำคาญ แต่การสะสมมลพิษในระยะยาว อาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ
            จากข้อมูลสถิติจากการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐของสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครพบว่า ในปี 2551-2554 มีผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนโลหิต และอันดับสามเป็นโรคระบบกล้ามเนื้อยึด
 ส่วนโรคที่ทำให้มีการเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ โรคมะเร็งต่างๆ รองลงมา คือ โรคติดเชื้อ และโรคที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนโลหิต รวมไปถึงการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
            "ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในสมุทรสาครส่วนใหญ่มีการเจ็บป่วยทั่วไป ซึ่งอาจจะเกิดจากมลภาวะที่เป็นมลพิษที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่แล้ว เพราะมีโรงงานมากกว่า 5,000 แห่งทั้งในชุมชนและรอบชุมชน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้คนเจ็บป่วย แต่ไม่สามารถจะชี้ชัดได้ตรงๆ ว่าเป็นผลกระทบมาจากถ่านหิน"
  ขณะที่ นพ.ชัยรัตน์ เวชพานิช สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครยังบอกอีกว่า แม้ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าถ่านหินเป็นจำเลยต่อสุขภาพคนสมุทรสาครหรือไม่ แต่หากมองตามหลังวิชาการแล้วถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ที่สูดดมเข้าสู่ร่างกายมีโอกาสเป็นโรคปอดอักเสบ
  นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมอธิบายว่า ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือได้รับฝุ่นถ่านหินเข้าสู่ร่างกายจะมีผลกระทบมากน้อยต่างกัน โดยสามารถเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ตั้งแต่กระบวนการทำเหมืองแร่ถ่านหินไปจนถึงการขนส่งและการนำเอาถ่านหินไปเผาไหม้เพื่อเป็นพลังงาน
            ส่วนผลกระทบงานการขนย้ายถ่านหินไปยังโรงงานยังส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง หรือระหว่างเส้นทางการขนส่งได้รับความรำคาญจากฝุ่นที่ฟุ้งกระจาย หากโรงงานขนส่งถ่านหินไม่มีการจัดการที่ดี ไม่มีการปิดคลุมที่ดี ก็จะทำให้คนในชุมชนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับคนงานทำเหมืองและมีโอกาสเป็นโรคทางระบบทางเดินหายใจ และมีภาวะปอดอักเสบได้ หากได้สูดดมฝุ่นถ่านหิน ที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน จากการบดละเอียด ก็จะสามารถเข้าสู่ปอดได้โดยตรง
          
           source:http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/life/20110920/410173/%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%9E.%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%A1-126-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9.html

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

สู่ทิศทางบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน

เรื่องของ Green Productivity จะเข้ามามีส่วนในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า

ในช่วงหลังมานี้กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะแวดล้อมของโลก ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดบ่อยครั้งมากขึ้น และเกิดในทั่วทุกมุมโลกจริงๆ ที่สำคัญเกิดแต่ละครั้งรุนแรงจนมาตรการและโครงสร้างต่างๆที่มนุษย์คิดและสร้างไว้เพื่อป้องกันภัยต่างๆพังทลาย เหมือนว่าจะใช้ไม่ได้ผลเสียเลย ดังนั้นนอกจากการแก้ไขและเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว แนวคิดการยับยั้งและป้องกันที่แหล่งกำเนิด ได้กลายเป็นประเด็นที่ต้องเร่งทบทวนอย่างรวดเร็ว


ในประเทศไทยเริ่มมีเวทีที่อภิปรายถึงปัญหาสภาวะแวดล้อมโลก และแนวทางใหม่ ๆที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจและการค้าโลกบ่อยครั้งขึ้น เมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือกับอีก 2 หน่วยงานสำคัญคือ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา และ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อจับตาแนวโน้มกระแสสีเขียว สู่ทิศทางการบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจและควรเผยแพร่สร้างความเข้าใจในประเทศมากขึ้น


ด้วยเห็นว่าจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ความสาเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่ผ่านมาทำให้มีการขยายตัวการผลิตและบริโภคอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรกันอย่างฟุ่มเฟือย และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงภาวะโลกร้อน (Climate change) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ ดังที่ปรากฎเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่ได้เกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้าท่วม ดินถล่ม สึนามิ ฯลฯ


จนกลายเป็นสิ่งย้ำเตือนให้มนุษย์เริ่มตระหนักว่า หากไม่หยุดยั้งการทำลายธรรมชาตินับแต่วันนี้ ก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดภัยพิบัติร้ายแรงอะไรขึ้นอีกบนโลกใบนี้ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ทาให้สังคมโลกตั้งคำถามถึงการสร้างความสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสาคัญที่ทำให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในหลายประเทศต่างหันมา Going Green และนำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปสู่ในกระบวนการผลิตและการบริโภคมากขึ้น เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและสังคม


การพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development กลายมาเป็น Megatrend ที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแนวคิดของความยั่งยืนดังกล่าว ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หากยังถือเป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างหนึ่ง เนื่องจากผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเอง ก็ให้ความสาคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น องค์กรหรือธุรกิจสีเขียวหลายแห่ง ได้ผนวกเอาแนวคิด Green เข้าไปประยุกต์ใช้ในทุกขั้นตอนกระบวนการของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) นับตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ, การจัดซื้อสีเขียว, บรรจุภัณฑ์สีเขียว, การตลาดสีเขียว, และการขนส่งสีเขียว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการนำขยะหรือของเสียกลับมาใช้ใหม่ สอดคล้องกับแนวคิดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสาคัญตั้งแต่การออกแบบจนกระทั่งหมดอายุการใช้งาน


กระแสในเรื่องของ Green ยังมาพร้อมกับการเปิดกว้างของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community (AEC) ที่จะเปิดตัวขึ้นในปี 2558 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งในเรื่องของ Green Productivity จะเข้ามามีส่วนในการสร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน เพราะจะเป็นกรอบที่ทำให้ผู้ผลิตที่อยู่ในประชาคมอาเซียนต้องมีการปรับกระบวนการผลิตขนานใหญ่ เพื่อให้ทั้งกระบวนการเป็นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


นอกจากนี้ ประเทศพัฒนาแล้วยังได้มีความพยายามที่จะใช้ข้อกำหนดทางสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทในทางการค้า เช่น มาตรการการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Border Carbon Adjustment - BCA) ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ BCA เนื่องจากมองว่าเป็นการใช้เครื่องมือทางสิ่งแวดล้อมในการกีดกันทางการค้า


ด้วยเหตุผลดังกล่าวทั้ง 3 หน่วยงานที่ร่วมจัดสัมมนาในครั้งนี้ นักวิชาการ นักบริหารภาคธุรกิจ จึงพิจารณาเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบและโอกาสที่มาพร้อมกับกระแสเรื่องการให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้องค์กรธุรกิจต่างๆ ในทุกภาคส่วนมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น


ถ้ามองแบบเป็นบวก ต้องถือได้ว่านี่เป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยซ้ำ เพราะ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือ SD (Sustainable Development) จะกลายเป็นกรอบแนวคิดของการจัดการองค์กรยุคใหม่ โดยที่แนวทางการดำเนินการแบบ GP (Green Productivity) จะเป็นเครื่องมือภาคปฏิบัติ ที่ช่วยให้นโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายบรรลุผลนั่นเอง ด้วยการออกแบบและปรับปรุงกระบวนการภายในใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและเลยไปถึงการจัดการหลังการใช้งานของผู้บริโภคด้วย


สิ่งที่ยืนยันความสำเร็จของการนำ GP ไปใช้ คือความมุ่งมั่นต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการนำไปปฏิบัติ ไม่ว่าเป็นเรื่อง ลดการใช้น้ำ พลังงาน สารเคมี การใช้สารอินทรีย์ที่มาจากธรรมชาติทดแทน การหมุนเวียน และการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการคำนวณผลกระทบในฝั่งผู้ผลิต (Production based) และได้มีการทดลองนำไปปฏิบัติแล้วในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนขององค์การผลิตภาพแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization)


นอกจากนี้อาจจะถึงเวลาแล้วก็ได้ที่ทุกคนในโลกนี้จะต้องหันกลับมาทบทวนวิถีชีวิต รูปแบบทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เน้นการบริโภคและใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ด้วยการคำนวณผลกระทบในฝั่งผู้บริโภค (Consumption based) ควบคู่กันไปกับการประยุกต์แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่อยู่บนพื้นฐานของสติและปัญญา โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าเป็นหลัก มากกว่าการตอบสนองความต้องการที่ไม่มีจุดสิ้นสุดของคน หรือประชานิยมหลงยุคแบบทุกวันนี้


จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

source:http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/jamlak/20110913/409092/%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%99.html

การผลิตกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


การผลิตกล้าไม้ เพื่อแจกจ่ายให้กับหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และประชาชนทั่วไป เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญกรมป่าไม้ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มสีเขียวให้กับโลกใบนี้ ซึ่งแต่ละปีมีการเพาะชำ กล้าไม้ 20-30 ล้านกล้า ฉะนั้นในขบวนการผลิต การจัดหาวัสดุมาใช้ในการผลิตกล้าไม้ การใช้ปุ๋ย และสารเคมีเพื่อควบคุมและกำจัดศัตรูพืช ย่อมจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ได้ตระหนักถึง ผลกระทบดังกล่าว จึงได้กำหนดนโยบายการผลิต กล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น

ทั้งนี้โดยล่าสุดได้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่องแนวทางการผลิตกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในด้านการผลิตกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของ ส่วนเพาะชำกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ รวมทั้งสร้างความตระหนักในการปรับเปลี่ยนการบริหาร จัดการกระบวนการผลิตกล้าไม้ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดจากการใช้สารเคมี ทั้งจากปุ๋ย และยาฆ่าแมลงตลอดจนสารกำจัดวัชพืช

นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีการผลิตกล้าไม้ประมาณ 20-30 ล้านกล้าต่อปี เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในโครงการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าให้กลับมาสมบูรณ์ รวม ทั้งใช้ในการส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าไม้เศรษฐกิจ เพื่อนำไม้มาใช้ประโยชน์ให้มีไม้ใช้สอยเพียงพอกับความต้องการทั้งด้านพลังงานทดแทนและผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากไม้ของประเทศ ซึ่งกระบวนการผลิตกล้าไม้ดังกล่าว ต้องปลอดจากการใช้สารเคมี หรือสารพิษที่ตกค้างหลังจากการใช้งาน ออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

ส่วนการดำเนินงาน กรมป่าไม้ได้จัดสัมมนาให้ความรู้กับบุคลากรในสำนักส่งเสริมการปลูกป่าส่วนเพาะชำกล้าไม้ทุกจังหวัดทั่วประเทศมาอบรมเพิ่มพูนความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการผลิตกล้าไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเรื่องการใช้วัสดุเพาะชำกล้าไม้เพื่อสิ่งแวดล้อม การใช้สารสกัดทางธรรมชาติต่างๆ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี โดยได้รับ ความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เช่น การใช้สารสกัดสมุนไพรในการป้องกันกำจัดโรคและแมลง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสำหรับกล้าไม้ จากสำนักเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน การใช้วัสดุย่อยสลายได้ในการเพาะชำกล้าไม้ จากสำนักงาน นวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) แนวทางการจัดการป่าไม้สำหรับคาร์บอน เครดิต จากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) เป็นต้น

สำหรับเทคโนโลยีการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพนั้น แต่ละสถานี และศูนย์เพาะชำกล้าไม้ได้ดำเนินการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นในการบำรุงกล้าไม้ที่เพาะชำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดินมาให้ความรู้ในการผลิตปุ๋ยหมัก ซึ่งทางกรมพัฒนาที่ดินมีสารเร่งซุปเปอร์ พด. ในสูตรต่างๆ วิธีการใช้พืชปุ๋ยสด รวมทั้งปุ๋ยชีวภาพเป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ที่สามารถสร้างธาตุอาหารหรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืชมา ใช้ในการปรับปรุงดินทางชีวภาพ กายภาพหรือทางเคมี ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้ น้ำหมักชีวภาพ

นอกจากนี้ยังลดการใช้สารเคมี มาใช้จุลินทรีย์ควบคุมโรคพืชและสารสกัดสมุนไพรควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำสารอินทรีย์ ที่สกัดจากพืชสมุนไพรมาใช้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำส้มควันไม้มาผสมกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 ผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีพืชสมุนไพรหลายอย่างมานำมาผลิตสารไล่หรือควบคุมแมลงได้เช่น มันแกว ว่านน้ำ สะเดา หนอนตายหยาก ขมิ้นชัน ยาสูบ ดีปลี หางไหล กลอย พริก น้อยหน่า สาบเสือ หญ้าฝรั่งเศส เบญจมาศ บอระเพ็ด สามโสก ตะไคร้หอม ไพล เสม็ดขาว ข่า กะเพรา เปลือกมังคุด ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้มีสารออกฤทธิ์แตกต่างกันไป รวมทั้งวิธีการสกัดนำสารออกฤทธิ์มาใช้ อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการผลิตกล้าไม้ นอกจากเรื่องการใช้ปุ๋ย ยา สารเคมีแล้ว วัสดุที่ใช้เพาะชำกล้าไม้ก็เป็นเรื่องใหญ่ กรมป่าไม้มีนโยบายที่จะใช้ถุงพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้มีโครงการ "ถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะชำกล้าไม้" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ด้วยการ สนับสนุนจากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ในการศึกษาแนวทางการพัฒนาถุงเพาะชำกล้าไม้จากพลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ เพื่อไม่ให้เกิดขยะพลาสติกที่เป็นมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม โดยได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการโครงการนำร่อง เพื่อศึกษาเปรียบเทียมการใช้งานจริงร่วมกันตลอดจนการพัฒนาสูตรคอมพาวด์พลาสติกชีวภาพ และการผลิตให้เหมาะสมเพื่อผลิตถุงเพาะกล้าไม้ มาตั้งแต่มกราคม 2553 ขณะนี้ได้ดำเนินการทดสอบเก็บข้อมูลการใช้งานที่จะต้องไม่ฉีกขาดภายใน 1 ปี ในเบื้องต้นพบว่าจะต้องมีการปรับสูตรเพิ่มความเหนียว และหนา เน้นสี และการปรับเปลี่ยนรูปแบบเรื่องสี ขนาด หรือการใช้งานนอกจากการเพาะชำยังมีถุงหิ้ว สำหรับแจกกล้าให้ประชาชนก็จะเป็นถุงพลาสติกย่อยสลายอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานของส่วนเพาะชำกล้าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ถือว่าเป็นต้นทางในการที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดภาวะโลกร้อน นอกจากได้ตระหนักในขบวนการผลิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาขบวนการผลิตกล้าไม้ให้ได้คุณภาพ ตามความต้องการ ทั้งเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ การปลูกเพื่อเพิ่ม พื้นที่ป่า การปลูกเพื่อการใช้สอย ทดแทนการนำเข้าไม้ จากต่างประเทศ การปลูกไม้เพื่อเป็นพลังงานทดแทน เป็นภารกิจที่ทางกรมป่าไม้ให้ความสำคัญและมีความภาคภูมิใจของชาวป่าไม้ทุกคน

source:http://www.naewna.com/news.asp?ID=279689

ความจริง ปะทะ อุดมคติ เมื่อผู้บริโภคไม่ควักกระเป๋าจ่ายค่า ‘กรีน’

แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น เป็นสิ่งที่มีมาก่อนนานแล้วไม่ว่าจะเป็นการ recycle การประหยัดพลังงาน หรือการบำบัด ของเสีย แต่ก็มีการปฏิบัติอยู่ในหมู่ผู้คนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งในขณะ นั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีวันที่แนวคิดนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่สามารถ นำมาใช้เป็นเครื่องมือการตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการได้

แต่เมื่อนายอัล กอร์ ได้ออกมาประกาศเตือน ถึงผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ผ่านทางภาพยนตร์เรื่อง An inconvenient Truth ซึ่งได้สร้างกระแสความตื่นตัวในการอนุรักษ์ธรรมชาติ สะท้อนไปทั่วทุกมุมโลก และเมื่อตอกย้ำด้วยข่าวสารเกี่ยวกับภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก

การอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงกลับกลายมาเป็น สิ่งที่อยู่ในจิตสำนึกของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งได้นำไปสู่การผลิตสินค้าที่ใช้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นจุดขาย ซึ่งมักจะมีราคาค่าตัวสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตตามกระบวนการปกติ เช่น อาหารออแกนิก เครื่องใช้จากวัสดุธรรมชาติ และวัสดุ recycle หรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน รวมถึงแคมเปญลดโลกร้อน เช่น การใช้ถุงผ้า

แม้ดูเหมือนผู้บริโภคจะใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม มากขึ้น แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าความรับผิดชอบต่อ สังคมนี้นำมาซึ่งรายจ่ายที่สูงกว่าปกติ และเมื่อประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดทั่วโลกเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันว่าผู้บริโภคจำนวนเท่าใดที่จะยอมควักกระเป๋าจ่ายให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้

โดยเมื่อปลายสิงหาคมที่ผ่านมาสำนักวิจัย Nielsen ได้ทำการศึกษาผู้บริโภคจาก 51 ประเทศทั่วโลก ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วม กว่า 25,000 คน และพบว่า แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซึ่งมีมากถึง 82% จะกล่าวว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่แบรนด์ต่างๆ ต้องให้ความใส่ใจและลงมือกระทำการบางอย่าง แต่กลับมีเพียง 22% เท่านั้นที่ยืนยันว่าตนจะยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์หรือ บริการที่มีส่วนช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อแบ่งตามภูมิภาคแล้ว พบว่าผู้บริโภคจากตะวันออกกลางและแอฟริกา มีความจริงใจในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติมากที่สุด โดยผู้บริโภคจำนวน 1 ใน 3 หรือเท่ากับมากกว่า 30% ยอมจ่ายเงินเพิ่ม สำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในขณะที่ภูมิภาคที่มีความเจริญ สูงอย่างอเมริกาเหนือซึ่งประกอบด้วยประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา กลับมีผู้บริโภคเพียง 12% เท่านั้นที่ยอมเพิ่มเงิน ส่วนต่างให้กับเหล่าสินค้าอนุรักษ์ธรรมชาติ

และสำหรับปัจจัยด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของตัวผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อนั้น แม้บรรดาผู้บริโภคจะยังมีความเห็น ที่หลากหลาย แต่ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่ของกลุ่ม ตัวอย่าง เช่น 48% ในอเมริกาเหนือ หรือ 35% จากยุโรปรวมถึง 33% ของเอเชียแปซิฟิก กลับเห็นว่าปัจจัยเหล่านั้นไม่มีสาระสำคัญใดๆ และจะตัดสินใจซื้อโดยดูจากราคาเป็นหลัก

นอกจากนี้ ทัศนคติต่อผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมยังคงก้ำกึ่งอยู่ โดยจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีแค่ 64% เท่านั้นที่เชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สิ่งแวดล้อมได้จริง ซึ่งผู้ที่ยังสงสัยส่วนใหญ่จะมาจากยุโรป, อเมริกาเหนือ, ตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าชนิดนี้ไปยังพื้นที่ดังกล่าวจะต้องทำการบ้านอย่างหนักเป็นพิเศษ

เมื่อลงมาในส่วนของผลจากการใช้งานต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสนใจและเชื่อมั่นในผลของการใช้หีบห่อที่มาจากวัสดุ recycle และประสิทธิภาพด้านพลังงานมากกว่าคุณสมบัติอื่นๆ เช่น การไม่ทดลองกับสัตว์ การใช้วัสดุในท้องถิ่นหรือแม้แต่การปลูกแบบออแกนิก

จากข้อมูลทั้งหมดนี้น่าจะสามารถสรุปได้ว่า หัวใจสำคัญของการสร้างสินค้าและบริการโดยอาศัยเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นตัวชูโรงนั้นก็คือ ความน่าเชื่อถือและคุณภาพ มิเช่นนั้นผลิตภัณฑ์ที่สร้าง ขึ้นอาจกลายเป็นเพียงการฟอกเขียวในสายตาของผู้บริโภค และแม้จะมีคุณสมบัติด้านอนุรักษ์ขั้นพื้นฐานหรือเป็นนามธรรมก็จะไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในตลาดอีกต่อไป


source:http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.php?news_id=413355444

"ยืดอายุมะเขือเทศ" ลดใช้พลังงาน แนวคิดดีๆ จากมทร.ธัญบุรีโชว์

"ยืดอายุมะเขือเทศแบบไม่ใช้พลังงาน" แนวคิดตอบสนองสถานการณ์โลกขาดแคลนพลังงาน ผลงานนักศึกษาวิศวกรรมการเกษตร มทร. ธัญบุรี โชว์ห้องยืดอายุมะเขือเทศต้นทุนต่ำ ลดการใช้พลังงาน เพิ่มคุณภาพผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้ชุมชน
มะเขือเทศ ผลผลิตทางเกษตร
มะเขือเทศเป็นผลิตผลการเกษตรเก็บเกี่ยวชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพ คือ มีน้ำเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ จึงก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งในระหว่างการเก็บเกี่ยวผลิตผล การขนส่ง และการเก็บรักษาได้ง่าย ดังนั้นการเก็บผลิตผลให้คงคุณภาพที่ดีไว้ได้นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่อยู่ไกลจากแหล่งผลิต จึงต้องมีวิธีการเก็บรักษาที่ดี และสามารถรักษาคุณภาพของผลิตผลให้ยาวนานขึ้น ป้องกันการเน่าเสีย ผลเหี่ยว และการเสื่อมคุณภาพได้
ห้องยืดอายุมะเขือเทศ
"โครงงานทางวิศวกรรมเพื่อการยืดอายุมะเขือเทศแบบไม่ใช้พลังงาน" ของ "สิเรียม ทองใบใหญ่" และ "รัตนาภรณ์ ดิษฐ์ทอง" นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมี "วรินธร ยิ้มย่อง" เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ โดยมีแนวคิดมาจาก ต้องการลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานที่ค่อนข้างสูง ในการเก็บรักษาผลิตผลในตู้เย็น หรือห้องเย็น เพราะคนทั่วไปมักมองว่าเป็นการเก็บรักษาที่ง่ายและสะดวก

"ในขณะที่โลกกำลังประสบกับปัญหาสภาวะการขาดแคลนพลังงาน แต่มนุษย์ยังใช้พลังงานอย่างไม่รู้ค่าและสิ้นเปลือง เราจึงมีแนวคิดในการทำโครงงานวิศวกรรมนี้ขึ้น เพื่อเป็นการทดลองสร้างห้องเก็บรักษาผลิตผลเกษตรแบบไม่ใช้พลังงาน เพราะหวังว่าเป็นการประหยัด และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ได้ผลิตผลคงคุณภาพแบบผู้บริโภคต้องการ อีกทั้งยังใช้ต้นทุนต่ำในการก่อสร้างห้อง ช่วยประหยัดทั้งพลังงานและค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องใช้เครื่องจักรหรือพลังงานไฟฟ้าใด ๆ"
ห้องเก็บมะเขือเทศต้นแบบ(ไม่ใช้พลังงาน)
เจ้าของผลงานกล่าวต่อว่า สำหรับการสร้างห้องเก็บมะเขือเทศแบบไม่ใช้พลังงาน จะประกอบด้วยอุปกรณ์ ดังนี้ คือ อิฐ-ทราย-ปูน-สายยาง-ถังน้ำ-ไม้ไผ่-ฟางข้าว-มะเขือเทศ โดยคัดเลือกให้อยู่ในระยะ Pink -เครื่องวัดสี (Colorimeter) MINOLTA รุ่น CR-10-เครื่องวัดปริมาณน้ำตาลแบบมือถือ 0-32 % Brix-เครื่องชั่งดิจิตอล Sartorius รุ่น CP3202S-เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ (Thermohygrometer)

"ส่วนขั้นตอนการสร้างก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรลักษณะห้องเป็นพื้นปูด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 200 x 150 cm มีผนัง 2 ชั้นสูง 68 cm ช่องว่างระหว่างผนังทั้งสองกว้าง 7 cm เพื่อบรรจุทรายลงไป หลังคาทำด้วยไม้ไผ่และฟางข้าว น้ำจะหยดจากสายยางไหลผ่านทรายที่อยู่ในช่องว่างระหว่างผนัง โดยกำหนดระดับการไหลของน้ำที่ 75 ลิตรต่อวัน โดยกระบวนการเก็บรักษามะเขือเทศในห้องเก็บรักษาแบบไม่ใช้พลังงาน จะปล่อยน้ำซึมผ่านผนังทั้งสี่ด้านที่ปริมาณน้ำ 75 ลิตรต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บรักษาผลมะเขือเทศในตู้เย็น และที่อุณหภูมิห้อง พบว่า ผลมะเขือเทศที่เก็บรักษาในตู้เย็นและในห้องเก็บรักษาแบบไม่ใช้พลังงานสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานถึง 14.00 วัน และ13.63 วันโดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ"

นับว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นำหลักการทางธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานอย่างไม่จำเป็น ซึ่งเหมาะกับภาวะที่โลกกำลังขาดแคลนพลังงาน นอกจากจะเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางด้วย


source:http://manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9540000116385

IRPC ชูนโยบายพลังงานมั่นคง ผุดโรงผลิตพลังไอน้ำ-ไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ

เนื่องจากบริษัท “ไออาร์พีซี” ได้เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานปิโตรเคมีตั้งอยู่ย่านชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ตำบลเชิง เนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัด ระยอง

ซึ่งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรม ภายใต้การจัดการของบริษัท พร้อมสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ ทั้งท่าเรือน้ำลึก คลังน้ำมัน และ โรงไฟฟ้า ดังนั้น การทำอุตสาหกรรมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนละแวกใกล้เคียง ทำให้ทางไออาร์พีซีได้เปิดโรงผลิตพลังไอน้ำและไฟฟ้าร่วมมาตรฐานมงกุฎไทย (Crown Standard) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติแทนหน่วยผลิตไอน้ำที่ใช้น้ำมันเตาทั้งหมด เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และปกป้องชุมชน

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บอกว่า จากการเล็งเห็นถึงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม และชุมชน อีกทั้งต้องการสนองนโยบายรัฐบาลทั้งด้านความมั่นคง การใช้พลังงาน สะอาดและการมีส่วนร่วมของชุมชนมั่นใจ ไร้ปัญหาในอนาคต

ล่าสุด ทางบริษัทได้เปิดโรงผลิตพลังไอน้ำและไฟฟ้าร่วมจากก๊าซธรรมชาติ (Combined Heat and Power Plant) ณ เขตประกอบการอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง โดยโรงผลิตพลังไอน้ำและไฟฟ้าร่วมจากกก๊าซธรรมชาติ (Combined Heat and Power Plant) เป็นโรงงานขนาดกำลังผลิตไอน้ำ 408 ตันต่อชั่วโมง และกำลังผลิตไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 220 เมกะวัตต์ ของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ณ เขตประกอบการอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จังหวัดระยอง

“โครงการนี้ เป็นโครงการที่สอดคล้อง กับนโยบายด้านพลังงานของประเทศทั้งในแง่ของการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด การรักษาสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการเปิดโอกาสให้ชุมชนในพื้นที่ได้มี ส่วนร่วม ตั้งแต่การเริ่มโครงการเพื่อสร้างการพัฒนา ที่ยั่งยืน” ต่อชุมชนเขาบอกต่อว่า โครงการนี้ สร้างขึ้น เพื่อทดแทนการผลิตไอน้ำที่ใช้น้ำมันเตา ซึ่ง ไออาร์พีซี ได้หยุดและยกเลิกหน่วยผลิตดังกล่าวครบทั้งหมดแล้ว หลังจากที่ได้ทยอยปลดระวางตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาระหว่าง ไออาร์พีซี และชุมชน ในการร่วมมือกันเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันอาจเกิดจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังส่งผลดี ในการลดต้นทุนของ บริษัทด้วย ทั้งนี้ หลังจากเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนมิถุนายน บริษัท สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ลงร้อยละ 16 ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษา ที่คาดการณ์ว่าโครงการนี้จะช่วยลดการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าได้ 240,000 ตันต่อปี หรือช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตได้ 5 ล้านบาทต่อวัน หรือ 150 ล้านบาทต่อเดือน

สำหรับแผนการดำเนินการหลังจากนี้ ไออาร์พีซี จะดำเนินงานตามแผนงานของโครงการฯ ในการขายคาร์บอนเครดิต ให้กับสหประชาชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งมาจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมภายนอกพื้นที่โครง การ อันเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะเพิ่มความ ร่วมมือระหว่าง ไออาร์พีซี และชุมชน ในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับชุมชนโดยรอบและประเทศชาติต่อไป

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโครงการนี้บริษัทได้ปรับใช้ต้นแบบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินอิโซโกะ ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะกระบวนการบริหารจัดการที่ดีทั้งการผลิตและการรักษา สิ่งแวดล้อมที่ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนมานานกว่า 30 ปี ซึ่งขณะนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่การมีส่วนร่วมกับชุมชน การลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจ ดังนั้นโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะถูกนำไปใช้เป็นต้น แบบการดำเนินงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ของเครือปตท.และโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง

“นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 ที่เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ไออาร์พีซี มุ่งมั่นและทุ่มเทการดำเนินงาน ทุกขั้นตอนอย่างระมัดระวัง เพราะจะเป็น บทพิสูจน์สำคัญให้เห็นว่า เราพร้อมที่จะเป็นสมาชิกรายหนึ่งของชุมชนแห่งนี้ นับตั้งแต่การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (EIA) การรับฟังความคิดเห็น จากทุกภาคส่วน ที่ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างเมื่อกันยายน 2552 และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ แม้จะใช้ เวลามากกว่าแผนที่วางไว้ แต่ก็เป็นความ ภาคภูมิใจของชาว ไออาร์พีซี ทุกคน ที่ได้มีโอกาสเรียนรู้และได้ร่วมมือเพื่อสร้าง โครงการที่ดีให้กับบ้านและชุมชนเพื่อนบ้านของเรา”

สำหรับโรงผลิตพลังไอน้ำและไฟฟ้า ร่วมแห่งนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาท ประกอบด้วยหน่วยผลิตจำนวน 6 หน่วย โดยจะผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับโรงงานต่างๆ ในเขตอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 400,000 ตัน/ปี และได้รับรางวัลมาตรฐานมงกุฎไทย (Crown Standard) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซ เรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ผู้บริหาร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บอกทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่บริษัท ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการ ปรับปรุงกระบวนการผลิตและการดำเนิน งานของโครงการ เพื่อลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ให้น้อย ที่สุด โดยสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากที่สุดของประเทศไทย และเป็นความภูมิใจที่เป็นโครงการแรกของจังหวัดระยอง ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ อีกทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมแห่งแรกในจังหวัดระยองที่ดำเนินการตามกระบวนการเรื่องสิ่งแวดล้อมของ EIA อีกด้วย


source:http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.php?news_id=413355433

เชฟรอน เขตทับซ้อน ผลประโยชน์ทับซ้อน


สัมพันธภาพอันชื่นมื่นระหว่าง ทักษิณ - ฮุนเซน



       ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กัมพูชาวาดหวังสองชาติรื้อฟื้นการเจรจาการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่เขตทับซ้อนในอ่าวไทยในโอกาส “ยิ่งลักษณ์” เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ 15 ก.ย.นี้ ก่อน “ทักษิณ” บินร่วมสัมมนาอนาคตเศรษฐกิจเอเชียที่กรุงพนมเปญในวันถัดไป ขณะที่เชฟรอนยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานสัญชาติอเมริกันหยิบชิ้นปลามันยึดครองสัมปทานของทั้งสองฝั่งไว้ในมือ

กำหนดการเยือนกัมพูชาของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ในวันที่ 15 กันยายน 2554 แม้จะเป็นการเยือนในวาระโอกาสที่ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชาที่ค้างคามาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายต่างคาดหมายว่าจะมีการหยิบยกเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาหารือ

ทางฝ่ายไทยนั้น สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า นายกรัฐมนตรีของไทย อาจมีการเจรจาเรื่องการขอให้ปล่อยตัว วีระ สมความคิด และ ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ แกนนำกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ที่ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำที่กรุงพนมเปญ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นอื่นที่ยังค้างคาทั้งปัญหาเขตแดนทางบก โดยเฉพาะกรณีปราสาทพระวิหาร การถอนทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารของทั้งสองฝ่าย และการอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามายังบริเวณพื้นที่พระวิหารตามคำสั่งศาลโลก รวมทั้งการเจรจาเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วม ซึ่งต้องมีการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าคณะผู้นำของไทยจะหยิบยกเรื่องต่างๆ ดังกล่าวขึ้นมาหารือหรือไม่

ขณะที่ฟากฝั่งกัมพูชา สำนักข่าวซินหัวของจีน และสื่อของกัมพูชา อ้างคำแถลงและการให้สัมภาษณ์ของ ซก อาน รองนายกรัฐมมนตรีกัมพูชา ว่า ปัญหาที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน คือ บริเวณพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งแน่นอนว่า ทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ของไทย กับทางสมเด็จฮุนเซน จะหยิบยกมาเป็นวาระในที่ประชุม

ซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ยังยืนยันว่า ไทย-กัมพูชาควรรื้อฟื้นการเจรจาเรื่องการร่วมพัฒนาทรัพยากรน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ซึ่งในระหว่างการมาเยือนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีของไทย จะมีการหยิบยกเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยขึ้นมาหารือ เพราะเชื่อว่าบริเวณนั้นเป็นแหล่งที่อุดมด้วยน้ำมันดิบและแหล่งสำรองแก๊สธรรมชาติ “เราจะไม่เก็บทองคำสีดำไว้ เราต้องการนำออกมากลั่น”

นายซก อาน กล่าวว่า เขากำลังรอที่จะพูดคุยกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ในเชิงเพิ่มผลผลิตและการพูดคุยครั้งนี้จะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ

การไปเยือนกัมพูชาของ ยิ่งลักษณ์ มีขึ้นในวันที่ 15 กันยายน 2554 ในวันถัดไป พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย พี่ชายของ ยิ่งลักษณ์ มีกำหนดเดินทางไปร่วมสัมมนาเรื่องอนาคตของเอเชียในด้านเศรษฐกิจ ที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 16-24 กันยายน 2554

สมเด็จฮุนเซน บอกว่า กำหนดการของพ.ต.ท.ทักษิณ กำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนที่นายกรัฐมนตรีของไทยจะไปเยือนกัมพูชา และยืนยันว่าไม่ได้มีการหารือเรื่องน้ำมันหรือก๊าซฯ ใดๆ เพราะทักษิณ ไม่ได้มีหน้าที่มาเจรจาในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย

แม้จะมีความคลุมเครือในประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาหารือของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ แต่จากการให้สัมภาษณ์ของ ซก อาน รองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เป็นที่ชัดเจนว่า กัมพูชาเตรียมการหารือกับไทยในเรื่องสำคัญทั้งเรื่องเขตแดนทางบกและเขตแดนทางทะเลซึ่งเรื่องทางทะเลนั้นมีประเด็นหลักอยู่ที่เรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วม ไม่เฉพาะแต่ ซก อาน เท่านั้นที่รอการหารือกับยิ่งลักษณ์ ทางสมเด็จฮุนเซน ก็ไม่ได้ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่าจะไม่มีการเจรจาเรื่องนี้กับรัฐบาลไทย

การเตรียมการเจรจาเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงประจวบเหมาะในระหว่างที่ ยิ่งลักษณ์ - ทักษิณ เดินทางไปเยือนกัมพูชานั้น เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะก่อให้เกิดข้อกังขาจากสังคม แม้ว่าฝ่ายที่สงสัยถึงการเข้าไปมีผลประโยชน์ในธุรกิจพลังงานของ ทักษิณ ในเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา นับตั้งแต่ช่วงที่เขายังเรืองอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจไทย - กัมพูชาเรื่องการเจรจาสิทธิในอ่าวไทย หรือ MOU 2544 และในฐานะที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจของกัมพูชาก่อนหน้านี้จะยังคลุมเครืออยู่จนถึงวันนี้ก็ตาม

ในขณะที่ผู้นำสองชาติและอดีตผู้นำของไทย มีโอกาสพบปะเจรจากันนั้น ในอีกด้านหนึ่งก็เมื่อมีข่าวจากสื่อของกัมพูชาและสื่อต่างชาติ รายงานว่า Steve Glick ประธานของกลุ่ม Chevron ได้บินตรงจากสหรัฐฯ เข้าไปปฏิบัติภารกิจในกัมพูชาเป็นกรณีพิเศษในนับแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีกำหนดเวลาปฏิบัติภารกิจคราวนี้เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน โดยกลุ่มเชฟรอน แถลงยืนยันถึงการเดินหน้าสำรวจ ขุดค้นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในทะเลอ่าวไทย

ความน่าสนใจในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเชฟรอนครั้งนี้ แม้ประธานของกลุ่มเชฟรอน จะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลงทุนและผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับการลงทุน แต่ที่ผ่านมาถือได้ว่า กลุ่มเชฟรอน เป็นกลุ่มธุรกิจพลังงานหลักที่มีความเคลื่อนไหวในการลงทุนในกัมพูชามากที่สุด โดยกลุ่มเชฟรอน ได้เริ่มสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซในเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา มาตั้งแต่ปี 2545

ทั้งนี้ จากรายงานผลการดำเนินประจำปี 2553 ของกลุ่มบริษัทเชฟรอน ได้ระบุการลงทุนในกัมพูชาว่า เชฟรอน ได้เข้าดำเนินการสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่ 1.2 ล้านเอเคอร์ (4,709 ตารางกิโลเมตร) ในบล็อก เอ ในอ่าวไทย ซึ่งเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการขุดเจาะในพื้นที่บล็อก เอ ดังกล่าว และคาดว่ารัฐบาลกัมพูชา จะอนุมัติสัมปทานระยะเวลา 30 ปีภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เชฟรอน ยังระบุว่า การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการลงทุนในการพัฒนาแท่นขุดเจาะและคลังเก็บลอยน้ำคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2554 ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริหารของเชฟรอนจะบินเข้า-ออกกัมพูชาเพื่อให้ภารกิจนี้บรรลุผล

นอกจากการได้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่บล็อก เอ ในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งกัมพูชาแล้ว กลุ่มเชฟรอน ยังถือครองสัมปทานสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยรัฐบาลไทยได้ให้สัมปทานแก่กลุ่มเชฟรอนและผู้ร่วมทุน ครอบคลุมพื้นที่ทับซ้อนทั้งหมด นับจาก บล็อก 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12 และ 13 ส่วนกัมพูชา ซึ่งแบ่งพื้นที่เขตทับซ้อนกับไทย ออกเป็น 4 แปลง ได้ให้สัมปทานแก่บริษัทต่างชาติครอบคลุมทุกแปลงเช่นเดียวกันกับไทย (ดูรายละเอียดในตาราง)

ตาราง การให้สัมปทานพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา
      



       เมื่อพิจารณาถึงการถือครองสัมปทานปิโตรเลียมของกลุ่มเชฟรอนที่อยู่ในมือทั้งสองฝั่งแล้ว หากรัฐบาลไทยและกัมพูชาสามารถเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาร่วมลงตัว จะทำให้ทั้งไทย กัมพูชา และบริษัทพลังงานข้ามชาติต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ ฝ่ายไทยจะมีแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติมาป้อนความต้องการภายในประเทศ ฝ่ายกัมพูชาก็จะได้นำ "ทองคำสีดำ" ขึ้นมาพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่บริษัทข้ามชาติก็จะร่ำรวยมั่งคั่งจากขุมพลังงานที่มีการประเมินเบื้องต้นว่ามีมูลค่ามหาศาลถึง 5 ล้านล้านบาท

source:http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000116261

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

มโนทัศน์แห่งอนาคต : ตอนที่ 2

ศตวรรษที่ 21 ซึ่งไม่เหมือนศตวรรษก่อนๆ นี้บ่งบอกได้ด้วยพลังแห่งการเกื้อกูลกัน  กล่าวคือ การปฏิสนธิข้ามระหว่างทั้งสามสาขาวิชา ซึ่งเป็นเครื่องหมายของจุดเปลี่ยนอย่างเฉียบพลันในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์  การผสมข้ามพันธุ์ระหว่างการปฏิวัติทั้งสามนี้จะถูกเร่งอย่างรุนแรงและเพิ่มความหลากหลายให้แก่การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และมอบอำนาจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในการจัดการกับสสาร ชีวิต และสมองกล

               ที่จริงแล้วมันเป็นการยากที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์วิจัยในอนาคตโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับทั้งสามสาขาวิชาเหล่านี้อยู่บ้างเลย  นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติทั้งสามนี้จะพบแล้วว่าตนเองอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด

               ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างการปฏิวัติทั้งสามเป็นรูปแบบที่เปลี่ยนผันได้อย่างรุนแรง  บ่อยครั้งเมื่อเกิดทางตันขึ้นในสาขาวิชาหนึ่งๆ โดยปกติแล้วก็พบว่ามีคำตอบในการพัฒนาที่เหนือความคาดหมายอย่างสิ้นเชิงในอีกสาขาวิชาหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งนักชีววิทยารู้สึกสิ้นหวังในการที่จะถอดรหัสยีนจำนวนเป็นล้านๆ ซึ่งบรรจุแบบพิมพ์แห่งชีวิตเอาไว้  แต่กระแสของยีนที่ค้นพบในห้องทดลองนั้นขับเคลื่อนโดยพัฒนาการของอีกสาขาหนึ่ง  การเพิ่มอย่างทวีคูณของอำนาจแห่งการคำนวณทำหน้าที่เป็นกลไกและเรียงลำดับยีนได้โดยอัตโนมัติ  ที่คล้ายๆ กันก็คือ แผงวงจรคอมพิวเตอร์ที่ทำจากซิลิกอนจะเข้าถึงจุดอิ่มตัวเมื่อพวกมันเชื่องช้าเกินไปสำหรับคอมพิวเตอร์ในศตวรรษหน้า  แต่ความก้าวหน้าใหม่ๆ ในการวิจัยดีเอ็นเอทำให้เกิดสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ชนิดใหม่ซึ่งคำนวณโดยมีพื้นฐานอยู่บนโมเลกุลอินทรีย์  ดังนั้น การค้นพบทั้งหลายในสาขาหนึ่งจึงหล่อเลี้ยงและส่งเสริมการค้นพบในสาขาที่ไม่มีความคาบเกี่ยวกันโดยสิ้นเชิง

               หนึ่งในผลที่ตามมาจากพลังงานเกื้อกูลอันเข้มแข็งระหว่างการปฏิวัติต่างๆ เหล่านี้คือก้าวย่างที่สม่ำเสมอของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์กำลังเร่งขึ้นสู่อัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
              
ความมั่งคั่งของชาติ
               ความเร่งรุดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าสู่ศตวรรษต่อไปนี้จำเป็นต้องมีผลกระทบต่อความมั่งคั่งของชาติและมาตรฐานการดำรงชีพของเรา  สามศตวรรษที่ผ่านมานี้ความมั่งคั่งโดยปกติแล้วถูกสั่งสมโดยชาติที่ถึงพร้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติหรือได้เก็บสะสมทุนไว้เป็นปริมาณมาก  การถือกำเนิดขึ้นของมหาอำนาจในยุโรปในศตวรรษที่ 19 และของสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 20 เป็นไปตามหลักการที่พบเห็นได้ในตำราข้อนี้

               อย่างไรก็ตาม เลสเตอร์ ซี. ทูโรว์ (Lester C. Thurow) อดีตคณบดีของคณะบริหารของ MIT (Sloan School of Management, Massachusetts Institute of Technology) เน้นย้ำไว้ว่า ในศตวรรษที่กำลังจะมาถึงจะมีการโยกย้ายความมั่งคั่งจากชาติที่มีทรัพยากรธรรมชาติและทุนสะสม ในแบบเดียวกันกับการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้  การเคลื่อนที่ของความมั่งคั่งที่ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนจะจัดรูปการกระจายอำนาจบนโลกใบนี้  ทูโรว์เขียนไว้ว่า ในศตวรรษที่ 21 กำลังสมองและจินตนาการ

ประดิษฐกรรม และการจัดกลุ่มเทคโนโลยีใหม่เป็นกุญแจสำคัญเชิงกลยุทธ์Ž  ที่จริงแล้วหลายชาติที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จะพบว่าความมั่งคั่งของพวกเขาลดลงอย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่า ในตลาดการค้าในอนาคตสินค้าจะมีราคาถูก การค้าขายจะเป็นเครือข่ายทั้งโลก ตลาดจะถูกเชื่อมโยงด้วยระบบอิเล็ก-ทรอนิกส์  ที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ ราคาสินค้าของทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างได้ตกลงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์จากช่วงทศวรรษ 1970 ถึงทศวรรษ 1990  และจากการประมาณการของทูโรว์ จะตกลงอีก 60 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020

               แม้แต่เงินทุนสะสมเองก็จะถูกลดสภาพกลายเป็นสินค้าหนึ่งที่วิ่งแข่งขันกันรอบโลกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์  หลายชาติที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติจะเจริญงอกงามในศตวรรษหน้า เพราะว่าพวกเขาวางหลักประกันไว้บนเทคโนโลยีที่ทำให้เป็นต่อในการแข่งขันในตลาดโลกได้  ทุกวันนี้ความรู้และทักษะจะยืนหยัดเป็นหนึ่งในฐานะแหล่งความได้เปรียบเดียวที่เปรียบเทียบกันได้Ž ทูโรว์ยืนยัน

               ผลที่ตามมาก็คือ บางชาติได้รวบรวมรายชื่อเทคโนโลยีสำคัญต่างๆ ที่จะรับใช้พวกเขาในฐานะเครื่องยนต์กลไกแห่งความมั่งคั่งและร่ำรวยสู่ศตวรรษหน้า  รายชื่อสามัญรวบรวมขึ้นในปี 1990 โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นรายชื่อนั้นรวมถึง
               ‘ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์
               ‘ เทคโนโลยีชีวภาพ
               ‘ อุตสาหกรรมวัสดุศาสตร์ใหม่
               ‘ โทรคมนาคม
               ‘ การผลิตเครื่องบินโดยสาร
               ‘ เครื่องมือเครื่องจักรและหุ่นยนต์
               ‘ คอมพิวเตอร์ (ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์)
              
               เทคโนโลยีใดๆ ที่คัดสรรมาเพื่อนำพาศตวรรษที่ 21 ล้วนหยั่งรากลึกในการปฏิวัติเชิงควอนตัม คอมพิวเตอร์ และดีเอ็นเอ โดยไม่มีข้อยกเว้น

               ที่สำคัญก็คือ การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ทั้งสามไม่ได้เป็นเพียงกุญแจสู่ความก้าวล้ำทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษต่อไปเท่านั้น  พวกมันยังเป็นเครื่องจักรแห่งความมั่งคั่งและความร่ำรวยที่ไม่เคยหยุดนิ่งด้วย  ชาติต่างๆ อาจจะกล้าแกร่งขึ้นหรือล่มสลายลงเพราะความสามารถของพวกเขาที่จะใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติทั้งสามนี้  ในกิจกรรมใดๆ ย่อมต้องมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้  ผู้ชนะนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นชาติที่เล็งเห็นถึงความสำคัญยิ่งของการปฏิวัติทั้งสาม  พวกที่มองข้ามพลังของการปฏิวัติเหล่านี้อาจจะพบว่าตนเป็นพวกชายขอบในตลาดการค้าโลกในศตวรรษที่ 21
              
กรอบเวลาสำหรับอนาคต
               ในการทำนายเกี่ยวกับอนาคต เราจำเป็นต้องเข้าใจกรอบเวลาที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้ เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าเทคโนโลยีที่แตกต่างกันจะเติบโตสมบูรณ์ในเวลาที่ต่างกัน  กรอบเวลาของการทำนายในหนังสือเล่มนี้แยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การค้นพบและเทคโนโลยีซึ่งจะวิวัฒนาการตั้งแต่ปัจจุบันถึงปี 2020  พวกที่จะวิวัฒนาการตั้งแต่ปี 2020 ถึง 2050และพวกที่จะปรากฏโฉมตั้งแต่ปี 2050 ไปจนถึงสิ้นศตวรรษที่ 21 (นี่ไม่ใช่กรอบเวลาที่ตายตัว  พวกมันเพียงแค่แสดงช่วงเวลาทั่วไปที่เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์บางอย่างจะผลิดอกออกผล)
              
               สู่ปี 2020
               จากวันนี้ถึงปี 2020 นักวิทยาศาสตร์เห็นการระเบิดของกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในแบบที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน  ในสองเทคโนโลยีหลักคือพลังของคอมพิวเตอร์และการถอดรหัสดีเอ็นเอ เราจะเห็นอุตสาหกรรมทั้งหมดเจริญงอกงามและล่มสลายบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ร่ายมนตร์สะกดเราไว้  ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 พลังของคอมพิวเตอร์ได้ก้าวหน้าไปโดยราวหมื่นล้านเท่า  แท้ที่จริงแล้ว ด้วยเหตุที่ทั้งพลังคอมพิวเตอร์และการถอดรหัสดีเอ็นเอเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 2 ปี เราก็สามารถคำนวณกรอบระยะเวลาที่ความก้าวล้ำทางวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้น  นี่หมายความว่าการทำนายเกี่ยวกับอนาคตของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชีวภาพสามารถประเมินเป็นตัวเลขด้วยความแม่นยำทางสถิติที่สมเหตุสมผลออกมาเป็นประมาณปี 2020

               สำหรับคอมพิวเตอร์นั้น อัตราการเติบโตที่ไม่เคยลดละถูกกำหนดเชิงปริมาณโดยกฎของมัวร์ซึ่งกล่าวไว้ว่า พลังของคอมพิวเตอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุกๆ 18 เดือน โดยประมาณ (ความคิดนี้เสนอขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1965 โดยกอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอินเทล  มันไม่ใช่กฎทางวิทยาศาสตร์ในแง่เดียวกันกับกฎของนิวตัน  แต่เป็นหลักการแปลกแต่จริงง่ายๆ ที่ได้ทำนายวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์มาหลายสิบปีแล้วได้อย่างเหลือเชื่อ)  กฎของมัวร์ ในทางกลับกัน กำหนดชะตาของบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ที่วางพื้นฐานแผนการในอนาคตและออกรุ่นผลิตภัณฑ์โดยฝากความหวังไว้กับการเติบโตอย่างต่อเนื่องดังกล่าว  ภายในปี 2020 เครื่องประมวลผลขนาดเล็ก (microprocessor) มีแนวโน้มที่จะมีราคาถูกและมีจำนวนมากเหมือนเศษกระดาษเครื่องประมวลผลจำนวนเป็นล้านๆ จะกระจัดกระจายอยู่รอบตัวเราเพื่อเป็นระบบอัจฉริยะ (intelligent systems) ให้เราเชื่อมต่อได้ทุกที่  ทุกสิ่งรอบตัวเราจะเปลี่ยนไป รวมถึงธรรมชาติของการค้า ความมั่งคั่งของชาติ และวิธีที่เราติดต่อสื่อสาร ทำงาน เล่นสนุก และดำรงชีวิต  เราจะมีบ้านอัจฉริยะ รถ ทีวี เสื้อผ้า อัญมณี และเงินตรา  เราจะพูดกับเครื่องใช้ของเราและพวกมันจะตอบกลับ  นักวิทยาศาสตร์ยังคาดไว้ด้วยว่าเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจะเชื่อมโยงทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกัน และวิวัฒนาการเป็นเยื่อที่ประกอบไปด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายล้านเครือข่ายรวมกันเป็น ดาวเคราะห์อัจฉริยะŽ  ในที่สุดเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็น กระจกวิเศษŽ ที่เคยปรากฏอยู่เพียงแต่ในนิทาน  มันสามารถพูดตอบโต้ด้วยความชาญฉลาดของมนุษยชาติเอง

               อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าปฏิวัติวงการที่สามารถแกะทรานซิสเตอร์ขนาดเล็กลงจากแผ่นซิลิกอน  นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแรงขับเคลื่อนที่ไม่หยุดยั้งนี้จะสรรค์สร้างคอม-พิวเตอร์ที่ล้ำยุคและมีสมรรถนะสูงไปจนถึงปี 2020 ที่ในที่สุดกฎเหล็กของฟิสิกส์์ควอนตัมจะรับช่วงต่ออีกครั้งหนึ่ง  เมื่อถึงเวลานั้นขนาดชิ้นส่วนของตัวประเมินผลจะเล็กลงเหลือราวขนาดของโมเลกุล และปรากฏการณ์ควอนตัมจะครอบคลุมทั้งหมดและยุคซิลิกอนในตำนานก็จะสิ้นสุดลง

               เส้นกราฟแสดงการเติบโตของเทคโนโลยีชีวภาพจะน่าตื่นตาไม่น้อยหน้ากันในยุคนี้ในการวิจัยทางชีวโมเลกุล สิ่งที่ขับเคลื่อนความสามารถอันน่าอัศจรรย์ที่จะถอดรหัสความลับแห่งชีวิตคือการนำคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์มาเรียงรหัสดีเอ็นเอแบบอัตโนมัติ  กระบวนการนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละจนกระทั่งราวปี 2020  จนกระทั่งกล่าวได้ว่าสิ่งมีชีวิตหลายพันชนิดจะถูกถอดรหัสดีเอ็นเอ  ก่อนจะถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าใครก็ตามบนโลกนี้จะมีรหัสดีเอ็นเอของตนเองเก็บไว้ในแผ่นซีดี  ถึงตอนนั้นเราจะมีพจนานุกรมแห่งชีวิต

               ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ผูกพันอย่างลึกซึ้งกับชีววิทยาและการแพทย์  โรคทางพันธุกรรมจำนวนมากจะถูกกำจัดไปโดยการฉีดยีนที่ถูกต้องเข้าไปในเซลล์ของผู้ป่วย  และด้วยสาเหตุที่ขณะนี้ค้นพบว่ามะเร็งเป็นการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม  มะเร็งกลุ่มใหญ่อาจรักษาได้ในที่สุดโดยไม่ต้องผ่าตัดที่รบกวนบริเวณรอบๆ หรือทำเคมีบำบัด  ในทำนองเดียวกัน สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีส่วนในการเกิดโรคติดต่อจะถูกพิชิตในความจริงเสมือนโดยการระบุจุดอ่อนในเกราะหุ้มของพวกมัน และสร้างตัวการทางเคมีโจมตีจุดอ่อนเหล่านั้น  ความรู้ทางโมเลกุลของเราเกี่ยวกับการพัฒนาเซลล์จะก้าวหน้าไปถึงขั้นที่สามารถปลูกทั้งอวัยวะ รวมถึงตับและไตได้ในห้องทดลอง
              
               จากปี 2020 ถึงปี 2050
               คำทำนายถึงการเติบโตอย่างรุนแรงของอำนาจของคอมพิวเตอร์และการถอดรหัสดีเอ็นเอจากบัดนี้จนถึงปี 2020 นั้นอาจดูเหมือนจะหลอกลวงไปเล็กน้อย ในแง่ที่ว่าทั้งคู่นั้นขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว  พลังคอมพิวเตอร์ขับเคลื่อนโดยใส่ทรานซิสเตอร์เข้าไปยังตัวปฏิบัติการขนาดเล็ก  ขณะที่การถอดรหัสดีเอ็นเอทำโดยระบบคอมพิวเตอร์ที่แน่ๆ คือเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่สามารถเติบโตแบบทวีคูณอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ช้าไม่นานก็จะต้องไปติดชะงักที่คอขวด

               เมื่อถึงเวลาประมาณปี 2020 ทั้งคู่จะเผชิญกับอุปสรรคชิ้นใหญ่ เนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีแผ่นซิลิกอน  ในที่สุดเราจะถูกบังคับให้ประดิษฐ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ศักย-ภาพยังไม่เคยสำรวจและทดสอบมาก่อน ตั้งแต่คอมพิวเตอร์แสง คอมพิวเตอร์โมเลกุลและคอมพิวเตอร์ดีเอ็นเอ ไปจนถึงคอมพิวเตอร์ควอนตัม  การออกแบบใหม่ที่แหวกแนวจากที่มีอยู่ต้องพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของทฤษฎีควอนตัม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกระทบกระเทือนความก้าวหน้าของวิทยาการคอมพิวเตอร์  ในที่สุดยุคของตัวปฏิบัติการขนาดเล็กจะสิ้นสุดลง และอุปกรณ์ควอนตัมชนิดใหม่ต่างๆ จะมาแทนที่

               ถ้าความยากลำบากในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เหล่านี้ถูกพิชิตได้ ช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2020 ถึงปี 2050 จะเป็นทางเข้าสู่ตลาดแห่งเทคโนโลยีชนิดใหม่โดยสิ้นเชิง  นั่นคือหุ่นยนต์อัตโนมัติที่แท้จริงที่มีสามัญสำนึก สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ สามารถจดจำและจัดการวัตถุต่างๆ ในสิ่งแวดล้อมของพวกมันและสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาด  การพัฒนาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ของเรากับเครื่องจักรตลอดไป

               ในทำนองเดียวกัน เทคโนโลยีชีวภาพจะเผชิญหน้ากับปัญหาชุดใหม่ก่อนปี 2020สาขาวิชานี้จะท่วมท้นไปด้วยยีนนับล้านๆ ที่หน้าที่พื้นฐานยังคลุมเครืออยู่มาก  แม้แต่ก่อนปี 2020 จุดสนใจจะหันเหจากการถอดรหัสดีเอ็นเอไปสู่การทำความเข้าใจหน้าที่พื้นฐานของยีนซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำได้โดยอัตโนมัติ  และการเข้าใจโรคและลักษณะทางพันธุกรรมที่เกิดจากกลุ่มยีน หรืออีกนัยหนึ่งคือพวกที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาแบบหลายยีน (multiple genes) ที่ยุ่งยากซับซ้อน  การเบนความสนใจมาสู่โรคที่เกิดจากกลุ่มยีน (polygenic diseases) ซึ่งอาจพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าเป็นกุญแจในการแก้ปัญหาโรคเรื้อรังที่ก่อความทุกข์ทรมานยิ่งบางอย่างที่มนุษย์กำลังเผชิญ ได้แก่ โรคหัวใจโรคไขข้อ โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน โรคจิตเภท และอื่นๆ  มันอาจนำไปสู่การถอดแบบมนุษย์หรือโคลนนิ่งและการแยก ยีนอายุขัยŽ ที่เชื่อกันว่าควบคุมกระบวนการแก่ชราทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น

               หลังปี 2020 เราคาดหวังว่าจะมีเทคโนโลยีอันน่าทึ่งใหม่ๆ ซึ่งถือกำเนิดในห้องทดลองฟิสิกส์์จะผลิดอกออกผลด้วยเช่นกัน ตั้งแต่เลเซอร์รุ่นใหม่และโทรทัศน์สามมิติไปถึงปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น  ตัวนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิปกติอาจจะนำไปใช้ในทางการค้าและทำให้เกิด การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2Ž  ทฤษฎีควอนตัมจะทำให้เราสามารถผลิตเครื่องจักรขนาดเท่าโมเลกุล นำไปสู่เครื่องจักรชนิดใหม่คุณสมบัติพิสดารที่เรียกว่านาโนเทคโนโลยี  ลงท้ายเราอาจสามารถสร้างเครื่องจักรไอออนิกที่อาจทำให้การเดินทางระหว่างดาวเคราะห์เป็นเรื่องธรรมดาในที่สุด
              
               จากปี 2050 ถึงปี 2100 และต่อจากนั้น
               ประการสุดท้าย หนังสือเล่มนี้ทำนายเกี่ยวกับความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ปี 2050 ถึงต้นศตวรรษที่ 22  ถึงแม้ว่าการทำนายใดๆ เกี่ยวกับอนาคตที่ยาวไกลเช่นนั้นจำเป็นต้องมีความคลุมเครือ  แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่มีแนวโน้มที่จะถูกครอบงำด้วยพัฒนาการใหม่หลายอย่าง  หุ่นยนต์อาจจะเข้าถึง ความรู้สึกตัวŽ และสำนึกในตัวตนพวกมันเองไม่มากก็น้อย  สิ่งนี้เพิ่มประโยชน์ใช้สอยของพวกมันในสังคมได้เมื่อพวกมันสามารถตัดสินใจอย่างอิสระและมีบทบาทเป็นเลขานุการ พ่อบ้าน ผู้ช่วยและลูกมือในทำนองเดียวกันการปฏิวัติดีเอ็นเอจะก้าวหน้าไปถึงจุดที่นักชีวพันธุศาสตร์สามารถสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่จากการโอนถ่ายยีนที่ไม่ใช่เพียงสองสามชิ้น แต่เป็นจำนวนร้อยๆ ทำให้เรามีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น ปรับปรุงยาและสุขภาพ  การปฏิวัติดังกล่าวอาจทำให้เราสามารถออกแบบรูปแบบชีวิตใหม่ และจัดแต่งโครงสร้างทั้งทางกายภาพ และบางทีทางจิตใจของลูกหลานของเรา ที่อาจก่อให้เกิดคำถามด้านจริยธรรมได้ด้วย

               ทฤษฎีควอนตัมสร้างอิทธิพลที่ทรงพลังในศตวรรษต่อไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการก่อกำเนิดพลังงาน  เราอาจเห็นจุดเริ่มต้นของจรวดที่สามารถไปยังดวงดาวใกล้เคียงและแผนการที่จะสร้างอาณานิคมแห่งแรกๆ ในอวกาศ

               หลังปี 2100 นักวิทยาศาสตร์เห็นว่าจะมีการบรรจบกันของการปฏิวัติทั้งสาม  เมื่อทฤษฎีควอนตัมให้วงจรทรานซิสเตอร์และเครื่องจักรทั้งเครื่องที่มีขนาดเท่าโมเลกุลแก่เราทำให้เราสามารถจำลองแบบคลื่นสมองบนคอมพิวเตอร์  ในยุคนี้นักวิทยาศาสตร์บางคนได้ค้นคว้าเกี่ยวกับการยืดชีวิตโดยการปลูกถ่ายอวัยวะและร่างกาย การจัดการกับองค์ประกอบทางพันธุกรรม หรือแม้แต่เชื่อมต่อกับสิ่งประดิษฐ์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ไปสู่อารยธรรมของดาวเคราะห์
               เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่น่ามึนงงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับใหญ่ขนาดนี้ มีบางเสียงคอยบอกว่าเรากำลังจะไปไกลและเร็วเกินไป  จนกระทั่งผลกระทบทางสังคมที่คาดไม่ถึงจะถูกปลดปล่อยโดยการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้

               ผมจะพยายามบอกเล่าถึงข้อสงสัยและความกังวลอันสมเหตุสมผลเหล่านี้ โดยสำรวจอย่างระมัดระวังถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมที่อาจจะอ่อนไหวต่อการปฏิวัติที่ทรงอำนาจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกมันทำให้ความแตกแยกที่มีอยู่ในสังคมนั้นแย่ลงไปอีก

               ยิ่งไปกว่านั้น เราจะตั้งคำถามหนึ่งที่ไกลตัวเรายิ่งกว่า นั่นคือเรากำลังรีบไปที่ไหนกัน ถ้ายุคหนึ่งของวิทยาศาสตร์กำลังสิ้นสุดลง และอีกยุคหนึ่งกำลังเริ่มต้นขึ้น แล้วทั้งหมดนี้กำลังนำเราไปยังแห่งหนใด?

               นี่คือคำถามของนักฟิสิกส์์ดาราศาสตร์ผู้กวาดสายตาไปตามท้องฟ้าเพื่อมองหาสัญญาณที่แสดงถึงอารยธรรมต่างดาวที่อาจจะก้าวหน้ากว่าเรามาก  มีดวงดาวประมาณ 2 แสนล้านดวงในกาแล็กซี่ของเรา และมีกาแล็กซี่อยู่ล้านล้านล้านกาแล็กซี่ในอวกาศ แทนที่จะสูญเงินเป็นล้านๆ ดอลลาร์ในการสุ่มเสาะหาสัญญาณที่แสดงถึงสิ่งมีชีวิตต่างดาวในหมู่ดวงดาวทั้งหมด  นักฟิสิกส์์ดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสืบเสาะเหล่านี้ได้พยายามมุ่งไปที่การสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของพลังงานและร่องรอยของอารยธรรมที่ก้าวหน้ากว่าเราหลายศตวรรษหรือหลายพันปี
               นักฟิสิกส์์ดาราศาสตร์ผู้ซึ่งคอยกวาดตามองท้องฟ้าได้ประยุกต์ใช้กฎทางอุณหพลศาสตร์และพลังงาน และสามารถแบ่งแยกอารยธรรมต่างดาวที่สมมุติฐานไว้เป็นสามประเภทตามวิธีการใช้พลังงาน  นักดาราศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อนิโคไล คาร์ดาเชฟ (Nikolai Kardashev) และนักฟิสิกส์์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันชื่อฟรีแมน ไดสัน (Freeman Dyson) ตั้งชื่อชนิดไว้ว่าอารยธรรมแบบที่หนึ่ง สอง และสาม

               สมมุติว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานในแต่ละปีอยู่ในอัตราที่ไม่สูงนัก ใครก็คาดคะเนอนาคตข้างหน้านับศตวรรษได้เมื่อแหล่งพลังงานบางอย่างจะหมดสิ้น บีบให้สังคมก้าวสู่ระดับต่อไป

               อารยธรรมแบบที่หนึ่งคืออารยธรรมที่ควบคุมพลังงานทุกชนิดบนโลก  อารย-ธรรมดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนดินฟ้าอากาศ ทำเหมืองในมหาสมุทร หรือดึงพลังงานจากศูนย์กลางดาวเคราะห์ของพวกเขาได้  ความต้องการทางพลังงานนั้นมีมากจนกระทั่งพวกเขาต้องเอาทรัพยากรที่มีศักยภาพของทั้งดาวเคราะห์มาใช้  การนำมาใช้และจัดการทรัพยากรขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องการความร่วมมือในระดับที่ซับซ้อนผ่านการสื่อสารโดยรวมที่ละเอียดถี่ถ้วน  นี่หมายความว่าพวกเขาต้องเข้าถึงอารยธรรมของทั้งดาวเคราะห์อย่างแท้จริง คือเป็นแบบของอารยธรรมที่ได้วางมือเกือบทั้งหมดจากการดิ้นรนตามกลุ่มผลประโยชน์ ศาสนา นิกาย ชนชาติที่แบ่งแยกต้นกำเนิดของพวกเขา

               อารยธรรมแบบที่สองคืออารยธรรมที่ควบคุมพลังงานของดวงดาว  ความต้องการพลังงานนั้นมากมายมหาศาลจนกระทั่งพวกเขาได้ใช้ทรัพยากรบนดาวเคราะห์จนหมด และต้องใช้ดวงอาทิตย์เองในการขับเคลื่อนเครื่องจักรของพวกเขา  ไดสันคาดว่าการสร้างทรงกลมขนาดมหึมารอบๆ ดวงอาทิตย์ อารยธรรมดังกล่าวอาจจะสามารถนำพลังงานทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์มาใช้  พวกเขาเริ่มการสำรวจและตั้งอาณานิคมที่ระบบดวงดาวใกล้เคียงด้วยเช่นกัน

               อารยธรรมแบบที่สามคืออารยธรรมที่ได้ใช้พลังงานที่ออกมาจากดาวดวงหนึ่งไปหมดแล้ว  พวกเขาต้องไปยังระบบดาวและกลุ่มกาแล็กซี่ใกล้ๆ และวิวัฒนาการไปเป็นอารยธรรมกาแล็กซี่ในที่สุด  พวกเขาได้รับพลังงานจากการนำพลังงานของกลุ่มดาวต่างๆ ในกาแล็กซี่มาใช้

               (เพื่อให้รู้สึกถึงขอบเขต สหพันธรัฐแห่งดาวเคราะห์ที่บรรยายถึงในเรื่องสตาร์เทร็ก (Star Trek) อาจพิจารณาได้ว่าอยู่ในสถานะเริ่มของแบบที่สอง  เพราะพวกเขาเพิ่งจะสามารถจุดระเบิดดวงดาวและก่อตั้งอาณานิคมในระบบดาวใกล้เคียงได้ 2-3 ระบบ)

               ระบบการแบ่งแยกประเภทอารยธรรมนี้เป็นระบบที่สมเหตุสมผลเพราะว่ามันพึ่งพาแหล่งพลังงานใช้สอยที่มี  อารยธรรมที่ก้าวหน้าทางอวกาศจะมีแหล่งพลังงานทั้งสามอยู่ในกำมือในที่สุด อันได้แก่ ดาวเคราะห์ ดวงอาทิตย์ และกาแล็กซี่ของพวกเขา ไม่มีทางเลือกอื่นอีก

               จากอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมากคือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่พบโดยทั่วไปบนโลก  เราคำนวณได้ว่า เมื่อใดดาวเคราะห์ของเราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สถานะที่สูงกว่าในกาแล็กซี่แห่งนี้ ตัวอย่างเช่น นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ประมาณบนพื้นฐานของการพิจารณาด้านพลังงานว่าสัดส่วนหมื่นล้านเท่าอาจแบ่งผลต่างของความจำเป็นด้านพลังงานระหว่างอารยธรรมหลากหลายประเภท  ถึงแม้ว่าในตอนต้นตัวเลขมหาศาลนี้อาจจะดูเหมือนอุปสรรคที่ไม่สามารถข้ามผ่านไปได้ แต่อัตราการเติบโตที่คงตัวที่ 3 เปอร์เซ็นต์ก็จะเอาชนะสัดส่วนนี้ได้  ที่จริงแล้วเราคาดได้ว่าน่าจะไปถึงสถานะของแบบที่หนึ่งภายในหนึ่งหรือสองศตวรรษ เพื่อจะไปถึงสถานะของแบบที่สองอาจใช้เวลาไม่เกินประมาณ 800

ปี  แต่เพื่อไปให้ถึงสถานะของอารยธรรมแบบที่สามอาจใช้เวลาถึง 10,000 ปี หรือมากกว่านั้น (ขึ้นกับฟิสิกส์์ของการเดินทางระหว่างดวงดาว)  แต่แม้แต่เรื่องนี้ก็เป็นเพียงพริบตาเดียวจากมุมมองของจักรวาลที่มีอายุยืนนาน

               ตอนนี้เรากำลังอยู่ที่ไหน? คุณอาจจะถาม  ปัจจุบันนี้เราเป็นอารยธรรมชนิด 0กล่าวได้ว่าเราเพียงใช้พืชที่ตายแล้ว (ถ่านหินและน้ำมัน) เพื่อเป็นพลังงานเครื่องจักรของเรา  ในระดับดาวเคราะห์ เราก็เหมือนเด็กๆ ที่กำลังก้าวย่างอย่างลังเลและงุ่มง่ามไปสู่อวกาศ  แต่ก่อนจะสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 พลังที่มิอาจต้านทานของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ทั้งสามจะบังคับชาติต่างๆ บนโลกให้ร่วมมือกันในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์  ก่อนจะถึงศตวรรษที่ 22 เราจะมีพื้นฐานสำหรับอารยธรรมแบบที่หนึ่งเรียบร้อยแล้ว และมนุษยชาติจะได้ย่างก้าวเป็นครั้งแรกไปสู่ดวงดาว
               การปฏิวัติข้อมูลข่าวสารกำลังสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งทลายความใจแคบและการยึดติดผลประโยชน์หรือพวกพ้อง และในเวลาเดียวกันก็สร้างสรรค์วัฒนธรรมร่วมกันทั้งโลก  เช่นเดียวกับการที่แท่นพิมพ์กูเตนเบิร์กทำให้ผู้คนรู้ถึงโลกอื่นๆ ภายนอกหมู่บ้านหรือชุมชนของพวกเขา  การปฏิวัติข้อมูลกำลังก่อสร้างและลอกเลียนวัฒนธรรมร่วมแห่งดาวเคราะห์จากวัฒนธรรมที่เล็กกว่านับพัน

               นี่หมายความว่าสักวันหนึ่งการเดินทางที่พุ่งสุดตัวสู่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำพวกเราให้วิวัฒนาการไปสู่อารยธรรมแบบที่หนึ่งอย่างแท้จริง  อารยธรรมแห่งดาวเคราะห์ที่นำพลังแห่งดาวเคราะห์ไปใช้อย่างแท้จริง การเดินทางไปสู่อารยธรรมแห่งดาวเคราะห์จะเป็นไปอย่างช้าๆ และไม่สม่ำเสมอ  ในขณะเดียวกันไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องเต็มไปด้วยความพลิกผันและอุปสรรคขวากหนามที่ไม่คาดคิด  ในเบื้องหลังย่อมเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ การระบาดของโรคติดต่อที่รุนแรงถึงตาย หรือการพังทลายของสิ่งแวดล้อมในการขวางกั้นไม่ให้การพังทลายเช่นนั้นเกิดขึ้น  ผมคิดว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีศักยภาพในการสร้างแรงที่จะดึงมนุษยชาติไปสู่อารยธรรมแบบที่หนึ่ง

               เรายังอยู่ห่างไกลจากโอกาสที่จะได้เห็นการสิ้นสุดของวิทยาศาสตร์  เราจะเห็นว่าการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ทั้งสามกำลังปลดปล่อยพลังที่อาจจะมีอำนาจมากพอที่จะยกระดับอารยธรรมของพวกเราเข้าสู่สถานะของแบบที่หนึ่ง  ดังนั้น เมื่อนิวตันเพียงผู้เดียวเริ่มจ้องมองมหาสมุทรแห่งความรู้อันกว้างใหญ่ที่ไม่มีใครสำรวจไว้มาก่อน  เขาคงไม่เคยตระหนักว่าปฏิกิริยาลูกโซ่แห่งเหตุการณ์ที่เขาและคนอื่นๆ ได้เริ่มต้นขึ้นจะกระทบสังคมยุคใหม่ทั้งหมดในวันหนึ่ง  สังคมซึ่งในที่สุดจะหลอมรวมเป็นอารยธรรมแห่งดาวเคราะห์และขับดันมันสู่เส้นทางแห่งดวงดาว

source:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1315806767&grpid=no&catid=&subcatid=