ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศจีน โดยเป็นการทำสัญญาความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องของจังหวัดกระบี่กับมณฑลเจียงซู (Jiangsu) ซึ่งได้ตกลงในความร่วมมือกัน 3 ด้าน
ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ด้านการศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตรและพลังงาน ในเบื้องต้นจะมีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวของทั้งสองเมือง ซึ่งจังหวัดกระบี่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและหลากหลายมาก เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน
นอกจากนี้ยังจะมีการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมที่ดีงามของทั้งสองเมือง ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในหลายๆระดับตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมไปกระทั่งถึงระดับปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านการเกษตรและพลังงานนั้น ถือได้ว่าประเทศจีนได้มีการวิจัยและพัฒนาไปได้รวดเร็วมาก จนมีหลายๆ เทคโนโลยีเราได้นำเข้ามาใช้ และก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาและผลิตในประเทศจีนนั้นมีราคาไม่สูงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีเดียวกันที่ผลิตในประเทศแถบยุโรป แม้นว่าคุณภาพของสิ่งประดิษฐ์จะด้อยกว่าทางยุโรปและอเมริกา แต่ประการสำคัญคือสามารถประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ค่อนข้างดี และที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงที่สามารถทำได้เองหรือไม่ก็มีต้นทุนที่ถูกกว่าที่จะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญค่าตัวสูงลิ่วมาดำเนินการซ่อมบำรุงให้
แต่ในการเดินทางไปครั้งนี้นอกจากได้ทำสัญญาเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองเมืองแล้ว มีสิ่งที่ได้มีโอกาสพบและประสบมาหลายๆอย่าง และคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย แนวคิดที่ดีๆหากจะลอกเลียนแบบก็ไม่น่าจะเสียหาย แต่ในทางกลับกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีเสียด้วยซ้ำไป ประเทศจีนนับได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงมากๆ แต่ประเทศจีนกลับเป็นประเทศที่ได้รับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) สูงมากๆเช่นกัน ในโอกาสที่ได้เดินทางไปในครั้งนี้ได้ผ่าน 2-3 เมืองในมณฑลเจียงซู ซึ่งแค่นี้ก็มีประชากรมากกว่าประเทศไทยแล้ว สิ่งที่ได้พบเห็นและประทับใจมากคือการพยายามวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้พลังงานสะอาดกันอย่างจริงจัง
จากรายงานพบว่ามีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดมากกว่าครึ่ง โดยได้จากพลังงานน้ำและพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้นการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ของประเทศจีนจึงมุ่งพัฒนาใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก เช่น รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Train) ที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงถึง 431 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พวกเราก็มีแนวความฝันว่าหากมีการนำรถไฟฟ้าความเร็วสูงนี้มาเชื่อมการเดินทางในจังหวัดท่องเที่ยวในชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเชื่อมตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต-พังงา- กระบี่-ตรัง-และสตูล น่าจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันมีการขยายตัวได้อีกมากมายทีเดียว เพราะจะเป็นการถ่ายเทนักท่องเที่ยวให้กระจายไปได้ทั่วแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่มากมายใน 6 จังหวัดดังกล่าว
นอกจากรถไฟแล้วแม้แต่รถจักรยาน หรือรถจักรยานยนต์ ก็มีการใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน เป็นจักรยานไฟฟ้า และจักรยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากช่วยประหยัดพลังงานแล้วยังเป็นการลดมลพิษในอากาศจากคาร์บอนมอนนอกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ที่พ่นจากไอเสีย รวมทั้งมลพิษทางเสียงที่ดังมากจากรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ และมีการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้มีสมรรถนะใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีรายงานเบื้องต้นว่าหากมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะสามารถประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงได้มากถึงประมาณกิโลเมตรละ 2 บาทเลยทีเดียว จากกรณีนี้ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาในเรื่องของคาร์บอนเครดิต และกรณีที่มีการพัฒนาเพื่อลดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ได้เช่นเดียวกัน
การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรก็เช่นเดียวกัน คือต้องยอมรับว่าในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะกระบวนการย่อยสลายของเหลือและมูลสัตว์จะมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ออกมาในหลายระยะในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งก๊าซมีเทนมีส่วนในการสร้างมลพิษเรือนกระจกมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เสียด้วยซ้ำไป ดังนั้นการลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจึงต้องให้ลดน้อยลงหรือไม่มีเลย หรือหากจำเป็นต้องกำจัดก็ต้องมีการนำมาใช้ผลิตก๊าซในระบบปิด ซึ่งก็จะได้ก๊าซ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือน และหากมีปริมาณมากเพียงพอก็จะได้โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาตินี้ เป็นพลังงานสะอาดเช่นกัน และนอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่จะได้รับค่าคาร์บอนเครดิตได้อีกทางหนึ่งด้วย และสิ่งที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ คือการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Energy) และพลังงานลม (Wind Energy) ที่ถือเป็นพลังงานสะอาด แม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยจะแพงกว่า การผลิตพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงต่างๆก็ตาม ที่เห็นได้ชัดเจนมาก คือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยการติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell)ไว้บนหลังคาบ้าน หรืออาคารที่พักที่สูงลิ่ว แทบจะทุกหลังคาเรือนเลยก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าพลังงานที่ได้รับจะมีไม่มากเพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าของทุกครัวเรือนแต่ก็สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนได้ในปริมานที่มากโขอยู่เช่นกัน เช่นอย่างน้อยที่สุดก็เพียงพอสำหรับการผลิตน้ำอุ่นที่ใช้ในครัวเรือน ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกแนวทางหนึ่งด้วย
จะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลของประเทศจีน ให้ความสนใจในการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาดที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อโลกแห่งอนาคต ผมเชื่อว่ามีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของภาครัฐและเอกชน ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาและดูงานในประเทศจีน และเชื่อว่าได้มีโอกาสได้เห็นแบบที่ผมได้เห็น สมควรที่เราจะต้องรีบเร่งในการร่วมมือร่วมใจกันในการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาดกันให้มากขึ้น และต้องดำเนินการกันอย่างเป็นรูปธรรม และสัมฤทธิผลโดยเร็ว อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่าหากจะทำการวิจัยและพัฒนา (Research and Development :R&D) อาจจะลองคิดและพิจารณาการดำเนินการแบบวิจัยวิศวกรรมย้อนรอย (Copy and Development : C&D) ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของสิทธิบัตรทางปัญญาของผู้คิดค้น เพราะเชื่อว่าประเทศไทยที่ยังไม่ไปถึงไหน เพราะเรามัวแต่ไล่ตามเทคโนโลยี เราอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าขาดธาตุเทคโนโลยีก็ไม่น่าจะผิด หากรัฐบาลยังคงไม่ทุ่มเทงบประมาณในการวิจัยให้สูงขึ้นตาม GDP ก็คงต้องวังเวงกันต่อไป
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,642 9-11 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น