บทความฉบับนี้ผมขอฉีกแนวจากการเขียนเรื่องเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจและการเงิน โดยหันมาเขียนเรื่องที่สำคัญพอๆ กัน คือความพอเพียงของอาหาร เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ผมเป็นผู้บรรยายคนหนึ่งในงานสัมมนา Thaifex ที่เกี่ยวกับธุรกิจอาหาร และได้ศึกษาเรื่องนี้ มาระดับหนึ่ง จึงอยากจะเล่าสู่กันฟัง และชี้ให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่อาจจะเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารในโลกได้ในอนาคตที่ไม่ไกลนี้
สาเหตุที่ผมสรุปแบบนี้ มาจาก 2 เหตุผล คือ อุปสงค์ที่มีต่ออาหารมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและชนชั้นกลางของโลก ขณะที่อุปทานยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เพราะปัญหาจากวิกฤติโลกร้อนและราคาน้ำมันที่สูง
การที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากประชากรขยายตัวมากขึ้น ธนาคารโลกประเมินว่า จำนวนประชากรโลกที่มีอยู่ประมาณ 6,900 ล้านคนในปัจจุบัน จะเพิ่มเป็น 7,300 ล้านคนในปี 2558 และเป็น 7,675 ล้านคนในปี 2563 หรือทุกๆ 5 ปีจะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 400 ล้านคน ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรจะส่งผลให้อุปสงค์ที่มีต่ออาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทว่ายิ่งไปกว่านั้นก็คือ นอกจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนชนชั้นกลางก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ผมขอยกตัวอย่างกรณีประเทศจีน การศึกษาต่างๆ พบว่าในปัจจุบัน จีนมีชนชั้นกลางประมาณ 100 - 247 ล้านคน (ขึ้นอยู่กับงานศึกษาที่อาจจะมีตัวเลขที่ต่างกัน) และจากการที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราที่สูง มีความเป็นไปได้ว่าชนชั้นกลางของจีนจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 600 ล้านคนในปี 2562 (www.wikiinvest.com) ขณะที่วารสาร The Asian Wall Street Journal รายงานว่า ในปัจจุบันทวีปแอฟริกามีชนชั้นกลางสูงถึงประมาณ 313 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน การที่จำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อุปสงค์ที่มีต่ออาหาร และทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตอาหารจะพุ่งขึ้น เนื่องจากชนชั้นกลางต้องการอาหารที่มีคุณภาพสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์, ผลิตภัณฑ์จากนม (Dairy Products), ไวน์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ใช้ทรัพยากรในการผลิตสูงกว่าการผลิตผัก ผลไม้ และธัญพืชมาก เช่นเนื้อสัตว์ที่ให้คุณค่าทางอาหารเท่ากับธัญพืชและผักจะต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตมากกว่าหลายเท่า ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การบริโภคข้าวโพดและถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 5 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าข้าวและข้าวสาลีมาก เนื่องจากมีการใช้ข้าวโพดและถั่วเหลืองในการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปเป็นอาหารมากขึ้นด้วย ดังนั้น อุปสงค์ที่มีต่ออาหารและทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตอาหารจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งตัวจากการเพิ่มขึ้นของทั้งประชากรโลกและชนชั้นกลาง
ขณะที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง แต่อุปทานกลับเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด สาเหตุหลักก็คือสภาวะโลกร้อน จากการศึกษาพบว่า สภาวะโลกร้อนมีผลต่อผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร (Tropical area) ที่เป็นแหล่งอาหารของโลกมากกว่าภูมิภาคอื่น เพราะสภาวะโลกร้อนส่งผลให้ฤดูมรสุมและวัฏจักรการผลิตของผลผลิตทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิดสภาวะแห้งแล้ง และทำให้เกิดการสูญเสียผลผลิต เช่นในปีที่ผ่านมา ภาวะแห้งแล้งที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน ทำให้การผลิตข้าวหอมมะลิที่ทุ่งกุลาร้องไห้ลดลงถึงร้อยละ 55 และการผลิตข้าวสาลีในรัสเซียรวมทั้งจีน ลดลงมาก จนรัสเซียต้องประกาศลดการส่งออก และจีนต้องนำเข้าข้าวสาลีเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ส่วนในปีนี้ภาวะโลกร้อนก็มีผลอย่างรุนแรงต่อการผลิตข้าวสาลีในสหรัฐฯและยุโรป และอาจจะมีผลกระทบต่อการผลิตอาหารในเขตเส้นศูนย์สูตรด้วยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
นอกจากสภาวะโลกร้อนแล้ว วิกฤติการเมืองในตะวันออกกลางยังทำให้อุปทานน้ำมันลดลงและส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น นอกจากนั้นวิกฤติดังกล่าวทำให้รัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาต้องใช้จ่ายในด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง เพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมภายในประเทศตน กรณีนี้รวมถึงซาอุดีอาระเบียที่เมื่อก่อนต้องการราคาน้ำมันไม่สูงนัก แต่จากความจำเป็นดังกล่าวส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียต้องกำหนดราคาน้ำมันให้สูงเหมือนกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ
การที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงมีผลต่อการผลิตอาหาร 2 ทางคือ อาหารบางประเภท เช่นปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย สามารถนำไปใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนน้ำมันได้ การที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น จะทำให้มีการนำผลผลิตดังกล่าวไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อาหารลดลง นอกจากนี้เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็จะเป็นแรงจูงใจให้มีการเพาะปลูกพืชพลังงานมากขึ้น โดยไปลดการผลิตเพื่ออาหารลง และถึงแม้ว่าพืชบางประเภทที่ไม่ใช่อาหารแต่ราคาผลิตภัณฑ์มีการเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน เช่น ยางพารา ก็จะมีการผลิตเพิ่มเมื่อราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และไปแย่งพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารเช่นเดียวกับพืชพลังงาน
เมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้นเร็ว ขณะที่อุปทานเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด จึงส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้นและอาจจะเกิดการขาดแคลนอาหารในโลกในเวลาอีกไม่นานนัก การที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารหลักของโลก จึงควรอาศัยโอกาสนี้เพิ่มรายได้ของประเทศโดยการพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารที่สูงขึ้น และสร้างมูลค่าแก่สินค้าเกษตรให้มากขึ้น
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,642 9-11 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น