วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

'Qualy' ยกดีไซน์ปรับภาพลักษณ์ โรงงานพลาสติกอิงกระแสโลกร้อน


Flip cup ออกแบบแก้วน้ำที่ใช้ในห้องน้ำ เมื่อควำอากาศเข้าไปทำให้ไม่ชื้น
จากภาวะโลกร้อน ที่มาของภัยพิบัติร้ายแรงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้ทั่วโลกต่างตื่นตัว และให้ความสำคัญ โดยหันมาเลือกใช้สินค้าที่จะไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์สินค้าทำจากพลาสติก เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้บริโภคมองว่าเป็นส่วนที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องหันมาปรับตัว เพื่อให้สามารถขายได้ภาวะที่กระแสความต้องการสินค้าโลกร้อนกำลังมาแรงเช่นนี้

ครั้งนี้ มีตัวอย่างของผู้ประกอบการโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกของคนไทย ที่สามารถปรับตัวและผลิตสินค้าให้เข้ากับกระแสลดโลกร้อนได้เป็นอย่างดี ด้วยผลิตภัณฑ์พลาสติกของโรงงาน ที่สำคัญตลาดทั่วโลกกว่า 40 ประเทศให้การยอมรับ และยินดีที่จะซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติก แม้ว่าความต้องการของสินค้าลดโลกร้อนจะมาแรงก็ตาม
Power Plant ออกแบบที่แขวนปลั๊กไฟ
นายธีรชัย ศุภเมธีกุลวัฒน์ เจ้าของหนุ่มไฟแรงทายาทรุ่นที่ 2 เล่าว่า เดิมครอบครัวทำโรงงานผลิตชิ้นงานพลาสติก ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ผลิตภัณฑ์หลักของโรงงานคือ การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แต่เนื่องจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้กระแสของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับกระแสลดโลกร้อนมาแรงมาก ในขณะที่เราผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่ากระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หลังจากที่ผมเข้ามารับหน้าที่ดูแลงานต่อจากครอบครัว จึงจำเป็นต้องหาแนวทางที่จะทำให้สินค้าพลาสติกของเราเดินต่อไปได้ ในแนวทางเดียวกับความต้องการของตลาด ทั่วโลก
นายธีรชัย ศุภเมธีกุลวัฒน์ เจ้าของผลงาน
โดยนำเรื่องของงานดีไซน์ที่ใช้แนวคิดของกระแสการลดโลกร้อนเข้ามาใช้กับการผลิตสินค้าของโรงงาน ซึ่งรูปแบบของสินค้าเน้นฟังก์ชันการใช้งาน ในชีวิตประจำวัน อาทิ กล่องใส่กระดาษทิชชู ใช้ชื่อว่า LOG’N ROLL เป็นกล่องกระดาษทิชชูที่ออกแบบเลียนแบบท่อนไม้ และมีสัตว์ที่เหมือนโผล่ออกมาจากโพรงไม้ และเมื่อกระดาษหมดสัตว์ก็จะหายไป เตือนว่ากระดาษทำจากต้นไม้ เมื่อตัดต้นไม้หมด สัตว์ก็หมดไปด้วย ให้รู้จักใช้อย่างประหยัด จะได้ไม่ต้องตัดไม้จนหมดป่า ราคา 1,200 บาท
กล่องทิชชู เตือนระวังเรื่องการใช้กระดาษเพื่อลดการตัดไม้
นอกจากนี้ มีผลงานที่ใช้ชื่อว่า POWER PLANT เป็นที่เก็บปลั๊กไฟ เมื่อถอดปลั๊กไฟของเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าออกนำมาม้วนแขวนไว้ที่ POWER PLANT ต้นไม้จะโผล่ออกมา เป็นการลดการใช้กระแสไฟช่วยลดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน ราคา 320 บาท และยังมีผลงานการออกแบบที่ใส่น้ำแข็ง มีชื่อว่า POLAR ICE BUCKET ออกแบบถังใส่น้ำแข็งเป็น 2 ชั้นเก็บความเย็นได้นานขึ้น และชั้นภายในจะเจาะรูให้น้ำแข็งที่ละลายไหลลงมา โดยภายในทำเป็นรูปหมีขั้วโลก เมื่อน้ำไหลลงมามากหมีจะลอย เปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายหมีก็จะไม่มีที่อยู่ ราคา 1,200 บาท
กล่องใส่น้ำแข็ง ระวังเรื่องโลกร้อนทำน้ำแข็งขั้วโลกละลาย
ทั้งนี้ ยังมีชิ้นงานอีกหลายชิ้น แต่ละชิ้นไม่ได้เน้นฟังก์ชันการใช้ หรือ เรื่องของกระแสลดโลกร้อน เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการดิสเพลท์ เพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไป เวลาซื้อของใช้ ก็ต้องการให้สามารถเป็นของแต่งบ้านได้ และที่สำคัญช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน อาทิ ผลงานการออกแบบที่ใส่อาหารสุนัขและแมว ที่มีชื่อว่า PUPP&KITT โดยออกแบบให้เป็นทั้งจานใส่อาหารและที่เก็บอาหารสุนัข แมว ได้ในชิ้นเดียว และที่สำคัญยังตั้งโชว์ได้ ทำให้เลือกวางที่ไว้มุมไหนของบ้านก็ดูดีได้ ราคา 1,480 บาท
ที่ใส่อาหารสุนัขและแมว เป็นของใช้และเฟอร์นิเจอร์
สำหรับผลงานการออกแบบของทางคุณธีรชัย นั้นมีให้เลือกมากกว่า 100 ชิ้น โดยทุกชิ้นยึดคอนเซ็ปต์ Living with style คือ การแต่งบ้านแบบใช้ชีวิตอย่างมีสไตล์ ซึ่งหลังจากที่ทางโรงงานได้เปิดตัวสินค้าในหมวดของงานดีไซน์ออกมานั้น ได้ทำไปควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ ที่มีชื่อว่า Qualy ซึ่งเปิดตัวภายใต้ชื่อบริษัท New Arriva จำกัด เมื่อปี 2005
พวงกุญแจนก พร้อมที่แขวนบ้านนก
นายธีรชัย เล่าว่า การเปิดตัวสินค้าแนวดีไซน์ของทางบริษัท ในช่วงนั้น ได้รับการตอบรับจากลูกค้าในต่างประเทศ ค่อนข้างดีมาก ซึ่งมาจนถึงปัจจุบัน มีลูกค้าจากทั่วโลกถึง 45 ประเทศให้การยอมรับ ที่สำคัญจากเดิมลูกค้าต่างประเทศจะไม่เปิดรับแนวคิดสินค้าที่มาจากประเทศไทย แต่พอเราเริ่มเข้าไปทำตลาดพร้อมกับผลงานดีไซน์ของผู้ประกอบการไทยอีก หลายรายในระยะหลัง จะเห็นว่าทุกคนให้การยอมรับแนวคิดการออกแบบสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นกว่าในอดีตมาก ทำให้วันนี้ จากโรงงานที่รับจ้างผลิตตามแบบหรือ OEM เราสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ และมีแบรนด์เป็นของตัวเอง ที่สำคัญสามารถกำหนดราคาสินค้าของเราเองได้

โดยที่ผ่านมา ได้สร้างมาตรฐานงานออกแบบสินค้าของเราในหลายเวทีการประกวด เพื่อเป็นใบเบิกทาง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ล่าสุด ได้รับการคัดเลือกในการประกวด สินค้าไทยที่มีการออกแบบดีประจำปี 2554 หรือ Design Excellent Award 2011 (DEmark 2011) และมีอีกหลายรางวัลในต่างประเทศที่เราส่งผลงานการประกวดและได้รับรางวัล ซึ่งรางวัลต่างๆ ช่วยเราได้มากในเรื่องของการทำตลาดในต่างประเทศ
พวงกุญแจ
สำหรับ ลูกค้าของ Qualy จะเป็นลูกค้าผู้หญิง เป็นแม่บ้านทันสมัย คนรุ่นใหม่อายุ 20 -40 ปี อย่างถังขยะ ใช้แบบธรรมดาก็ได้ แต่ถ้าใช้ของ Qualy ก็จะกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกชิ้นหนึ่ง ส่วนการทำตลาดในต่างประเทศ เริ่มจากการไปเดินงานแฟร์ในต่างประเทศเพื่อดูเทรนด์โลกข้างนอกเขาทำอะไรบ้าง ไปดูก็เห็นภาพใหญ่คราวๆ จึงตกลงว่าเราจะทำงานดีไซน์ เป็นงานที่ไม่เหมือนใคร โดยที่เริ่มทำตลาดนิช (Niche Market) ก่อน เพราะเป็นบริษัทเล็กๆ ถ้าทำตลาดแมส ต้องมีโกดังที่ใหญ่ขึ้น ต้องมีคนมากขึ้น สินค้ามีวางขาย ที่ร้าน LOFT และ ที่ CDC

โทร.02-292-2075, www.qualydesign.com
source  : http://www.manager.co.th/SMEs/ViewNews.aspx?NewsID=9540000076182

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ขุด 'ทอง' จากกองขยะ

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

ถอดบทเรียนระบบจัดการแบบบ้านๆ ที่นอกจากจะพลิก "วิกฤติชุมชน" ให้เป็น "ขุมทอง" จากกองขยะและสิ่งปฏิกูล

จะอดีตถุงใส่ของ จานรองผลไม้ หรือกล่องของขวัญ หลังหมดภารกิจ สารพัดสิ่งมักถูกเขี่ยทิ้ง เป็น "ขยะ" ทันที

หรือสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือน และระบบปศุสัตว์ที่มักตกเป็นภาระของท้องที่ในการหาที่ทางจัดเก็บและกำจัด
งัดเอาสถิติในห้องเล็คเชอร์มาขึ้นกระดาน หรือตัวเลขผลวิจัยมากางดู ใครๆ ก็รู้ว่า สิ่งเหล่านี้ ก่อปัญหาในชีวิตประจำวันของคนเรามากแค่ไหน

สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ก็คือ ประเทศไทย มีขยะมูลฝอยกว่า 14.4 ล้านตัน เฉลี่ย 39,240 ตันต่อวัน ที่มีทั้งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) 3.19 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับฮ่องกง (36 เปอร์เซ็นต์) สิงคโปร์ (39 เปอร์เซ็นต์) และเกาหลีใต้ (45 เปอร์เซ็นต์) (ข้อมูล : สถานการณ์ด้านการกำจัดขยะมูลฝอยของประเทศไทย : กรมควบคุมมลพิษ) อีกทั้งความสามารถในการจัดเก็บขยะกลับมีไม่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม "ขยะล้นเมือง" ยังคงเป็นเรื่องที่ไม่เคยแก้ตก เหมือนกับสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือนที่แม่น้ำลำคลองมักกลายเป็นปัญหาปลายทางทุกครั้งไป


หากจะบอกว่า มีโมเดลการจัดการ "ขยะ" และ "ของเน่าเสีย" แบบสร้างสรรค์ และไม่ผลาญสตางค์แผ่นดิน อยู่กับตัว จะเชื่อไหม

เรื่องนี้ ตัวละครมีไม่เยอะ
แค่ ชาวบ้าน ขยะ ขี้วัว และนักวิชาการ อีกนิดหน่อย ...เท่านั้น

แปลง "ขยะ" เป็น "ทุน"





ทุ่งนาสีเขียวสุดลูกหูลูกตา ที่แซมข้าวใบเรียวตั้งช่อรอฝนแรกของฤดู นอกจากจะเป็นภาพพักตาที่หาดูไม่ค่อยง่ายสำหรับคนเมืองแล้ว ยังสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้านหาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ได้เป็นอย่างดี
นาข้าวอินทรีย์ ดีกรีส่งออกสิงคโปร์ ผูกปิ่นโตกันมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยสัญญาล่วงหน้าปีต่อปี แถมให้ราคาดีกว่าท้องตลาดถึง 20 เปอร์เซ็นต์
"ราคาข้าวปีที่แล้วตกตันละ15,000 บาท แต่เราขายได้ตันละ 18,360 บาท" เจ้าของคำตอบยิ้มกรุ้มกริ่ม
นอกจากนาข้าว ที่นี่ยังมีสวนมะนาว ศูนย์เรียนรู้เกษตรปลอดสารที่มี "จุลินทรีย์คลองตรอน" เป็นดารานำ และนวัตกรรมด้านการเกษตรอีกหลายรายการคอยรับแขกให้มาดูงานชนิด "หัวกระไดไม่แห้ง" แถมการันตีคุณภาพด้วย "รางวัลการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล" 6 ปีซ้อน
ต้นเหตุความอัศจรรย์ทั้งหมด ของชุมชนขนาดประชากรไม่เกินครึ่งหมื่นเริ่มต้นเพราะการแก้ปัญหา "ขยะ" ในตำบลเท่านั้น
"ตั้งแต่หมู่ 1 ถึง หมู่ 7 ไม่มีถังขยะให้เห็นแม้แต่ใบเดียว" คำยืนยันของ พงษ์เทพ ชัยอ่อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแควชวนให้ไล่สายตาดูบรรยากาศโดยรอบหมู่บ้าน (ม.2) และถนนสายหลัก ล้วนไร้เงาถังขยะสาธารณะ

แล้ว "ขยะ" ไปไหน ?

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2547 หาดสองแควก็มีสภาพไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ ที่ประสบปัญหาโครงสร้างพื้นฐานชุมชนขาดแคลน สิ่งแวดล้อมมีปัญหา หนี้สินจากการประกอบอาชีพ ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร บนเวทีประชาคมหมู่บ้านต่างเห็นพ้องต้องกันว่า หากไม่ทำอะไรสักอย่าง ชุมชนคงถึงวิกฤติในไม่ช้า ขยะจึงเป็นปัญหาแรกที่ทุกคนลงความเห็นร่วมกันว่า "ต้องแก้" ก่อน

"เราใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์เข้าว่าครับ" วิรัตน์ จำนงรัตนพัน ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ หัวแรงฟากวิชาการที่อบต.หาดสองแควจูงมือชวนมาทำงานในพื้นที่สรุปสั้นๆ

ข้อมูลที่ว่าก็คือ การเอา "ความจริง" ขึ้นมากางบนโต๊ะประชุม ปีนั้น อบต.ได้งบอุดหนุนประจำปีมาทั้งสิ้น 7 ล้านบาท ถูกปันไปเป็นงบบริหารจัดการ 5 ล้านบาท เหลือเป็นงบสำหรับพัฒนาอยู่เพียง 2 ล้านบาท
ขณะที่คนหาดสองแควผลิตขยะ 8 ขีดต่อคน/วัน ทำให้ในแต่ละวันชุมชนต้องรับภาระขยะไม่ต่ำกว่าวันละ 2 ตัน และหากใช้วิธีกำจัดขยะแบบมาตรฐาน (ถังขยะ+รถขยะ+พนักงานเก็บขยะ+ที่ทิ้งขยะ) จะมีรายจ่ายมารออยู่ตรงหน้ากลมๆ ราว 4 ล้านบาท

"เราก็ขึ้นจอว่า เอาไหมล่ะ หยุดพัฒนาไป 2 ปี ชาวบ้านก็เริ่มคิด"
หลังจากโน้มนาวให้เห็นความสำคัญ ขั้นตอนต่อมาก็คือให้ความรู้ และสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผ่านกิจกรรม "ทอดผ้าป่าขยะ" และ "29 บาทครัวเรือนสะอาด ชุมชนสดใส" จนชาวบ้านเริ่มรู้วิธีการคัดแยก-ขายอย่างไร โดยมีอบต.เป็นคนประสานงานรับซื้อให้ผ่านธนาคารขยะประจำตำบล
"เราเอาวงพาณิชย์ของขยะให้ดู แล้วทำเป็นใบปลิวติดตามคุ้ม (กลุ่ม) ต่างๆ ของหมู่บ้าน ขยะถ้ารีไซเคิล อย่างขวด หรือพลาสติกก็ต้องคัดแยก ล้างให้สะอาด ขยะย่อยสลายอย่างเศษอาหารเราก็ทำถังน้ำหมักชีวภาพ ส่วนขยะอันตรายอย่างหลอดไฟ หรือยาฆ่าแมลงทางอบต.ก็จะเป็นคนดูแลให้เพราะขยะประเภทนี้มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมดเท่านั้น" วิรัตน์อธิบาย

เมื่อการรณรงค์เรื่องขยะประสบผลสำเร็จ การต่อยอดโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาท้องถิ่นก็ตามมา ตั้งแต่ โครงการลดต้นทุนการผลิต "ทำนาไม่เผาฟาง", "100 ไร่ 100 ตัน", "ไร่-นาอินทรีย์" และพัฒนาเป็น "ศูนย์เรียนรู้เกษตรยั่งยืน" ในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีการวางฐานการส่งไม้ต่ออย่างยั่งยืนจาก "กลุ่มเยาวชนจักรยานสานฝันรักษ์สิ่งแวดล้อม" และ "สภาเด็ก" ที่จะคอยเก็บขยะในที่สาธารณะในหมู่บ้านอาทิตย์ละ 1 ครั้ง มีเด็กๆ ทั้งตำบลกว่า 150 คนมาช่วยกันปั่นช่วยกันเก็บ

"ในระบบการแก้ปัญหาขยะ 100 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้น ส่งผลไปเรื่องของเกษตรอินทรีย์ ส่งผลเรื่องของการดูแลคุณภาพชีวิต ระบบการจัดการปัญหาที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ จนปลูกจิตสำนึก ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังที่จะเป็นจิตสาธารณะ เป็นผลผลิตที่ดีของชุมชน กลายเป็นชุมชนเข้มแข็งต่อไปในอนาคต" นายกฯ พงษ์เทพสรุป
อย่างนี้ ไม่เรียกว่ามี "ขยะ" เป็น "ทอง" แล้วจะเรียกว่าอะไร




source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20110616/395688/ขุด-ทอง-จากกองขยะ.html




























































































































































































































































































































































































































































































































ให้ "ขี้วัว" เป็นศูนย์กลาง
คราวนี้ลองมาดูเรื่องของขยะชีวภาพ สิ่งปฏิกูลจากปศุสัตว์ชุมชนอย่าง "ขี้วัว" แหล่งผลิต ก๊าซไข่เน่า (มีเทน) ชั้นดีกันบ้าง
ถ้าจินตนาการภาพกองขี้จากวัว 800 ตัว ไม่ออก จินดา มาฮวด ผู้ใหญ่หมู่ 7 บ้านห้วยบง ต.ป่าเซ่า อ.เมือง จ.อุตรดิตร์ มีคำตอบ
"เกลื่อนกลาด เรี่ยราดไปหมดล่ะครับ"
เขาชี้ให้ดูร่องรอยบนถนนคอนกรีตกว้างแค่รถสวนกัน วงดวงของมูลสัตว์ที่แทบจะกลืนไปกับพื้นถนนจนแยกไม่ออก หรือกระสอบปุ๋ยที่กองพะเนินอยู่ใต้ถุนบ้านแต่ละหลัง ข้างในคือ "ขี้วัว" ทั้งนั้น
ยังไม่นับเรื่องกลิ่นที่ตลบอบอวลชนิดคนเลี้ยงเองทุกวันก็ยังเบือนหน้าหนี
"งานวิชาการเข้ามามีบทบาทตรงนี้ครับ" ผศ.ดร.เจษฏา มิ่งฉาย จากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เปิดประเด็น
หลังจากได้รับการประสานงานจากชุมชน คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยฯ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจ-เก็บข้อมูล จนได้โจทย์ "ขี้วัว" เป็นตัวตั้ง
การแก้ปัญหาในเบื้องต้นจึงเน้นหนักไปที่การแปรสภาพสิ่งปฏิกูลให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ยชีวภาพ ตากขายตกกระสอบละ 22 บาท โดยมีพ่อค้าจากภายนอกหมู่บ้านมารับซื้อไปอีกทอดผ่าน "ธนาคารขี้วัว"
"เราจะทำหน้าที่ประสานงานให้" สมจิตร นาคราช ประธานกลุ่มธนาคารขี้วัว เล่าถึงรูปแบบการจัดการของธนาคารว่า ไม่ต่างจากสหกรณ์ที่จะมีสมาชิกนำขี้วัวที่ตนเองตากได้มาฝากไว้ แล้วธนาคารจะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้ ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหามูลวัวได้ในระดับหนึ่ง
แต่พอดำเนินการไปได้สักระยะ ปัญหาเรื่องสถานที่เก็บขี้วัวก็ตามมา เพราะฉางข้าวเป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่กันแดดกันฝน จึงทำให้บางครั้งกระสอบผุ ฉีกขาด และมีปัญหาในการเคลื่อนย้าย จึงทำการตกลงกันใหม่ กระสอบของสมาชิกคนไหนก็เก็บไว้บ้านคนนั้น อีกทั้งยังมี "เครดิตขี้วัว" เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนสำหรับชาวบ้านบางคนที่เดือดร้อน
ค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ แปรสภาพปัญหา จนนำมาสู่การวิจัยในพื้นที่ โดย "ขี้วัว" ก็ยังคงสถานะตัวละครหลักอยู่เหมือนเดิม
"ก๊าซหุงต้ม" สำหรับใช้ในครัวเรือน จึงเป็นคำตอบสำหรับโจทย์ข้อนี้
อุปกรณ์มีไม่มาก แค่บ่อดินสำหรับใส่มูลสัตว์ ต่อท่อลงในถุงพลาสติกพีวีซีขนาดใหญ่ในบ่อดินขุดขนาด 4 เมตร กว้าง 2 เมตร ลึก 80 เซ็นติเมตร บนตัวถุงพลาสติกมีท่อส่งก๊าซเข้าไปยังบ้าน ขณะที่ด้านท้ายถุงทำบ่อพักสำหรับกาก หรือมูลวัวที่แห้งแล้ว
"ใส่แค่วันละ 5 กิโลเท่านั้นแหละ" ศรชัย เชียงบุญญะ หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มนำร่อง 18 บ่อ เล่าถึงปริมาณใช้งานที่สามารถใช้แทนก๊าซหุงต้มได้ตามปกติ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
มูลจากบ่อพักจะไหลเข้าไปในถุงพลาสติกเมื่อระเหยกลายเป็นไอ ก็จะได้ก๊าซมีเทน ซึ่งมีคุณสมบัติติดไฟส่งตามท่อไปยังครัวของบ้าน ขณะที่กากมูลสัตว์ที่เหลือจะถูกแรงดันไหลออกไปยังบ่อพักด้านหลังอีกที - ขั้นตอนการทำงานมีเท่านี้
"กากขี้วัวตรงนี้ก็จะแก้ปัญหาเรื่อง เมล็ดหญ้าที่จะขึ้นแซมพืชขึ้นมาเวลานำขี้ไปใส่ในดินด้วย เพราะเมล็ดหญ้าที่วัวกินเข้าไปแล้วผสมลงมาในมูลจะถูกความร้อนนึ่งจนตายทำให้ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ไปโดยปริยาย" ผศ.ดร.เจษฏาอธิบาย
แง่ของความคุ้มค่า บุญเรือง เกิดสาย นักวิจัยท้องถิ่นตีราคาคร่าวๆ ลงทุนบ่อก๊าซชีวภาพมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 3,700 บาท มีอายุการใช้งานอยู่ราว 6-7 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณค่าถังค่าแก๊สที่ต้องจ่ายแต่ละครั้ง คิดยังไงก็คุ้ม
แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถทิ้งแก๊สถังได้ทันที เพราะหากวันไหนแดดร่มลมตก อากาศไม่เป็นใจ ก็ไม่มีก๊าซใช้เอาดื้อๆ เหมือนกัน ถึงอย่างนั้น อีก 35 บ่อ ที่จะมีขึ้นในอนาคตก็จะทำให้กว่า 200 หลังคาเรือนในชุมชน สามารถเรียกตัวเองเป็นหมู่บ้านปลอดถังแก๊สได้เต็มปากเต็มคำอยู่
สิ่งที่ได้เพิ่มเติมตามมาจากปัญหาขี้วัวในวันนี้ ชาวบ้านสามารถลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะค่าปุ๋ย ค่าแก๊ส อีกทั้งคุณสมบัติของปุ๋ยอินทรีย์ยังช่วยให้พืชพันธุ์เจริญงอกงามดี จนพอจะมองเห็นความหวังในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ต่อไป
กระทั่ง กลุ่มเยาวชนที่มีการเริ่มปลูกฝัง "สมุดบัญชีความดี" เพื่อเป็นฐานในการส่งไม้ต่อ "ความยั่งยืน" จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่น แน่นอน ถือเป็นผลิตจาก "ขี้วัว" ด้วยเช่นเดียวกัน
"เพื่อความเก๋เราจึงตั้งชื่อว่าหมู่บ้านวิทยาลัยวัวครับ" รอยยิ้มของนักวิชาการหนุ่มผุดขึ้นตรงริมฝีปาก
แข็งแรงด้วยฐานราก
คุณภาพชุมชนของชาวหาดสองแคว และการเปลี่ยนวิกฤติมูลสัตว์ที่บ้านห้วยบง หากดูวิธีการก็ไม่ต่างอะไรจากหลัก "การมีส่วนร่วม" ของชุมชน ตามมาตรฐานการปกครองทั่วๆ ไป
แต่ "ความเข้าใจในพื้นที่" และ "วิธีคิด" ที่เรียนรู้ร่วมกัน ต่างหากที่สร้างพวกเขาให้แตกต่าง
"เว้ากันจั๋งซี่ คุยกัน พอฮู้เรื่องก็สิซ่อยกันปฏิบัติงาน" ภาษาลาวสำเนียงเวียงจันทน์ของ นายกฯ พงษ์เทพ ยืนยันว่า "อัตลักษณ์ชุมชน" ถือเป็นกุญแจอีกดอกที่ช่วยให้งานทุกอย่างราบรื่น
ไม่ต่างกับวิธีทำงานของผศ.ดร.เจษฏาที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวห้วยบง เพื่อสังเคราะห์วิธีแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับชุมชน
ทั้งหมดคือ การเกาะเกี่ยวระหว่างสถาบันการศึกษา และท้องถิ่นในฐานะผู้ใช้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาชุมชน มุมมองของคนเป็นครูอย่างตัวผศ.ดร.เจษฏาเองยืนยันว่า "วิน-วิน" ทั้งคู่
"ของแบบนี้มันไม่ใช่ใครสอนใคร เรื่องข้าว เรื่องขี้วัวก็ใช่ว่าเราจะรู้ดี แต่คือการเรียนรู้ร่วมกัน นักเรียนได้ลงสนามจริง ขณะที่เกษตรกรก็มีห้องแล็บวิจัยไว้ทดลอง นี่คือหัวใจของการทำงานเชิงพื้นที่"
มุมการพัฒนา และการมีส่วนร่วมสำหรับผู้ช่วยอธิการบดีอย่าง วิรัตน์ เองก็เห็นไม่ต่างกัน มิติชุมชน และวิธีการมองชุมชนต่างสำคัญทั้งหมด ไม่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
"ทำเรื่องหนึ่งมันต้องโยงทุกเรื่อง ไม่ใช่ทำเรื่องการผลิต แต่ทิ้งเรื่องทรัพยากร ผลิตแบบไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นก็ไม่ไหว"
นัยยะของความร่วมมือยังหมายถึงการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งจากฐานรากอีกด้วย
"ทั้ง 2 กรณีถือเป็นตัวอย่างสำคัญ" สมพร ใช้บางยาง กรรมการสมัชชาปฏิรูป และประธานคณะกรรมการปฏิรูปองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ตั้งข้อสังเกต
ในความคิดของเขา ความสำเร็จของชุมชนเล็กๆ ทั้ง 2 แห่ง สามารถสะท้อนภาพการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คนระดับผู้นำของประเทศละเลยมาตลอด โดยเฉพาะ "ความทั่วถึง" และ "ความเป็นธรรม"
"ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนฐานรากของประเทศขาดการเอาใจใส่ การบริหารแบบรวมศูนย์วันนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่หลากหลาย ทำให้หลายๆ เรื่องกลายเป็นปัญหาที่กำลังทำลายโครงสร้างหลักของประเทศในขณะนี้ ดังนั้นการให้ความสำคัญกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,852 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลคนในชุมชนโดยตรงอย่างจริงจัง จะทำให้ฐานรากของประเทศมั่นคงขึ้น"
วันนี้ ไม่ว่าชาวบ้านจะเข้าใจถึงความเข้มแข็งของชุมชน หรือระบบการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นตามนิยามวิชาการปกครองหรือไม่ แต่การ "รับรู้-ร่วมแก้" ปัญหาชุมชนเพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าก็ถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่แล้ว
"8 ปีที่ผ่านมา ค่าถัง ค่ารถ ค่าคน เราประหยัดเงินหลวงไป 16 ล้าน มันเห็นชัดเจนนะครับ" เสียงสำทับของวิรัตน์ถึงชาวหาดสองแควทั้งดัง และหนักแน่น  source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20110616/395688/ขุด-ทอง-จากกองขยะ.html

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปตท.นำเข้าLNGแล้ว6หมื่นตัน เริ่มเดินเครื่องการผลิตสถานีรับจ่ายก๊าซแล้ว

ปตท.นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวล็อตแรกแล้ว 6 หมื่นตัน เพื่อทดลองเดินเครื่องการผลิตสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาตเหลว มั่นใจเดินเครื่องการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ก.ค.นี้ เตรียมจัดหา LNG เพิ่มเติมอีก
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท. ได้เริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นครั้งแรกของประเทศ ในปริมาณประมาณ 60,000 ตัน จากประเทศกาตาร์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อใช้ทดลองเดินเครื่องการผลิตของสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Maptaphut LNG Receiving Terminal ) ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี (LNG Receiving Terminal) แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าการทดลองเดินเครื่องฯ จะแล้วเสร็จ และพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้เดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้ ปตท. ได้ดำเนินการจัดหา LNG สัญญาระยะสั้น ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี จากบริษัทผู้ขาย LNG ในยุโรป อเมริกาใต้ และเอเชีย และมีแผนที่จะจัดหาในรูปแบบสัญญาระยะยาวต่อไป ซึ่งการนำเข้า LNG จะช่วยตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีละประมาณ 6-7% รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะจะทำให้มั่นใจได้ว่าไทยมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติอย่างเพียงพอและมั่นคง รองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และ การขนส่ง

สำหรับสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวที่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด สร้างขึ้นเพื่อรองรับการนำเข้า LNG ของ ปตท. แห่งนี้ มีความสามารถรับ LNG นำเข้าในระยะแรก 5 ล้านตันต่อปี และสามารถขยายเป็น 10 ล้านตันต่อปี ในอนาคต (เทียบเท่าก๊าซธรรมชาติ 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน) และ มีท่าเรือซึ่งมีศักยภาพในการรองรับเรือบรรทุกก๊าซขนาดบรรทุกตั้งแต่ 125,000 - 215,000 ลูกบาศก์เมตร ในอนาคต ปตท. มีแผนที่จะให้ Maptaphut LNG Receiving Terminal แห่งนี้ขยายเติบโตเป็นศูนย์กลางการค้า LNG ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีความมั่นคงทางด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น

source : http://www.manager.co.th/Business/ViewNews.aspx?NewsID=9540000072289

อาหารจะขาดแคลนในอีกไม่กี่ปีในอนาคต

โดย บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี

บทความฉบับนี้ผมขอฉีกแนวจากการเขียนเรื่องเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจและการเงิน โดยหันมาเขียนเรื่องที่สำคัญพอๆ กัน คือความพอเพียงของอาหาร เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ผมเป็นผู้บรรยายคนหนึ่งในงานสัมมนา Thaifex ที่เกี่ยวกับธุรกิจอาหาร และได้ศึกษาเรื่องนี้ มาระดับหนึ่ง จึงอยากจะเล่าสู่กันฟัง และชี้ให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่อาจจะเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารในโลกได้ในอนาคตที่ไม่ไกลนี้

 สาเหตุที่ผมสรุปแบบนี้ มาจาก 2 เหตุผล คือ อุปสงค์ที่มีต่ออาหารมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและชนชั้นกลางของโลก ขณะที่อุปทานยังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เพราะปัญหาจากวิกฤติโลกร้อนและราคาน้ำมันที่สูง

 การที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากประชากรขยายตัวมากขึ้น ธนาคารโลกประเมินว่า จำนวนประชากรโลกที่มีอยู่ประมาณ 6,900 ล้านคนในปัจจุบัน จะเพิ่มเป็น 7,300 ล้านคนในปี 2558 และเป็น 7,675 ล้านคนในปี 2563 หรือทุกๆ 5 ปีจะมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 400 ล้านคน ซึ่งเกือบทั้งหมดจะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา แน่นอนว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรจะส่งผลให้อุปสงค์ที่มีต่ออาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทว่ายิ่งไปกว่านั้นก็คือ นอกจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแล้ว จำนวนชนชั้นกลางก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ผมขอยกตัวอย่างกรณีประเทศจีน การศึกษาต่างๆ พบว่าในปัจจุบัน จีนมีชนชั้นกลางประมาณ 100 - 247 ล้านคน (ขึ้นอยู่กับงานศึกษาที่อาจจะมีตัวเลขที่ต่างกัน) และจากการที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวในอัตราที่สูง มีความเป็นไปได้ว่าชนชั้นกลางของจีนจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 600 ล้านคนในปี 2562 (www.wikiinvest.com) ขณะที่วารสาร The Asian Wall Street Journal รายงานว่า ในปัจจุบันทวีปแอฟริกามีชนชั้นกลางสูงถึงประมาณ 313 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน การที่จำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อุปสงค์ที่มีต่ออาหาร และทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตอาหารจะพุ่งขึ้น เนื่องจากชนชั้นกลางต้องการอาหารที่มีคุณภาพสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์, ผลิตภัณฑ์จากนม (Dairy Products), ไวน์ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ใช้ทรัพยากรในการผลิตสูงกว่าการผลิตผัก ผลไม้ และธัญพืชมาก เช่นเนื้อสัตว์ที่ให้คุณค่าทางอาหารเท่ากับธัญพืชและผักจะต้องใช้ทรัพยากรในการผลิตมากกว่าหลายเท่า ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การบริโภคข้าวโพดและถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 5 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มในอัตราที่สูงกว่าข้าวและข้าวสาลีมาก เนื่องจากมีการใช้ข้าวโพดและถั่วเหลืองในการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปเป็นอาหารมากขึ้นด้วย ดังนั้น อุปสงค์ที่มีต่ออาหารและทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตอาหารจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งตัวจากการเพิ่มขึ้นของทั้งประชากรโลกและชนชั้นกลาง

 ขณะที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง แต่อุปทานกลับเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด สาเหตุหลักก็คือสภาวะโลกร้อน จากการศึกษาพบว่า สภาวะโลกร้อนมีผลต่อผลผลิตทางการเกษตรในภูมิภาคที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร (Tropical area) ที่เป็นแหล่งอาหารของโลกมากกว่าภูมิภาคอื่น เพราะสภาวะโลกร้อนส่งผลให้ฤดูมรสุมและวัฏจักรการผลิตของผลผลิตทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสที่จะเกิดสภาวะแห้งแล้ง และทำให้เกิดการสูญเสียผลผลิต เช่นในปีที่ผ่านมา ภาวะแห้งแล้งที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน ทำให้การผลิตข้าวหอมมะลิที่ทุ่งกุลาร้องไห้ลดลงถึงร้อยละ 55 และการผลิตข้าวสาลีในรัสเซียรวมทั้งจีน ลดลงมาก จนรัสเซียต้องประกาศลดการส่งออก และจีนต้องนำเข้าข้าวสาลีเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ส่วนในปีนี้ภาวะโลกร้อนก็มีผลอย่างรุนแรงต่อการผลิตข้าวสาลีในสหรัฐฯและยุโรป และอาจจะมีผลกระทบต่อการผลิตอาหารในเขตเส้นศูนย์สูตรด้วยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 นอกจากสภาวะโลกร้อนแล้ว วิกฤติการเมืองในตะวันออกกลางยังทำให้อุปทานน้ำมันลดลงและส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น นอกจากนั้นวิกฤติดังกล่าวทำให้รัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาต้องใช้จ่ายในด้านสวัสดิการเพิ่มขึ้น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง เพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมภายในประเทศตน กรณีนี้รวมถึงซาอุดีอาระเบียที่เมื่อก่อนต้องการราคาน้ำมันไม่สูงนัก แต่จากความจำเป็นดังกล่าวส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียต้องกำหนดราคาน้ำมันให้สูงเหมือนกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ

 การที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงมีผลต่อการผลิตอาหาร 2 ทางคือ อาหารบางประเภท เช่นปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย สามารถนำไปใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนน้ำมันได้ การที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น จะทำให้มีการนำผลผลิตดังกล่าวไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อาหารลดลง นอกจากนี้เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็จะเป็นแรงจูงใจให้มีการเพาะปลูกพืชพลังงานมากขึ้น โดยไปลดการผลิตเพื่ออาหารลง และถึงแม้ว่าพืชบางประเภทที่ไม่ใช่อาหารแต่ราคาผลิตภัณฑ์มีการเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน เช่น ยางพารา ก็จะมีการผลิตเพิ่มเมื่อราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และไปแย่งพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารเช่นเดียวกับพืชพลังงาน

 เมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้นเร็ว ขณะที่อุปทานเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด จึงส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้นและอาจจะเกิดการขาดแคลนอาหารในโลกในเวลาอีกไม่นานนัก การที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารหลักของโลก จึงควรอาศัยโอกาสนี้เพิ่มรายได้ของประเทศโดยการพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารที่สูงขึ้น และสร้างมูลค่าแก่สินค้าเกษตรให้มากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,642 9-11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประเทศจีนกับพลังงานสะอาด

โดย รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศจีน โดยเป็นการทำสัญญาความร่วมมือบ้านพี่เมืองน้องของจังหวัดกระบี่กับมณฑลเจียงซู (Jiangsu) ซึ่งได้ตกลงในความร่วมมือกัน 3 ด้าน
ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ด้านการศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตรและพลังงาน ในเบื้องต้นจะมีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวของทั้งสองเมือง ซึ่งจังหวัดกระบี่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและหลากหลายมาก เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

 นอกจากนี้ยังจะมีการแลกเปลี่ยนศิลปะและวัฒนธรรมที่ดีงามของทั้งสองเมือง ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในหลายๆระดับตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมไปกระทั่งถึงระดับปริญญาเอก และหลังปริญญาเอก สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านการเกษตรและพลังงานนั้น ถือได้ว่าประเทศจีนได้มีการวิจัยและพัฒนาไปได้รวดเร็วมาก จนมีหลายๆ เทคโนโลยีเราได้นำเข้ามาใช้ และก็ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาและผลิตในประเทศจีนนั้นมีราคาไม่สูงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีเดียวกันที่ผลิตในประเทศแถบยุโรป แม้นว่าคุณภาพของสิ่งประดิษฐ์จะด้อยกว่าทางยุโรปและอเมริกา แต่ประการสำคัญคือสามารถประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ค่อนข้างดี และที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงที่สามารถทำได้เองหรือไม่ก็มีต้นทุนที่ถูกกว่าที่จะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญค่าตัวสูงลิ่วมาดำเนินการซ่อมบำรุงให้

 แต่ในการเดินทางไปครั้งนี้นอกจากได้ทำสัญญาเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองเมืองแล้ว มีสิ่งที่ได้มีโอกาสพบและประสบมาหลายๆอย่าง และคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย แนวคิดที่ดีๆหากจะลอกเลียนแบบก็ไม่น่าจะเสียหาย แต่ในทางกลับกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีเสียด้วยซ้ำไป ประเทศจีนนับได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงมากๆ แต่ประเทศจีนกลับเป็นประเทศที่ได้รับคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) สูงมากๆเช่นกัน ในโอกาสที่ได้เดินทางไปในครั้งนี้ได้ผ่าน 2-3 เมืองในมณฑลเจียงซู ซึ่งแค่นี้ก็มีประชากรมากกว่าประเทศไทยแล้ว สิ่งที่ได้พบเห็นและประทับใจมากคือการพยายามวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้พลังงานสะอาดกันอย่างจริงจัง

 จากรายงานพบว่ามีการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดมากกว่าครึ่ง โดยได้จากพลังงานน้ำและพลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้นการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ของประเทศจีนจึงมุ่งพัฒนาใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก เช่น รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟฟ้าความเร็วสูง (High Speed Train) ที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงถึง 431 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พวกเราก็มีแนวความฝันว่าหากมีการนำรถไฟฟ้าความเร็วสูงนี้มาเชื่อมการเดินทางในจังหวัดท่องเที่ยวในชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเชื่อมตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต-พังงา- กระบี่-ตรัง-และสตูล น่าจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันมีการขยายตัวได้อีกมากมายทีเดียว เพราะจะเป็นการถ่ายเทนักท่องเที่ยวให้กระจายไปได้ทั่วแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่มากมายใน 6 จังหวัดดังกล่าว

 นอกจากรถไฟแล้วแม้แต่รถจักรยาน หรือรถจักรยานยนต์ ก็มีการใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน เป็นจักรยานไฟฟ้า และจักรยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากช่วยประหยัดพลังงานแล้วยังเป็นการลดมลพิษในอากาศจากคาร์บอนมอนนอกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ที่พ่นจากไอเสีย รวมทั้งมลพิษทางเสียงที่ดังมากจากรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ และมีการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้มีสมรรถนะใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีรายงานเบื้องต้นว่าหากมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะสามารถประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงได้มากถึงประมาณกิโลเมตรละ 2 บาทเลยทีเดียว จากกรณีนี้ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาในเรื่องของคาร์บอนเครดิต และกรณีที่มีการพัฒนาเพื่อลดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ได้เช่นเดียวกัน

 การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรก็เช่นเดียวกัน คือต้องยอมรับว่าในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะกระบวนการย่อยสลายของเหลือและมูลสัตว์จะมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ออกมาในหลายระยะในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งก๊าซมีเทนมีส่วนในการสร้างมลพิษเรือนกระจกมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เสียด้วยซ้ำไป ดังนั้นการลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจึงต้องให้ลดน้อยลงหรือไม่มีเลย หรือหากจำเป็นต้องกำจัดก็ต้องมีการนำมาใช้ผลิตก๊าซในระบบปิด ซึ่งก็จะได้ก๊าซ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือน และหากมีปริมาณมากเพียงพอก็จะได้โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาตินี้ เป็นพลังงานสะอาดเช่นกัน และนอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่จะได้รับค่าคาร์บอนเครดิตได้อีกทางหนึ่งด้วย และสิ่งที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ คือการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Energy) และพลังงานลม (Wind Energy) ที่ถือเป็นพลังงานสะอาด แม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยจะแพงกว่า การผลิตพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงต่างๆก็ตาม ที่เห็นได้ชัดเจนมาก คือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยการติดตั้งแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell)ไว้บนหลังคาบ้าน หรืออาคารที่พักที่สูงลิ่ว แทบจะทุกหลังคาเรือนเลยก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าพลังงานที่ได้รับจะมีไม่มากเพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าของทุกครัวเรือนแต่ก็สามารถลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนได้ในปริมานที่มากโขอยู่เช่นกัน เช่นอย่างน้อยที่สุดก็เพียงพอสำหรับการผลิตน้ำอุ่นที่ใช้ในครัวเรือน ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกแนวทางหนึ่งด้วย
จะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลของประเทศจีน ให้ความสนใจในการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาดที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อโลกแห่งอนาคต ผมเชื่อว่ามีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของภาครัฐและเอกชน ที่ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาและดูงานในประเทศจีน และเชื่อว่าได้มีโอกาสได้เห็นแบบที่ผมได้เห็น สมควรที่เราจะต้องรีบเร่งในการร่วมมือร่วมใจกันในการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาดกันให้มากขึ้น และต้องดำเนินการกันอย่างเป็นรูปธรรม และสัมฤทธิผลโดยเร็ว อย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้นว่าหากจะทำการวิจัยและพัฒนา (Research and Development :R&D) อาจจะลองคิดและพิจารณาการดำเนินการแบบวิจัยวิศวกรรมย้อนรอย (Copy and Development : C&D) ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำให้ถูกต้องตามกฎหมายของสิทธิบัตรทางปัญญาของผู้คิดค้น เพราะเชื่อว่าประเทศไทยที่ยังไม่ไปถึงไหน เพราะเรามัวแต่ไล่ตามเทคโนโลยี เราอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าขาดธาตุเทคโนโลยีก็ไม่น่าจะผิด หากรัฐบาลยังคงไม่ทุ่มเทงบประมาณในการวิจัยให้สูงขึ้นตาม GDP ก็คงต้องวังเวงกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,642 9-11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แพงก็ต้องเลือก

โดย  มนูญ ศิริวรรณ


วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นทำให้กระแสต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พลิกกลับมาเป็นฝ่ายรุกไล่การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปทั่วโลก ในประเทศไทยก็เช่นกัน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ได้มีมติตัดสินใจเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี เพื่อศึกษาให้เกิดความมั่นใจและวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ตลอดจนทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าโครงการโรงฟ้านิวเคลียร์ต่อไปหรือไม่

 คำถามก็คือระหว่างที่เราชะลอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี เราจะมีโรงไฟฟ้าอะไรมาทดแทนกำลังการผลิตที่จะขาดหายไป ซึ่งคำตอบจากกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯดูจะกลับไปที่การใช้ก๊าซมากขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมทั้งการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผมไม่เห็นด้วยทั้ง 2 กรณีเพราะเราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไปแล้ว และไม่ควรเอาความมั่นคงด้านพลังงานไปฝากไว้กับประเทศเพื่อนบ้านมากไปกว่านี้ (ดูกรณีกัมพูชาเป็นตัวอย่าง)

 ในความเห็นของผม ถ้าเราชะลอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป รัฐบาลน่าจะหันมาทุ่มเทให้กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่บ้านเรามีศักยภาพสูงมาก จริงอยู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีต้นทุนต่อหน่วยสูง และยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในปริมาณมากๆ เหมือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานชนิดอื่นๆ ได้ แต่เทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็กำลังพัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะมีต้นทุนที่ถูกลงในที่สุดตามการขยายตัวของโรงไฟฟ้าชนิดนี้ ซึ่งจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยล่าสุดได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกขนาด 392 MW (Megawatt) ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Bright Source Energy มูลค่าโครงการ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (57,000 ล้านบาท) กำหนดแล้วเสร็จในปี 2556 นี้

 สำหรับประเทศไทยก็ได้มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ยื่นขอต่อกระทรวงพลังงานมากมายจนเกินกว่าเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2010) ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุนโดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯรับซื้อไฟฟ้าโดยให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อ (Adder) สูงถึงหน่วยละ 8 บาท (ตอนหลังลดลงเหลือหน่วยละ 6.50 บาท) ทำให้มีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าสูงถึง 3 GW (Gigawatt) สูงกว่าเป้าหมายในแผนถึง 6 เท่าตัว โดยโครงการใหญ่ๆ ในประเทศนอกจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของกฟผ. ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน โดยโรงฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในปีที่ผ่านมาน่าจะได้แก่ Yanhee Solar Park ขนาด 3MW ซึ่งตั้งอยู่ที่อยุธยา โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะป้อนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 1,971 ตันต่อปีเลยทีเดียว โดยโรงงานแห่งนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากบริษัท Conergy ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจากเยอรมนีที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบพลังงานแสงอาทิตย์

 นอกจากนั้นยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่บางปะอินซึ่งกำลังก่อสร้างและมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มในเฟส 2 อีก 32 MW มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ฯ ขนาด 2.4 MW ที่ลพบุรี ซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1,860 ตันต่อปี

 สำหรับข้อด้อยของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่อาจผลิตไฟฟ้าได้ไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งวัน หรือในช่วงที่มีเมฆครึ้มนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์อย่างนาย Alexander Lenz ซึ่งเป็นประธานกรรมการของบริษัท Conergy ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ด้วยเทคโนโลยีล่าสุดในแบบ Photovoltaic (PV) Cell หรือการจัดวางแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Panel) ทำให้สามารถรับแสงอาทิตย์และผลิตไฟฟ้าตลอดจนเก็บไฟฟ้าไว้ได้ แม้แต่ในวันที่มีเมฆมากอย่างเช่นในฤดูฝน จึงมีไฟใช้ได้ตลอดปีในลักษณะของพลังงานเสริมเพิ่มเติมจากพลังงานหลักที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

 ดังนั้นพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ดูจะเป็นทางออกที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ถ้าเราต้องเลื่อนวาระของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป

 ข้อด้อยของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คงจะมีอยู่อย่างเดียว คือราคาต้นทุนต่อหน่วยที่ค่อนข้างแพง แต่ถ้าเราคิดว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าประเภทนี้เป็นพลังงานสีเขียว (Green Energy) ซึ่งช่วยลดภาวะโลกร้อน และช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิล รัฐบาลก็ควรส่งเสริมให้มีการลงทุนในด้านการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ให้เกิดขึ้นในบ้านเรา ส่วนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนรับซื้อที่สูงขึ้นนั้น ถ้าจำเป็นจะต้องมีการอุดหนุน ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นการเหมาะสมกว่าเอาเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล หรือเอาไปตรึงค่า FT เสียอีก เพราะเป็นการอุดหนุนเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในอนาคต และเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าของคนไทยและของโลกครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,636 19-21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อินโนเวชั่น จ.เพชรบูรณ์ (2)

ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ เพชรบูรณ์ อินโนเวชั่น


เซลล์แสงอาทิตย์ หรือ Solar cell มีที่มาจากคำว่า Photovoltaic แบ่งออกเป็น Photo หมายถึง แสง และ Volt หมายถึงแรงดันไฟฟ้า รวมกันแล้วหมายถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากการตกกระทบของแสงบนวัตถุที่มีความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง ดังนั้น เซลล์แสงอาทิตย์คือสิ่งประดิษฐ์จากสารกึ่งตัวนำ เช่น ซิลิคอน, แกลเลี่ยม อาร์เซไนด์, อินเดียม ฟอสไฟต์, แคดเมียม เทลเลอไรด์ และคอปเปอร์ อินเดียม ไดเซเลไนด์ เป็นต้น ซึ่งจะเปลี่ยนแสงอาทิตย์ที่ได้รับโดยตรงเป็นพาหะนำไฟฟ้า และจะถูกแยกเป็นประจุไฟฟ้าบวกและลบเพื่อให้เกิดแรงดันไฟฟ้าที่ขั้วทั้งสองของเซลล์แสงอาทิตย์ เมื่อนำขั้วนำไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ต่อเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสตรง กระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าสู่อุปกรณ์เหล่านั้น ทำให้สามารถทำงานได้

เซลล์แสงอาทิตย์แบ่งตามวัสดุที่ใช้เป็น 3 ชนิดหลักๆ คือ
1. เซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจาซิลิคอน ชนิดผลึกเดี่ยว และชนิดผลึกรวม ลักษณะเป็นแผ่นซิลิคอนแข็งและบางมาก
2. เซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจาากอะมอร์ฟัสซิลิคอน เป้นแผ่นฟิล์มบางเพียง 0.5 ไมครอน น้ำหนักเบามาก ประสิทธิภาพเพียง 5-10%
3. เซลล์แสงอาทิตย์ทีทำจากสารกึ่งตัวนำอื่น เช่น แกลเลียม อาร์เซไนด์, แคดเมียม เทลเลอไรด์ และคอมเปอร์ อินเดียม ไตเซเลไนด์ เป็นตัน มี 2 ชนิดคือ ผลึกเดี่ยว และผลึกรวม

หลักการทำงานทั่วไปของเซลล์แสงอาทิตย์
เมื่อมีแสงอาทิตย์ตกกระทบเซลล์แสงอาทิตย์ จะเกิดการสร้างพาหะนำไฟฟ้าประจุลบและบวกขึ้นได้แก่ อิเล็กตรอนและโฮล โครงสร้างรอยต่อพีเอ็นจะทำหน้าที่สร้างสนามไฟฟ้าภายในเซลล์ เพื่อแยกพาหะนำไฟฟ้าชนิดอิเล็คตรอนไปที่ขั้วลบ และพาหะนำไฟฟ้าโฮลไปที่ขั้วบวก ทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าแบบกระแสตรงที่ขั้วไฟฟ้าทั้งสอง เมื่อต่อครบวงจรไฟฟ้าจะเกิดกระแสไฟฟ้าไหลขึ้น

เซลล์แสงอาทิตย์ เป็นพลังงานธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและไม่มีวันหมดไป เป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด ไม่สร้างมลภาวะขณะใช้งาน ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม เซล์แสงอาทิตย์ทำงานโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น สามารถนำไปใช้เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ทุกพื้นที่ ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นใดนอกจากแสงอาทิตย์ ไม่มีการเผาไหม้ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศและน้ำ ไม่เกิดของเสียขณะใช้งานจึงไม่ก่อมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เกิดเสียงและไม่มีการเคลื่อนไหวขณะใช้งานจึงไม่เกิดมลภาวะทางเสียง ต้องการการบำรุงรักษาน้อย อายุการใช้งานนานและประสิทธิภาพคงที่ ที่สำคัญช่วยลดปัญหาการสะสมของก๊าซต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, คาร์บอนมอนอกไซด์, ไฮโดรคาร์บอน, ไนโตรเจนออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจำพวกน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนขึ้น



เราสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากมายในการดำรงชีวิต เช่น ระบบแสงสว่างภายในบ้าน นอกบ้าน (ไฟสนาม, ไฟโรงรถ ฯลฯ), อุปกรณ์ไฟฟ้า, เครื่องสูบน้ำ, ระบบอุปโภค-บริโภค, เพาะปลูก, ทำไร, ระบแสงสว่าง, ทำการเกษตร, สัญญาณไฟจราจร, โคมไฟริมถนน เป็นต้น

เพชรบูรณ์ อินโนเวชั่น ได้ติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์บนพื้นที่ของบริษัท ณ เลขที่ 89 หมู่ 9 ถ.สระบุรี-หล่มสัก ต.ห้วยสะแก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 67210 จำนวน 2 ตำแหน่งดังนี้
1. แผงเซลล์แสงอาทิตย์ 48 แผง 10 กิโลวัตต์ ใช้แผงผลึกเดี่ยวซิลิคอน

2. โรงจอดหลังคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ 48 แผง 10 กิโลวัตต์ ใช้แผงผลึกเดี่ยวซิลิคอน


ทั้ง 2 ตำแหน่งสามารถผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เรียบร้อยแล้ว

source : http://www.brianet.com/TSolarCell.htm

อินโนเวชั่น จ.เพชรบูรณ์

กังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำขนาด 5000 วัตต์ หรือ PWT-5000 Wind Turbine

กังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการใช้พลังงานทดแทน กังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำได้ถูกคิดค้นและออกแบบเพื่อให้สามารถทำงานที่ความเร็วลมต่ำ ซึ่งเป็นระดับความเร็วลมเฉลี่ยในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟฟ้าสูงสุด เพชรบูรณ์ อินโนนเวชั่น ได้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำขนาด 5000 วัตต์ ณ บริเวณพื้นที่ของบริษัท กังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 5000 วัตต์ ยังมีระบบป้องกันลมพายุด้วยการทำงานคู่กันของ 2 ระบบ คือ ระบบควบคุมอัตโนมัติไมโครคอนโทรลเลอร์และระบบกลไก ซึ่งจะควบคุมกังหันให้เปลี่ยนมุมในการปะทะกับลมที่เข้ามา หากเกิดแรงกระทำกับใบบัดมากกว่าที่ได้ทำการออกแบบไว้ จึงทำให้กังหันลมยังคงผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และระบบการทำงานเกิดความปลอดภัยในการใช้งงานสูงสุด

ลักษณะการทำงานและประโยชน์ของกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำ :
1. ความเร็วลมในการเริ่มทำงาน 2.5 เมตร/วินาที
2. ความเร็วลมในการผลิตไฟฟ้าสูงสุด 9.5 เมตร/วินาที
3. ปรับทิศทางลมด้วยตัวเองอัตโนมัติ
4. หยุดการทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อความเร็วลมสูงเกินกว่าที่กำหนด
5. ระบบป้องกันลมพายุด้วยการทำงานคู่กันของระบบควบคุมอัตโนมัติไมโครคอนโทรลเลอร์และระบบกลไก
6. ควบคุมกังหันให้เปลี่ยนมุมในการปะทะลมที่เข้ามา หากเกิดแรงกระทำกับใบพัดมากกว่าที่ออกแบบไว้
7. เสียงรบกวนต่ำ (low noise) ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง
8. ได้ใช้พลังงานทดแทนที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
9. คุ้มค่าในระยะยาว เพราะสามารถนำพลังงานมาใช้ได้อย่างไม่มีวันหมดสิ้น

เพชรบูรณ์ อินโนเวชั่นได้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำขนาด 5000 วัตต์บนพื้นที่ของบริษัท ณ เลขที่ 89 หมู่ 9 ถ.สระบุรี-หล่มสัก ต.ห้วยสะแก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 67210 ซึ่งสามารถผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เรียบร้อยแล้ว

ภาพการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำขนาด 5000 วัตต์











source : http://www.brianet.com/TWindTurbine.htm

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 200 วัตต์

กังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 200 วัตต์ จำนวน 3 ตัวที่เขาค้อ จังหวัดเพรชบูรณ์




เป็นที่ทราบในหมู่นักท่องเทียวธรรมชาติดีว่าเพรชบูรณ์เป็นจังหวัดหนึ่งมีธรรมชาติที่สวยงาม มีอากาศเย็นสบาย มีสถานที่พักต่างอากาศมากมายโดยเฉพาะที่เขาค้อ ที่ทุกคนเรียกว่าสวิสแลนด์เมืองไทยเลยทีเดียว วันนี้ทางเรามีโอกาสได้แนะนำการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเพื่อนำไฟฟ้าที่ได้ไปใช้กับที่พักเช่น ไฟฟ้าแสงสว่าง ทีวี เครื่องเสียง เป็นต้น หลังจากที่เจ้าหน้าของเอ็นจินีโอ ได้รับการติดต่อของคุณสุชาติ ว่ามีบ้านพักต่างอากาศอยู่ที่เขาค้อ จังหวัดเพรชบูรณ์ โดยคุณสุชาติเล่าว่า จากการสังเกตุเห็นว่า บ้านพักมีลมแรงสม่ำเสมอ น่าจะติดตั้งกังหันลมได้ จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เอ็นจินีโอแนะนำว่าควรจะติดตั้งกังหันลมขนาด 200 วัตต์จำนวน 3 ตัว นอกจากความสวยงามแล้วยังน่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างแน่นอน โดยหลักการพื้นฐานของการทำงานของกังหันลมก็คือ กังหันลมจะผลิตไฟฟ้าเป็นไฟ AC 3 เฟส และผ่านเครื่องแปลงให้เป็น ไฟ DC ขนาด 24 โวลล์ และนำไฟฟ้าที่ได้ไปชาร์ทเข้าแบตเตอรี่ก่อน เนื่องจากการพลิตไฟฟ้าจากกังหันลมขนาดเล็กต้องอาศัยแบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์ช่วยในการรักษาระดับแรงดันของไฟฟ้า และเป็นอุปกรณ์ในการเก็บประจุไฟฟ้า จากนั้นจึงใช้เครื่องแปลงไฟฟ้าจากไฟฟ้าแบตเตอรี่ (DC) เป็นไฟฟ้าที่ใช้ปรกติ (AC) โดยอุปกรณ์ที่ใช้แปลงเราเรียกว่า อินเวอร์เตอร์ (Invertor) ซึ่งไดแกรมการทำงานสามารถแสดงได้ดังนี้





บ้านพักของคุณสุชาติยังไม่มีไฟฟ้า มีแต่เครื่องปั่นไฟซึ่งจะต้องเสียเงินค่าน้ำมันมากกว่า 12,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นเป็นการดีที่จะใช้พลังงานธรรมชาติที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์



ดั

ทีมงานติดตั้งของเอ็นจินีโอไปถึงบ้านพักต่างอากาศที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อากาศดีมาก





สมกับสวิสแลนส์เมืองไทยจริงๆ





หลังจากถึงที่หมายทีมงานติดตั้งของเอ็นจินีโอ แบ่งเป็น 2 ทีม ทีมแรกติดตั้งกังหันลมอยู่ภายนอก ส่วนอีกทีมดูแลเรื่องงานระบบ





ทีมงานเอ็นจินีโอกำลังหาแนวการตั้งตู้ควบคุม เพื่อสามารถเชื่อมต่อป้อนไฟฟ้าเข้าระบบของบ้านพักได้อย่างสะดวก





ติดตั้งเครื่องวัดความภูมิอากาศหน้างานเพื่อสะดวกต่อการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เครื่องวัดลมมืออาชีพ สามารถวัดความเร็วลม ทิศทางลม
อุณหภูมิ ความดันอากาศ ปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัสในอากาศ พร้อมทั้งสามารถทำนายได้อีกด้วยว่าฝนจะตกหรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถเก็บข้อมูลไว้ใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย



หน้าตาของเครื่องควบคุมไร้สาย สามารถส่งถ่ายข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย (หากสนใจสามารถสั่งซื้อได้กับเอ็นจินีโอ)





หน้าตาของโปรแกรมเครื่องวัด





กังหันลมขนาด 200 วัตต์ จำนวน 3 ต้นดูสวยงาม





อีกมุมหนึ่งของกังหันลมผลิตไฟฟ้า





อีกมุมหนึ่งของ กังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 200 วัตต์ 3 ตัว





หน่วยประกอบชุดและตู้สำหรับควบคุมก็ทำงาน อยู่ภายในบ้าน



ทีมช่างกำลังเดินระบบระบบชาร์ทและเชื่อมต่อกับไฟฟ้าภายในบ้าน



ภายในตู้ของระบบควบคุม หลังจากเสร็จเรียบร้อยพร้อมที่จะทดสอบแล้ว



ความเรียบร้อยของงานเป็นอีกหนึ่งอย่างของหัวใจของมืออาชีพอย่างเรา



หลอดไฟทุกหลอดภายในบ้านถูกเปิดขึ้น



โทรทัศน์และเครื่องเสียงชุดโปรดถูกเปิดขึ้น พร้อมด้วยรอยยิ้ม เป็นบทสรุปการทำงานด้วยฝีมือทีมงานคุณภาพ จากเรา เอ็นจินีโอ


โหลดวีดีโอการทำงานของกังหันลมขนาด 200 วัตต์จำนวน 3 ตัว 



source : http://www.engineo.co.th/The%20solution/solution%2013/solution%2013(200w%20wind%20turbine%20installation%20at%20khow%20kho).html